ย่างกุ้ง (เอเอฟพี/รอยเตอร์ส) - กองทัพเมียนมาประกาศกฎหมายเลือกตั้งใหม่ที่เข้มงวดกว่ากฎหมายเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2010 โดยห้ามพรรคการเมืองและผู้สมัครเลือกตั้งมีประวัติเชื่อมโยงกับบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือกระทำผิดทางกฎหมาย
หนังสือพิมพ์เดอะโกลบอลนิวไลต์ออฟเมียนมาของทางการเมียนมา รายงานอ้างกฎหมายที่ผ่านการอนุมัติจากพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ที่ระบุว่า กฎหมายเลือกตั้งใหม่ของเมียนมาจะห้ามพรรคการเมืองหรือผู้สมัครเลือกตั้งมีประวัติเชื่อมโยงกับบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือกระทำผิดทางกฎหมาย นอกจากนี้ พรรคการเมืองที่ต้องการลงรับสมัครเลือกตั้งระดับชาติจะต้องมีสมาชิกพรรคอย่างน้อย 100,000 คน ภายใน 3 เดือนหลังจดทะเบียนจัดตั้งพรรค และต้องระดมทุนให้ได้ 100ล้านจ๊าด (ราว 1.5 ล้านบาท) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงขึ้น 100 เท่า เมื่อเทียบกับกฎหมายเลือกตั้งฉบับเดิม โดยจะต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวไปฝากไว้ในบัญชีธนาคารเมียนมา อีโคโนมิก แบงก์ ของทางการเมียนมา
ประกาศดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่นางออง ซาน ซู จี ผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งและมีคะแนนนิยมสูงในเมียนมา ถูกศาลทหารเมียนมาสั่งจำคุกเป็นเวลากว่า 30 ปี จากข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ไม่ได้รับการพิสูจน์หลักฐานแน่ชัด เช่น คดีละเมิดกฎหมายนำเข้าวิทยุสื่อสารวอล์กกี-ทอล์กกี และคดีทุจริตคอร์รัปชันอีกมากมาย ขณะที่นักวิเคราะห์หลายรายตั้งข้อสังเกตว่า กองทัพเมียนมาตั้งใจลงโทษจำคุกนางซู จี เพื่อต้องการไม่ให้มีโอกาสกลับมาลงเล่นการเมืองตลอดชีวิต ก่อนหน้านี้ กองทัพเมียนมาได้ควบคุมตัวนางซู จี และก่อเหตุรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2521 โดยกล่าวหาว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ของนางซู จี ทุจริตการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2019 จนทำให้ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาระบุว่า จะวางแผนจัดการเลือกตั้งในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคมปีนี้
ในอีกด้านหนึ่ง สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นดีโอซี ออกรายงานในวันนี้ว่า พื้นที่ปลูกฝิ่นในเมียนมาช่วงปี 2564-2565 เพิ่มขึ้น 1 ใน 3 เป็นมากกว่า 250,000 ไร่ และอาจจะได้ผลิตภัณฑ์จากฝิ่นมากถึง 790 ตัน เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 90 จากปีก่อนหน้า ตัวแทนประจำภูมิภาคของยูเอ็นดีโอซีกล่าวว่า การหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการปกครองที่เกิดขึ้นหลังจากกองทัพรัฐประหาร ทำให้เกษตรกรไม่มีทางเลือก นอกจากต้องหันกลับไปปลูกฝิ่น พื้นที่ปลูกฝิ่นที่เพิ่มขึ้นจึงมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา อย่างไรก็ดี ฝิ่นที่ขายได้ในราคาสูงขึ้นไม่ได้ทำให้เกษตรกรในเมียนมามีอำนาจการจับจ่ายมากขึ้นตามไปด้วย เพราะต้องจ่ายค่าน้ำมันและปุ๋ยที่แพงขึ้น