วันอาทิตย์ ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
สกู๊ปพิเศษ : ‘คนรุ่นใหม่’มุมมองเปลี่ยน  เลิกข้อหา‘ค้าประเวณี’มีหวัง

สกู๊ปพิเศษ : ‘คนรุ่นใหม่’มุมมองเปลี่ยน เลิกข้อหา‘ค้าประเวณี’มีหวัง

วันเสาร์ ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2564, 02.00 น.
Tag : สกู๊ปพิเศษ
  •  

“คนชอบรังเกียจเดียดฉันท์นะ ผมเคยพูดเชิงหยอกเชิงล้อว่าเมืองไทยเมืองพุทธ ไม่มีหรอกหญิงขายบริการ ก็ไปคลองหลอดนะแล้วให้เลี้ยวซ้าย พอเราไม่ยอมรับคนพวกนี้ก็จะกลายเป็นคนที่ชายขอบ ถูกทำให้อยู่ในมุมมืดมุมอับของสังคม ถูกตีตรา ถูกตราหน้า แต่ถ้าคุณศึกษาพุทธประวัติ คุณจะเห็นเลยว่าผู้หญิงเหล่านี้มีบทบาทมาก ในพุทธประวัติ หญิงงามเมืองต้องแย่งกันนะ คุณต้องมีเงินจริงๆ นะ ต้องได้รับการแต่งตั้งเป็นนคร (อ่านว่า นะ-คะ-ระ) โสเภณี ถ้าพูดภาษาไทย โสเภณีดูเหมือนมีความหมายแย่มาก แต่ถ้าเป็นภาษาบาลี คำว่าโสเภณีแปลว่าหญิงงาม นครโสเภณีแปลว่าหญิงงามเมือง คุณต้องงามจริงๆ นะถึงจะได้ตำแหน่งนี้”

พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระลูกวัดแห่งวัดสร้อยทองกล่าวในช่วงหนึ่งของการไลฟ์สดหัวข้อ “คืนความสุขทุกวันศุกร์ให้กับญาติโยม” ทางช่องยูทูบ เมื่อค่ำวันที่ 10 ก.ย. 2564ที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้ชมส่งข้อความเข้าไปถามว่า “ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ จะมีอาชีพขายบริการทางเพศได้หรือไม่?” แล้วท่านก็อธิบายพร้อมกับยกตัวอย่างทั้งสมัยพุทธกาล รวมถึงพื้นที่บางแห่งซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีอาชีพดังกล่าวอยู่จริงในสังคมไทย ณ ยุคสมัยปัจจุบัน


สำหรับประเทศไทย การขายบริการทางเพศเพิ่งกลายเป็นอาชีพผิดกฎหมายในสมัยของนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการออก พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 เนื่องจาก “การค้ามนุษย์” นำพาเด็กสาวจากครอบครัวในชนบทมาขายบริการในเมือง ล่อลวงด้วยเงินก้อนใหญ่กับพ่อแม่ผู้ปกครองกำลังเป็นปัญหา ดังที่มีการใช้คำว่า “การค้าประเวณีที่กระทำโดยบุคคลที่เป็นชายซึ่งเป็นที่น่ารังเกียจ” เป็นหนึ่งในเหตุผลของการออกกฎหมาย

ก่อนหน้าที่จะมี พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 “การขายบริการทางเพศเคยเป็นอาชีพถูกกฎหมายในสังคมไทย”ภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันสัญจรโรค ร.ศ.127 (เทียบรัตนโกสินทร์ศก-ร.ศ. กับพุทธศักราช-พ.ศ. ปี ร.ศ.127 จะเท่ากับปี พ.ศ.2451) กฎหมายฉบับนี้มุ่งเน้นการจัดระเบียบทั้งผู้ขายบริการทางเพศและสถานบริการ อาทิ เรียกสถานบริการที่มีการค้าประเวณีว่า “โรงหญิงนครโสเภณี” ต้องขออนุญาตประกอบกิจการ

มีการกำหนดข้อปฏิบัติ เช่น ต้องรักษาความสะอาด สถานที่ต้องปิดมิดชิด มีสัญลักษณ์เป็นโคมไฟติดไว้หน้าสถานบริการ (ส่วนใหญ่นิยมใช้โคมสีเขียว) หญิงขายบริการต้องได้รับการตรวจโรค เป็นต้น นอกจากนี้ ยังกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง (เจ้าของสถานบริการ) และลูกจ้าง (หญิงขายบริการทางเพศ) ไว้ด้วย เช่น เสื้อผ้าเครื่องประดับ สถานบริการต้องลงทุนจัดหาและห้ามเก็บเงินย้อนหลังกับหญิงบริการ

แต่ถึงจะมีการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการและประกอบอาชีพขายบริการทางเพศได้ ในความเป็นจริงกลับพบว่าไม่ค่อยมีการไปจดทะเบียนเท่าที่ควร นั่นเพราะ “โสเภณีแม้เป็นอาชีพที่กฎหมายรับรอง..แต่ไม่ถูกต้องตามขนบจารีตสังคม” หรือก็คือเป็นอาชีพที่สังคมไทยไม่ยอมรับให้มีเกียรติและศักดิ์ศรีเทียบเท่าอาชีพอื่นๆ ดังที่ กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกเล่าไว้ในงานเสวนา “แม่หญิง ชะนี และอีตัว : หลากมิติความเป็นหญิงในสังคมไทย” เมื่อเดือน ต.ค. 2563

“ถึงจะถูกกฎหมายแต่ก็มีการ Stigmatization หรือตีตราบาปที่รุนแรงพอสมควร แล้วมีปัญหาตามมาค่อนข้างมากเช่น ไม่มีใครอยากจะไปจดทะเบียน เพราะจดไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร แอบทำดีกว่า คนที่เป็นเจ้าของโรงโสเภณีก็ไม่ไปจดทะเบียนเช่นกัน เพราะเขารู้สึกว่าไปจดทะเบียนคือเปิดเผยข้อมูลต่อรัฐเป็นการประณามตัวเอง คือความเป็นจริงของประเทศไทย สังคมไทย ก็บีบคั้นให้เขาทำไมต้องเปิดเผยกับเจ้าหน้าที่รัฐว่าเขาเป็น แล้วมันนำมาสู่การเลือกปฏิบัติบางอย่าง ฉะนั้นกฎหมายนี้จึงไม่ค่อย Function (ใช้ไม่ได้จริง)” อาจารย์กฤษณ์พชร กล่าว

กฎหมายเกี่ยวกับการขายบริการทางเพศถูกแก้ไขอีกครั้ง โดยมีการออก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาแทน พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 และบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังมีบทกำหนดโทษของผู้ขายบริการทางเพศ ซึ่งหากเป็นการ “ชักชวนซึ่งหน้า” จะเข้าข่าย “ผู้ใดเข้าติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้าบุคคลตามถนนหรือสาธารณสถาน หรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นใด เพื่อการค้าประเวณีอันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอาย หรือเป็นที่เดือดร้อนคำราญแก่สาธารณชน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท” (มาตรา 5)

และหากเป็นการ “ชักชวนด้วยการโฆษณา” จะเข้าข่าย“ผู้ใดโฆษณาหรือรับโฆษณา ชักชวน หรือแนะนำด้วยเอกสารสิ่งพิมพ์ หรือกระทำให้แพร่หลายด้วยวิธีใดไปยังสาธารณะที่เห็นได้ว่าเป็นการเรียกร้องหรือการติดต่อเพื่อการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” (มาตรา 7)

อาจารย์กฤษณ์พชร ชี้ว่า “กฎหมายฉบับนี้แม้ต้องการเอาผิดบุคคลที่สนับสนุนการค้าประเวณีเพราะมองว่าแสวงหาผลประโยชน์จากผู้หญิง แต่ในทางปฏิบัตินั้นยากที่จะเอาผิดคนเหล่านี้ได้จริง” เช่น เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการสืบสวนด้วยวิธี“ล่อซื้อ” จนนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดได้ เจ้าของหรือผู้จัดการสถานบริการมักอ้างว่า “หญิงขายบริการกับลูกค้าพูดคุยตกลงกันเอง ทางร้านไม่รู้ไม่เห็นอะไรด้วย” เป็นต้น

อีกด้านหนึ่ง “มีความพยายามรณรงค์ยกเลิกความผิดฐานค้าประเวณี (กรณีกระทำโดยสมัครใจและไม่ใช่เด็กหรือเยาวชน)” มาอย่างยาวนานของภาคประชาสังคม (NGO) เช่น มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (Empower Foundation) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2529 จากการทำงานให้ความรู้ด้านโรคเอดส์ (HIV-AIDS) กับพนักงานบริการทางเพศ และยกระดับสู่การทำงานด้านสิทธิ เพื่อให้พนักงานบริการได้รับการยอมรับทั้งทางกฎหมายและทางสังคมเฉกเช่นอาชีพอื่นๆ

หลายครั้งในการจัดเวทีเสวนา มีการหยิบยกข้อกังวลของสังคมขึ้นมาชี้แจง เช่น หากยกเลิกความผิดฐานค้าประเวณี จะทำให้ไม่สามารถปกป้องเด็กและเยาวชนจากการถูกล่อลวง หรือปกป้องผู้หญิงที่ถูกบังคับ แต่ในความเป็นจริง ประเทศไทยก็มีกฎหมายอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยความผิดฐานพรากผู้เยาว์ (มาตรา 317-319) และหมวดความผิดเกี่ยวกับเพศ (อาทิ มาตรา 277, 278, 279,282, 283, 283 ทวิ, 284 เป็นต้น) รวมถึง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 อีกด้วย ซึ่งค่อนข้างครอบคลุม

การยกเลิกความผิดฐานค้าประเวณี ยังช่วยลดปัญหา “คอร์รัปชั่น” ที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะกำหนดให้การค้าประเวณีเป็นอาชีพผิดกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงไม่ว่าคนไทยหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติต่างรู้ดีว่าจุดไหนของแต่ละเมืองมีการขายบริการทางเพศ คำถามคือ เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลพื้นที่นั้นไม่รู้เรื่องจริงหรือ ดังนั้น การยกเลิกความผิดฐานค้าประเวณี จะทำให้เม็ดเงินนอกระบบลดลง ตัดวงจรการเรียกรับผลประโยชน์ได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังทำให้การควบคุมโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ สามารถปฏิเสธลูกค้าที่ใช้บริการแบบไม่ปลอดภัย เช่น ไม่สวมถุงยางอนามัย หากการขายบริการทางเพศยังเป็นความผิดอาจทำให้ผู้ขายบริการไม่กล้าปฏิเสธหรือไม่กล้าไปแจ้งความ กรณีถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย นอกจากจะส่งผลกระทบต่อผู้ขายบริการแล้วยังรวมถึงสังคมโดยรวมด้วย เพราะเท่ากับเปิดช่องให้มีกลุ่มเสี่ยงเอื้อต่อการเกิดโรคระบาด

แม้ “ศีลธรรม-ขนบจารีต” จะเป็นเหมือน “รั้วสูง-กำแพงใหญ่” ที่นักรณรงค์ด้านสิทธิของผู้ขายบริการทางเพศไม่อาจฝ่าข้ามพ้นไปได้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ล่าสุด “กระแสเริ่มเปลี่ยน” ดังการเปิดเผยของ ชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ตัวแทนมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ในงานสัมมนา (ออนไลน์) เรื่อง “เมื่อเราต่างต้องการ Sex worker มืออาชีพ แต่ละเลยคุณภาพชีวิตของคนทำงาน” เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2564 ถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่แตกต่างจากรุ่นก่อนหน้า

“สมัยก่อนอาจจะมองเรื่องศักดิ์ศรี เรื่องความเป็นผู้หญิง เรื่องเนื้อตัวร่างกาย อะไรพวกนี้ แบบศีลธรรมจะค่อนข้างสูงกว่าแต่ตอนนี้เหมือนคนรุ่นใหม่มองเรื่องสิทธิ การเคารพสิทธิมนุษยชนการเคารพการตัดสินใจ เริ่มมาสู้ไล่ๆ กัน เราก็เลยเห็นภาพที่คนรุ่นใหม่ตามพื้นที่ทางการเมือง หรือตรงที่ม็อบอะไรต่างๆ ที่เราจะเห็นว่า มีนักศึกษา น้องๆ สนใจประเด็นเรื่องคนทำงานบริการเยอะขึ้น ให้ความสำคัญมากขึ้น เห็นชัดเจนมากขึ้นในช่วง 5 ปีหลัง คนมองเรื่องสิทธิเนื้อตัวร่างกาย การเคารพการตัดสินใจ การเลือกเข้ามาทำงาน มากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก” ชัชลาวัณย์ ระบุ

อนึ่ง ที่เว็บไซต์ www.law.go.th ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จัดทำขึ้นเพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางสำหรับรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ ทั้งที่มีอยู่เดิมและกำลังจะร่างขึ้นใหม่ กำลังมีการเปิดให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยผู้สนใจสามารถค้นหาหัวข้อ “โครงการการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๓๙” ซึ่งจะพบ 2 ส่วน คือสำหรับเจ้าหน้าที่ (เช่น ตำรวจ) กับประชาชนทั่วไป เนื่องจากระบบได้แยกไว้สำหรับผู้เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้-เสียทั้ง 2 ฝ่าย

สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 5 ต.ค. 2564!!!

SCOOP@NAEWNA.COM

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • สกู๊ปพิเศษ : ชู‘เทศบาลเมืองมหาสารคาม’ ต้นแบบควบคุมยาสูบยั่งยืน สกู๊ปพิเศษ : ชู‘เทศบาลเมืองมหาสารคาม’ ต้นแบบควบคุมยาสูบยั่งยืน
  • สกู๊ปพิเศษ : ‘MUT – Imperial SABER Lab’ สร้างเครือข่ายนักวิจัยรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนไทยสู่ศูนย์กลางนวัตกรรม สกู๊ปพิเศษ : ‘MUT – Imperial SABER Lab’ สร้างเครือข่ายนักวิจัยรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนไทยสู่ศูนย์กลางนวัตกรรม
  • สกู๊ปพิเศษ : ตีโจทย์ขายเหล้าวันพระใหญ่ ที่ไหนทำได้-ทำไม่ได้ สกู๊ปพิเศษ : ตีโจทย์ขายเหล้าวันพระใหญ่ ที่ไหนทำได้-ทำไม่ได้
  • สกู๊ปพิเศษ : ‘เสียงจากดาวน์’ ปลดล็อคข้อจำกัดด้าน ‘การศึกษา’ สู่การพัฒนาอาชีพ-การจ้างงานในอนาคต สกู๊ปพิเศษ : ‘เสียงจากดาวน์’ ปลดล็อคข้อจำกัดด้าน ‘การศึกษา’ สู่การพัฒนาอาชีพ-การจ้างงานในอนาคต
  • สกู๊ปพิเศษ : ส่องมนต์เสน่ห์ธรรมชาติแห่ง ‘กุ้ยโจว’ อันซีนแดนมังกร หมุดหมายของเหล่านักเดินทาง สกู๊ปพิเศษ : ส่องมนต์เสน่ห์ธรรมชาติแห่ง ‘กุ้ยโจว’ อันซีนแดนมังกร หมุดหมายของเหล่านักเดินทาง
  • สกู๊ปพิเศษ : ถอดบทเรียนแก้ปัญหาการพนันในสถานประกอบการไทย สกู๊ปพิเศษ : ถอดบทเรียนแก้ปัญหาการพนันในสถานประกอบการไทย
  •  

Breaking News

'ลำไย ไหทองคำ'โชว์ผิวขาวออร่า งัดบิกินี่สดใสสะกดใจ แฟนคลับคอมเมนต์สนั่น

นายกฯห่วงแม่สาย สั่งการติดตามต่อเนื่อง กำชับ สธ.เร่งบูรณาการช่วยเหลือ

‘ในหลวง’ ทรงมีพระราชสาส์นถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน ในโอกาสวันเอกราช

เช็คที่นี่!‘ปภ.’กางลิสต์‘27 จังหวัด’ เตือนเฝ้าระวัง‘น้ำท่วม-น้ำป่า-โคลนถล่ม’ 26-30 พ.ค.68

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved