27 ม.ค.2566 สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เผยแพร่รายงาน UNODC Report – major opium economy expansion is underway in Myanmar ระบุว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา การปลูกฝิ่นได้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งในประเทศเมียนมา โดยในช่วงปี 2557-2563 การปลูกฝิ่นเคยลดลง แต่ข้อมูลล่าสุดที่รวบรวมได้หลังกองทัพทำรัฐประหารในปี 2564 พบฤดูปลูกปี 2564 พื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 และเพิ่มแบบก้าวกระโดดในฤดูปลูกปี 2565 โดยพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 88
เจเรมี ดักลาส (Jeremy Douglas) ผู้แทนระดับภูมิภาคของ UNODC กล่าวว่า การรัฐประหารในเมียนมาเมื่อปี 2564 เกิดปัญหาตามมาทั้งการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงและธรรมาภิบาล ขณะที่เกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลและเป็นพื้นที่มีความขัดแย้ง เช่น ทางตอนเหนือของรัฐฉาน หรือบริเวณรัฐที่อยู่ตามแนวชายแดน มีทางเลือกในชีวิตค่อนข้างน้อย และนั่นทำให้พวกเขาหวนกลับไปหาการปลูกฝิ่น
รายงานกล่าวต่อไปว่า รัฐฉานถูกระบุว่าพบการปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึงร้อยละ 39 รองลงมาคือรัฐชินและรัฐคะยา เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 และร้อยละ 11 ตามลำดับส่วนรัฐคะฉิ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ขณะที่ผลผลิตฝิ่นโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 41 เป็น 19.8 กิโลกรัม/เฮกตาร์ มากที่สุดตั้งแต่การเก็บข้อมูลในปี 2545 ด้านราคาที่เกษตรกรได้รับในปี 2565 อยู่ที่ 280 เหรียญสหรัฐ หรือราว 9,000 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69
ที่น่าห่วงคือ แม้จะมีจำนวนผู้ปลูกเพิ่มขึ้นแต่ราคาฝิ่นที่ขายได้ก็ยังสูง ซึ่งเชื่อมโยงกับตลาดฝิ่นและเฮโรอีนในย่าน "สามเหลี่ยมทองคำ" ดูเหมือนจะกลับมาเชื่อมต่อกับตลาดโลกอีกครั้ง เมื่อรวมกับผลผลิตที่สูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้จากฝิ่นมากกว่าปีที่แล้วถึงสองเท่า แม้ว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดไม่ได้บ่งบอกกำลังซื้อโดยตรง เนื่องจากประเทศประสบปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูง ค่าเงินอ่อนค่า รวมถึงต้นทุนเชื้อเพลิงและปุ๋ยที่สูงขึ้นก็ตาม
การเพิ่มขึ้นของฝิ่นยังสอดคล้องกับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากฝิ่น ในขณะที่มูลค่าของฝิ่นในเมียนมาสูงถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6 หมื่นล้านบาท การค้าเฮโรอีนในระดับภูมิภาคก็มีมูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3 แสนล้านบาท ซึ่ง ดักลาส กล่าวเพิ่มเติมว่า การเติบโตที่เห็นจากธุรกิจยาเสพติดนั้นเกี่ยวพันโดยตรงกับวิกฤติที่เมียนมาเผชิญอยู่ ผลกระทบต่อภูมิภาคนี้รุนแรงมาก และประเทศเพื่อนบ้านจำเป็นต้องประเมินและแก้ไขสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมา รวมถึงต้องพิจารณาทางเลือกที่่ยากลำบากหลายอย่าง
รายงานกล่าวในตอนท้ายว่า การแก้ปัญหาจำเป็นต้องคำนึงถึงความท้าทายและความเปราะบางที่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปลูกฝิ่นแบบดั้งเดิมต้องเผชิญ รวมถึงความโดดเดี่ยวและความขัดแย้ง ซึงการทำงานของ UNODC คำนึงถึงความจริงเหล่านี้ เพื่อสนับสนุนชุมชนและเกษตรกรในการส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ในท้องภิ่นที่สามารถแข่งขันกับเศรษฐกิจจากฝิ่นได้ ซึ่ง เบเนดิคท์ ฮอฟมานน์ (Benedikt Hofmann) ผู้จัดการประจำเมียนมาของ UNODC กล่าวว่า การปลูกฝิ่นเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ ลำพังการทำลายผลผลิตไม่ใช่ทางแก้ปัญหา ตรงกันข้ามกลับยิ่งเพิ่มความเปราะบาง หากไม่มีทางเลือกอื่่นรวมถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การปลูกฝิ่นก็มีแนวโน้มจะขยายตัวต่อไป
ที่มา unodc