เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักข่าวรอยเตอร์ เสนอข่าว Thailand to toughen rules on methamphetamine pill possession อ้างความเห็นของ เจเรมี ดักลาส (Jeremy Douglas) ผู้แทนระดับภูมิภาค สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี-UNODC) แสดงความเป็นห่วงกรณีที่ อนุทิน ชาญวีรกูล (Anutin Charnvirakul) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทย กล่าวถึงแนวคิดที่จะปรับกฎหมายให้การครอบครองเมทแอมเฟตามีน หรือที่รู้จักกันในสังคมไทยว่า “ยาบ้า” มากกว่า 1 เม็ด ถือเป็นผู้ค้า
ซึ่งแนวทางใหม่นี้เสี่ยงที่จะพลิกกลับการปฏิรูปที่นำมาใช้ตั้งแต่ปี 2564 เมื่อรัฐสภาผ่านร่างกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและการบำบัดมากกว่าการลงโทษผู้เสพยาเสพติดเพียงเล็กน้อย โดยรัฐบาลไทยเปิดเผยว่า กฎหมายดังกล่าวมีผลลดโทษจำคุกผู้ต้องขังในเรือนจำเกือบ 50,000 คน แต่หากเปลี่ยนเป็นการมียาบ้า 1 เม็ดถือเป็นผู้ค้า เรือนจำจะแออัดอย่างไม่มีที่สิ้นสุดชนิดที่ไม่มีที่ว่างพอให้ขัง
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า อ้างความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (Prayuth Chan-ocha) เรียกร้องให้ปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเป็นผลมาจากคดีสะเทือนขวัญเมื่ออดีตตำรวจที่ถูกให้ออกจากงานเพราะติดยา ก่อเหตุกราดยิงที่ศูนย์เด็กเล็กใน จ.หนองบัวลำภู เมื่อเดือน ต.ค. 2565 มีผู้เสียชีวิต 37 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 24 ราย ซึ่งปัจจุบันกฎหมายกำหนดว่า การมียาบ้าตั้งแต่ 15 เม็ดขึ้นไปถือเป็นผู้ค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-20 ปี แต่หากมีน้อยกว่า 15 เม็ด ยังถือว่าเป็นผู้เสพ สามารถเลือกเข้ารับการบำบัดแทนการถูกดำเนินคดีได้
อนุทิน ให้เหตุผลการเปลี่ยนแปลงจำนวนยาเสพติดที่จัดเป็นผู้ค้า ว่า เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมอย่างเด็ดขาดและมีประสิทธิภาพ ในการยับยั้งการระบาดของยาเสพติด อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่เป็นรายกรณีไป ทั้งนี้ ระเบียบแก้ไขดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี
- 006