เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 เว็บไซต์ นสพ.Nikkei Asian Review ของญี่ปุ่น เสนอรายงานพิเศษ Prayuth to run against deputy as Thailand primes for elections ระบุว่า ในการเลือกตั้งใหญ่ของประเทศไทยซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ หนึ่งในไฮไลท์ที่ต้องจับตา คือการแข่งขันระหว่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (Prayut Chan-o-cha) ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (Prawit Wongsuwan) หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมี พล.อ.ประวิตร เป็นรองนายกฯ
ก่อนหน้านี้ “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” กอดคอร่วมหัวจมท้ายมาตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 จากนั้น พรรคพลังประชารัฐ ได้ส่ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นตัวแทนพรรคชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งปี 2562 อย่างไรก็ตาม การเป็นนายกฯ ในนามพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค โดยกล่าวว่าตนเป็นทหารไม่ใช่นักการเมือง ซึ่งแตกต่างจากในครั้งล่าสุดที่ บิ๊กตู่ สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติอย่างเป็นทางการ และได้ขึ้นเวทีปราศรัยร่วมกับแกนนำคนอื่นๆ ของพรรคเป็นครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา
พล.อ.ประยุทธ์ ชูผลงานตลอดช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ทั้งการรับมือสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 การฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยอ้างรายได้จากการท่องเที่ยวและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น และโดยเฉพาะการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดิอาระเบีย หลังจากที่ชาติตะวันออกกลางดังกล่าวตัดความสัมพันธ์กับไทยไปนานกว่า 3 ทศวรรษ นอกจากนั้น ยังตั้งเป้าจะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงโปรแกรมสวัสดิการของรัฐ ซึ่ง พล.อ.พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง และให้คำมั่นว่าจะปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้นให้ได้ภายใน 2 ปี
การแยกตัวออกไปของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้เกิดวิวาทะกับนักการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ ว่าใครกันแน่ที่เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นสวัสดิการที่รัฐบาลมอบให้ประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรดังกล่าวอยู่ 13.5 ล้านคน โดยล่าสุด พรรคพลังประชารัฐได้ประกาศนโยบาย หากได้กลับมาเป็นรัฐบาลจะเพิ่มเงินในบัตรเป็น 700 บาทต่อเดือน
ถึงกระนั้น คนไทยก็ไม่แน่ใจว่า “2ป.” ขัดแย้งกันเองจริงหรือไม่ เห็นได้จากผลสำรวจที่ทำโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ราวร้อยละ 60 เชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐต้องการรักษาฐานเสียงสำหรับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ไม่ชอบ พล.อ.ประยุทธ์ แต่หลังจากเลือกตั้งไปแล้วก็เป็นไปได้ที่จะร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติในการจัดตั้งรัฐบาลผสม
ณ วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถยุบสภาได้ทุกเมื่อ เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้ง 2 ฉบับ ได้ประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา แต่ก็ยืนยันว่ายังไม่ยุบเพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีเวลาเตรียมตัวจัดการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม การทำงานลงมติต่างๆ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในสภาช่วง 2 เดือนสุดท้ายดูจะหยุดชะงักไปแล้ว เมื่อมีนักการเมืองจากพรรคพลังประชารัฐทยอยลาออก ซึ่งหากไม่ย้ายไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็จะไปร่วมกับพรรคภูมิใจไทย
อีกด้านหนึ่ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (Pita Limjaroenrat) หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งปัจจุบันอยู่ในซีกฝ่ายค้าน กล่าวในการประชุมพรรคเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2566 ว่า ประเทศจะเดินหน้าได้อย่างไรหากยังอยู่ในมือคนแก่ๆ เพียงไม่กี่คน โดยพรรคก้าวไกลประกาศจุดยืนกำจัดมรดกที่ตกค้างมาจากการรัฐประหาร 2557 ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม นำทหารออกจากการเมือง รวมถึงเริ่มกระบวนการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใน 100 วันแรกหากได้เป็นรัฐบาล
ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลมีฐานเสียงหลักเป็นคนหนุ่ม-สาวรุ่นใหม่ รวมถึงคนเมืองในกรุงเทพฯ แต่ระยะหลังๆ พรรคได้เริ่มหาเสียงกับประชากรที่อายุมากขึ้น โดยขอให้คิดถึงสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปในช่วงชีวิตของพวกเขา ดังที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ (Parit Wacharasindhu) หนึ่งในแกนนำพรรค ไล่เรียงทีละช่วงวัย ว่า คนที่อายุ 20 ปีวันนี้คือคนที่โตมาในยุครัฐประหาร คนที่อายุ 50-60 ปีวันนี้คือคนที่โตมาในยุคที่ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา และคนที่อายุ 100 ปีในวันนี้คือคนที่โตมาในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แต่ ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยยังบอกไม่ได้ว่าใครกุมอำนาจ ยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนา และยังมีนายกรัฐมนตรีมาจากหัวหน้าคณะรัฐประหาร
อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลพยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ มีเพียงตั้งข้อสังเกตเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกเท่านั้น หลังจากเมื่อปี 2565 พรรคพยายามเสนอให้แก้ไขกฎหมานอาญามาตรา 112 ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ผู้นำรัฐสภาไม่อนุญาตเพราะหวั่นเกรงว่าอาจขัดรัฐธรรมนุญ ถึงกระนั้น พิธา รวมถึง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (Thanathorn Juangroongruangkit) ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ (ซึ่งต่อมาคือพรรคก้าวไกล) ได้เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อสนับสนุน 2 นักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่ประกาศอดอาหารประท้วงเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมจากมาตรา 112
การสำรวจครั้งเมื่อเร็วๆ นี้โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) พบว่า พรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคฝ่ายค้านซึ่งเป็นพันธมิตรกับพรรคก้าวไกล ยังคงได้รับการสนับสนุนมากที่สุดร้อยละ 43 ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างพรรคก้าวไกลที่ได้น้อยกว่าร้อยละ 17 ส่วนบรรดาพรรคซีกรัฐบาลได้พรรคละไม่ถึงร้อยละ 10 ส่วนตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร (Paetongtarn Shinawatra) ลูกสาวอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร (Thaksin Shinawatra) จากพรรคเพื่อไทย มาอันดับ 1 ร้อยละ 34 ตามด้วย พล.อ.ประยุทธ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 14 และ พิธา พรรคก้าวไกล ร้อยละ 13
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- พปชร. ปะทะ รทสช.!พรรคไหนได้ส.ส.มากกว่ากัน- ‘2ป.’แตกคอกันจริง?
- นักการเมืองเต็มตัว! 'บิ๊กตู่'ให้คำสัญญาที่ชุมพร จะพลิกโฉมประเทศไทยภายใน 2 ปี
.-006