วันอาทิตย์ ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ต่างประเทศ
กระแส'คังคุไบ'มาแรง 2ชาติไม่แตกต่าง‘โสเภณี’ยังอีกไกลสังคมยอมรับ

กระแส'คังคุไบ'มาแรง 2ชาติไม่แตกต่าง‘โสเภณี’ยังอีกไกลสังคมยอมรับ

วันศุกร์ ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2565, 17.10 น.
Tag : คังคุไบ อินเดียไทย
  •  

เกาะกระแส‘คังคุไบ’ จากอินเดียถึงไทย 2 ชาติไม่แตกต่าง ‘โสเภณี’ ยังอีกไกลกว่ากฎหมายรับรอง-สังคมยอมรับ

เรียกว่าเป็นกระแสมาแรงในช่วงนี้กับภาพยนตร์อินเดีย “คังคุไบ หญิงแกร่งแห่งมุมไบ (Gangubai Kathiawadi)” เรื่องราวของหญิงสาวที่ถูกหลอกไปค้าประเวณี แต่ต่อมาได้กลายเป็น “เจ้าแม่” ผู้มีอิทธิพลในย่าน “กามธิปุระ (Kamthipura)” ในเมืองมุมไบ (Mumbai) หรือชื่อเดิมคือบอมเบย์ (Bombay) และเธอได้ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อต่อสู้เรียกร้องให้สังคมอินเดียยอมรับการมีตัวตนของ “โสเภณี” หรืออาชีพขายบริการทางเพศ ที่ในยุคนั้นอย่าว่าแต่เรื่องสิทธิตามกฎหมาย แม้แต่การปฏิบัติในฐานะ “มนุษย์” เท่าเทียมกับผู้คนในสาขาอาชีพอื่นๆ ก็ยังไม่ได้รับ


เหตุการณ์ในภาพยนตร์นั้นเกิดขึ้นในยุค 1950s-1960s (ช่วงปี 2493-2512) แต่ ณ ปัจจุบัน สถานะของโสเภณี หรือการขายบริการทางเพศในอินเดีย จะเรียกว่าเป็น “สีเทา” ก็ไม่ผิดนัก บทความ “Legal Status Of Prostitution In India” ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของ Legal Services Authorities หน่วยงานบริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายกับประชาชนที่ไม่สามารถจัดหาทนายความได้เอง ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2530 ตามบทบัญญัติมาตรา 39A ของรัฐธรรมนูญอินเดีย ระบุถึงความคลุมเครือหากจะตอบคำถามว่า การค้าประเวณีถูกกฎหมายในอินเดียหรือไม่

เพราะแม้ไม่มีกฎหมายฉบับใดเลยที่บัญญัติไว้โดยตรงว่าการขายบริการทางเพศเป็นอาชีพผิดกฎหมาย แต่มีกฎหมาย Immoral Traffic (Prevention) Act, (1956) หากแปลเป็นไทยจะได้ประมาณว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันการสัญจรที่ผิดศีลธรรม พ.ศ.2499 ระบุความผิดของกิจกรรมหรือพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขายบริการทางเพศ เช่น การตั้งสถานบริการเพื่อการค้าประเวณี การชักชวนให้ซื้อบริการทั้งตนเองและ/หรือผู้อื่น การดำรงชีพอยู่ด้วยรายได้จากผู้ขายบริการทางเพศ และการแสวงหาประโยชน์ที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์

บทความ “Legalisation and Regularisation of Prostitution in India” จากแหล่งเดียวกัน อ้างถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอินเดีย มาตรา 23(1)2 ที่ระบุห้ามพฤติกรรมใดๆ ที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ ซึ่งนั้นก็รวมถึงการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากผู้หญิงและเด็กด้วย แต่ก็ไม่ได้ระบุโดยตรงว่าห้ามการขายบริการทางเพศ ดังนั้นกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่าง Immoral Traffic (Prevention) Act, (1956) จึงเน้นเอาผิดกิจกรรมอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับการค้าประเวณี

อินเดียยังมีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เช่น Indian Penal Code หรือประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) ของอินเดีย มาตรา 370 และ 370A ระบุโทษจำคุกตั้งแต่ 7 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต ในความผิดฐานบังคับบุคคลลงเป็นทาส ซึ่งรวมถึงในลักษณะการแสวงหาประโยชน์ทางเพศด้วย นอกจากนี้ มาตรา 372 และ 373 ยังกล่าวถึงความผิดที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี แต่หมายถึงเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนเท่านั้น

บทความนี้ยังเสนอแนะให้อินเดียควรก้าวต่อไปสู่การยอมรับโสเภณีในฐานะอาชีพสุจริตอาชีพหนึ่ง ที่ควรได้รับสิทธิ มีเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่แตกต่างจากอาชีพอื่นๆ ในสังคม ในกรณีที่บุคคลนั้นไม่ใช่เด็กหรือเยาวชน และเป็นการเลือกประกอบอาชีพดังกล่าวโดยสมัครใจไม่ถูกบังคับ พร้อมกับยกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหลายมาตรา เช่น มาตรา 19(1) (g)4 ว่าด้วยสิทธิในการประกอบอาชีพ หรือมาตรา 215 ว่าด้วยสิทธิในการมีชีวิต ซึ่งมีหลายแง่มุมทั้งด้านสุขภาพ ด้านชื่อเสียง และด้านการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี

อนึ่ง ยังมีคำพิพากษาของศาลฎีกาอินเดีย ในคดี “Budhadev Karmaskar v. State of West Bengal” ในวันที่ 14 ก.พ. 2554 ซึ่งเป็นคดีฆาตกรรมหญิงโสเภณีที่เกิดขึ้นในรัฐเบงกอลตะวันตก ผู้ก่อเหตุคือ พุทธเทพ การมัสการ (Budhadev Karmaskar) ลงมือทำร้ายร่างกาย ชายา รานี ปาล หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ปุรี (Chayay Rani Pal alias Buri) หญิงขายบริการทาเงพศจนเสียชีวิต 

เหตุเกิดที่ห้องหมายเลข 8 ภายในอาคารเลขที่ 19 ซ.โจเก็น ดัตตา (Jogen Dutta) เมืองกัลกัตตา (Calcutta) หรือปัจจุบันคือ โกลกาตา (Kolkata) เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2542 ด้านหนึ่ง ศาลฎีกาอินเดีย พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตผู้ก่อเหตุ เนื่องด้วยมีพฤติการณ์ที่โหดร้ายทารุณ จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะเปลี่ยนแปลงคำตัดสินในชั้นฎีกา แต่อีกด้านหนึ่ง ในคำพิพากษานี้ ยังได้กล่าวไว้ในตอนหนึ่งด้วยว่า 

“โสเภณีก็มีสิทธิที่จะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ตามบทบัญญัติมาตรา 21 แห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย เนื่องจากพวกเขาเป็นมนุษย์ และปัญหาของพวกเขาก็ต้องได้รับการแก้ไขด้วย ดังที่เราเห็นแล้ว ผู้หญิงคนหนึ่งเข้าสู่การค้าประเวณีไม่ใช่เพราะความสนุกสนาน แต่มาจากความยากจนอย่างน่าเวทนา (the prostitutes also have a right to live with dignity under Article 21 of the Constitution of India since they are also human beings and their problems also need to be addressed. As already observed by us, a woman is compelled to indulge in prostitution not for pleasure but because of abject poverty.)”

ในคำพิพากษาคดีข้างต้น ศาลฎีกาอินเดีย แนะนำให้หน่วยงานภาครัฐของอินเดีย ทั้งที่สังกัดรัฐบาลกลางและมลรัฐต่างๆ ทั่วประเทศ กำหนดแผนการให้การศึกษาและฝึกอาชีพกับหญิงขายบริการทางเพศ ตลอดจนผู้หญิงที่ถูกทารุณกรรมทางเพศ ซึ่งต้องรวมถึงการจัดหางานหรือจัดหาตลาดจำหน่ายสินค้าด้วย เช่น การตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อให้ผู้หญิงกลุ่มนี้สามารถมีทางเลือกในการหารายได้เลี้ยงตนเอง

วันที่ 15 ธ.ค. 2564 เว็บไซต์ นสพ.The New York Times สหรัฐอเมริกา เสนอข่าว India’s Sex Workers Win Benefits From the Country’s Top Court ระบุว่า ศาลฎีกาอินเดีย มีคำวินิจฉัยในวันที่ 14 ธ.ค. 2564 ตามเวลาท้องถิ่นของอินเดีย ระบุว่า หน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนมลรัฐ ต้องนับรวมผู้ขายบริการทางเพศในการจัดทำบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ตลอดจนบัตรปันส่วนเครื่องอุปโภค-บริโภค ที่รัฐจัดให้ประชาชนด้วย โดยย้ำว่า สิทธิขั้นพื้นฐานนั้นได้รับการค้ำประกันสำหรับพลเมืองทุกคนโดยไม่คำนึงถึงอาชีพของบุคคลนั้น และรัฐมีหน้าที่ในการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานให้กับพลเมืองของประเทศ

คำวินิจฉัยดังกล่าว เกิดขึ้นจาก คณะกรรมการ เดอร์บา มหิลา สมัญวาญา (Durbar Mahila Samanwaya Committee) ซึ่งเป็นเครือข่ายผู้ขายบริการทางเพศในเมืองโกลกาตา เมืองเอกของรัฐเบลกอลตะวันตก มีสมาชิกประมาณ 130,000 คน ได้ยื่นคำร้องต่อศาล โดยระบุว่า ในสภานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ผู้ขายบริการทางเพศทั้งที่เป็นหญิงแท้และสาวประเภทสองทั่วทั้งอินเดีย ต้องเผชิญปัญหาความยากจน จึงต้องการมาตรการบรรเทาทุกข์

พิพลับ มุขหิรจี (Biplab Mukheerjee) ที่ปรึกษาของเครือข่าย กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในการยอมรับการมีตัวตนในฐานะพลเมืองของอาชีพผู้ให้บริการทางเพศ (Sex Worker) เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการต่อสู้อันยาวนานหลายปีและความทุกข์ทรมานของผู้ให้บริการทางเพศหลายแสนคนในประเทศ ทั้งนี้ แม้การค้าประเวณีจะไม่ผิดกฎหมายโดยตรงในอินเดีย แต่เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นผิดกฎหมาย เช่น การตั้งสถานบริการ การชักชวน การมีรายได้จากบุคคลอื่นที่ค้าประเวณี เป็นต้น

กลุ่มสิทธิมนุษยชนในอินเดีย ประเมินว่า มีโสเภณีทั่วประเทศราว 9 แสนคน ส่วนใหญ่เข้าสู่อาชีพนี้จากปัญหาความยากจน และบางส่วนถูกบังคับจากขบวนการค้ามนุษย์ โสเภณี 2 ราย ให้ข้อมูลว่า ในปี 2563 เมื่ออินเดียตัดสินใจใช้มาตรการล็อกดาวน์ ในการรับมือโควิด-19 ระลอกแรก ผู้คนจากทั่วประเทศที่เข้ามาทำงานตามเมืองใหญ่ต่างๆ ตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนา ผู้ขายบริการทางเพศจึงได้รับผลกระทบไปด้วยเพราะคนกลุ่มนี้คือลูกค้าหลัก 

ปรีติ (Preeti) ชื่อในวงการของหญิงขายบริการทางเพศรายหนึ่งในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย เปิดเผยว่า ในช่วงล็อกดาวน์เธอทำได้เพียงอาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ โดยไม่มีเงิน และเกือบต้องเสียชีวิตจากความหิวโหย โชคยังดีที่ เกิดวรัส (Gurdwaras) วัดในศาสนาซิกข์ ทำอาหารแจกจ่ายผู้คนที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก อนึ่ง หญิงรายนี้ ขอไม่ให้ผู้สื่อข่าวเปิดเผยชื่อจริงของเธอ ด้วยเหตุที่สังคมอินเดียยังตีตรา มองอาชีพโสเภณีในแง่ลบ

สำนักข่าวรอยเตอร์ เสนอรายงานพิเศษ FEATURE-Bollywood sex worker biopic resonates in India's brothels เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565 กล่าวถึงกระแสของภาพยนตร์ Gangubai Kathiawadi ซึ่งนอกจากจะถูกกล่าวถึงในวงกว้างแล้ว แม้แต่ผู้เกี่ยวข้องกับการขยายบริการทางเพศในอินเดีย ก็ยังยอมรับว่าเรื่องนี้ตีแผ่ชีวิตของพวกเธอได้สมจริง อาทิ คิรัน เทศมุข (Kiran Deshmukh) ประธานเครือข่ายผู้ให้บริการทางเพศแห่งชาติ (National Network of Sex Workers) กล่าวว่า แม้จะมีภาพยนตร์หลายเรื่องกล่าวถึงผู้หญิงอาชีพนี้ แต่ไม่มีเรื่องใดก่อนหน้าที่ฉายภาพให้ชัดเจนมาก่อน นั่นคือการขายบริการทางเพศก็เป็นงานอย่างหนึ่ง งานที่ใช้เลี้ยงชีวิตทั้งของตนเองและลูกๆ 

รายงานข่าวระบุว่า ปัจจุบันการเป็นโสเภณีในอินเดียไม่ผิดกฎหมาย แต่กิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการขายบริการทางเพศนั้นผิดกฎหมาย นั่นทำให้ผู้ขายบริการทางเพศต้องเผชิญหน้ากับตำรวจบ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ในฐานะพลเมืองของรัฐ เช่น การออกเสียงเลือกตั้ง เปิดบัญชีธนาคาร รับเงินสวัสดิการค่าอาหาร เป็นต้น เนื่องจากไม่มีเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ในการลงทะเบียน อีกทั้งหลายคนต้องจมอยู่กับวงจรหนี้สินจากเงินกู้นอกระบบ
ปรีติ พัฒการ (Priti Patkar) ผู้ก่อตั้งองค์กร Prerana องค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ที่ทำงานด้านสิทธิของบุตรหลานของหญิงขายบริการทางเพศ เปิดเผยว่า องค์กรต่อสู้มานานถึง 30 ปี กว่าที่จะทำให้ผู้ขายบริการทางเพศสามารถเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารได้ จากนั้นสถานการณ์โควิด-19 นำไปสู่การผลักดันให้เกิดการยอมรับอาชีพนี้ในฐานะส่วนหนึ่งของแรงงานนอกระบบ ขณะที่ อาร์ตี ปาย (Aarthi Pai) เลขาธิการ Sangram ซึ่งเป็น NGO อีกกลุ่มหนึ่งที่ทำงานกับผู้ขายบริการทางเพศ กล่าวว่า หลังจากภาพยนตร์ Gangubai Kathiawadi ลงฉายทางเน็ตฟลิกซ์ ก็ถึงเวลาอันเหมาะสมที่จะสนทนากันต่อในเรื่องนี้ 

กลับมาที่ประเทศไทย ที่ซึ่งใครหลายคนพากันแต่งตัวและโพสต์ท่าทางเลียนแบบ คังคุไบ ตัวเอกของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว แต่ในความเป็นจริง ไทยนั้นมีสถานการณ์ไม่ต่างจากอินเดีย หรืออาจจะยิ่งกว่า เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมายที่เอาผิดผู้ขายบริการทางเพศโดยตรง คือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 แบ่งเป็น การชักชวนซึ่งหน้า (เช่น ตามริมถนน พื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่อื่นใด) จะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 5 มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท 
ส่วนการชักชวนด้วยการโฆษณาไม่ว่าด้วยวิธีการใด จะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 7 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน-2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000-40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยคำว่า “การชักชวน” ตามความผิดในกฎหมายนี้ ครอบคลุมการชักชวนให้ซื้อบริการทางเพศทั้งของตนเองและผู้อื่น ขณะเดียว ใน ป.อาญา ของไทย มาตรา 282 กล่าวถึงความผิดฐานเป็นธุระจัดหาบุคคลไปค้าประเวณี แม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท นอกจากนี้ หากผู้ถูกนำพาไปเป็นเด็กและยาวชน โทษก็จะหนักขึ้นอีก

รวมถึงมาตรา 286 ว่าด้วยความผิดกรณีเป็นผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ดำรงชีพอยู่ด้วยรายได้จากผู้ค้าประเวณี มีโทษจำคุกตั้งแต่ 7-20 ปี และปรับตั้งแต่ 14,000-40,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต โดยมีข้อยกเว้นเฉพาะผู้รับค่าเลี้ยงดูจากหญิงซึ่งค้าประเวณี ซึ่งพึงให้ค่าเลี้ยงดูนั้นตามกฎหมายหรือตามธรรมจรรยาเท่านั้น ทำให้โดยสรุปแล้ว ประเทศไทยทั้งตัวโสเภณีเอง ผู้เป็นธุระจัดหา และผู้ได้รับประโยชน์จากรายได้ของโสเภณี ล้วนมีความผิดตามกฎหมายทั้งสิ้น

แต่ไทยก็เหมือนอินเดีย นั่นคือ “ผิดกฎหมายแต่ใครๆ ก็รู้ว่ามีอยู่” ย่านโคมแดงหรือสถานที่ขายบริการทางเพศในหลายเมืองของอินเดียยังเป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลก ขณะที่ประเทศไทยนั้นทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวนานาชาติต่างรู้ดีว่าจะหาซื้อบริการทางเพศได้จากที่ไหนและอย่างไร สุดท้ายคือทั้ง 2 ประเทศ คาดว่ายังคงต้องต่อสู้กันอีกนาน กว่าที่อาชีพนี้จะได้รับการรับรองและยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ทั้งในแง่กฎหมายและจากสังคม!!!

อ้างอิง

https://www.legalserviceindia.com/legal/article-5637-legal-status-of-prostitution-in-india.html (Legal Status Of Prostitution In India : Legal Services Authorities)

https://www.legalserviceindia.com/legal/article-6784-legalisation-and-regularisation-of-prostitution-in-india.html (Legalisation and Regularisation of Prostitution in India : Legal Services Authorities)

https://indiankanoon.org/doc/1302025/ (Budhadev Karmaskar vs State Of West Bengal on 14 February, 2011 : Indian Kanoon เว็บไซต์ค้นหาข้อมูลด้านกฎหมายในอินเดีย)

https://www.nytimes.com/2021/12/15/world/asia/india-sex-workers-benefits.html (India’s Sex Workers Win Benefits From the Country’s Top Court : The New York Times)

https://www.reuters.com/article/india-bollywood-sex-workers-idUSL5N2WQ2HG (FEATURE-Bollywood sex worker biopic resonates in India's brothels : Reuters)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

https://www.naewna.com/likesara/602890 (สกู๊ปพิเศษ : ‘คนรุ่นใหม่’มุมมองเปลี่ยน เลิกข้อหา‘ค้าประเวณี’มีหวัง)

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

‘น้าแอ๊ด’ปล่อยเพลง ประกาศลั่นอย่าทะลึ่งผุด‘กาสิโน-พนันออนไลน์’นะโว้ย...ไอ้เห้!

เปิดสัญญาจีทูจี! ‘หมอวรงค์’เบิกเนตร‘ยิ่งลักษณ์กับปชช.’ ใครกันแน่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

สธ.เฝ้าระวังหลังพบ‘สารหนู’ปนเปื้อน‘น้ำผิวดิน’แม่น้ำกก-แม่น้ำสาย-แม่น้ำโขง

เปิด 5 อันดับ ‘จังหวัดใต้’โกยรายได้มากสุดช่วงเดือนม.ค.-เม.ย.68

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved