วิกฤติมนุษยธรรม! ‘สงคราม-การเมือง’ทำชาว‘ซีเรีย’เข้าถึงความช่วยเหลือหลังเกิดแผ่นดินไหวได้ลำบาก
10 ก.พ.2566 The Jerusalem Post นสพ.ท้องถิ่นของอิสราเอล เสนอรายงานพิเศษ Rebel-held areas of Earthquake-hit Syria not receiving international aid ว่าด้วยเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่บริเวณดินแดนที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศตุรกีกับประเทศซีเรีย ซึ่งในขณะที่ความช่วยเหลือจากนานาชาติหลั่งไหลเข้าไปยังฝั่งตุรกีเป็นจำนวนมาก แต่ในฝั่งซีเรียนั้นการให้ความช่วยเหลือทำได้จำกัด เนื่องจากประเทศดังกล่าวตกอยู่ในสถานการณ์สงครามกลางเมืองยืดเยื้อยาวนานถึง 12 ปีแล้ว
เคคลี เปติลโล (Kelly Petillo) ผู้ประสานงานโครงการตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือของสภายุโรปด้านการต่างประเทศ (ECFR) กล่าวว่า ตามรายงานของภาคประชาสังคม (NGO) พบชาวซีเรียต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นมากถึง 20 ครั้ง สำหรับเหตุแผ่นดินไหวนั้นอาจอ้างได้ว่าซีเรียมีผู้ประสบภัยน้อยกว่าตุรกี แต่คนที่นี่ก็อยู่ในสภาพที่เลวร้ายมาหลายปีแล้ว
พื้นที่ของซีเรียที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวนั้นเป็นเขตยึดครองของกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ขณะเดียวกัน รัฐบาลซีเรียเองก็ถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ นั่นทำให้ประชาคมระหว่างประเทศต้องส่งความช่วยเหลือผ่านกลไกสหประชาชาติ (UN) และ NGO ที่ทำงานระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม รัสเซียและจีนได้ลดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมานานแล้ว เนื่องจากต้องการทำลายที่มั่นของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และเปลี่ยนเส้นทางความช่วยเหลือไปยังฝ่ายรัฐบาลแทน
ท่าทีของ บาสซัม ซับบักห์ (Bassam Sabbagh) ทูตซีเรียประจำสหประชาชาติ ที่กล่าวว่า มีเพียงรัฐบาลซีเรียเท่านั้นที่มีหน้าที่ระดมความช่วยเหลือจากประชาคมโลก ซึ่งรวมถึงการดำเนินการในพื้นที่ที่ไม่อยู่ในการควบคุมของรัฐบาลด้วย ซึ่ง เปติลโล เห็นว่า สถานการณ์ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่ทำให้รัสเซียและซีเรียเพิ่มแรงกดดันต่อประชาคมโลกให้เลิกมาตรการคว่ำบาตรและให้ความช่วยเหลือผ่านรัฐบาลซีเรียในกรุงดามัสกัส
“มีเพียงรัสเซีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แอลจีเรีย และอิรักเท่านั้นที่ส่งทีมสนับสนุนด้านมนุษยธรรมและกู้ภัยทางเครื่องบินไปยังซีเรีย แต่พวกเขาลงจอดในพื้นที่ของรัฐบาลในซีเรีย ชาวซีเรีย สภาเสี้ยววงเดือนแดงอาหรับ กล่าวว่า ไม่มีเชื้อเพลิงในการขนส่งความช่วยเหลือนี้ไปยังพื้นที่ที่ต้องการเนื่องจากการคว่ำบาตร ในทางทฤษฎี หน่วยงานด้านมนุษยธรรมและองค์กรพัฒนาเอกชนในยุโรปและอื่นๆ ควรจะสามารถดำเนินการได้แม้จะมีการคว่ำบาตร แต่พวกเขาจำเป็นต้องเข้าถึง ดังนั้น การที่ดามัสกัสผลักดันให้มีเส้นแบ่งเขตแดนและประชาคมระหว่างประเทศให้เปิดจุดผ่านแดนอีกครั้ง ความช่วยเหลือทางตะวันตกเฉียงเหนือจึงยังติดขัดอยู่” เปติลโล กล่าว
อับดุลสตาร์ กริวี (Abdulstaar Kriwi) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในซีเรีย กล่าวว่า แม้จะมีคำแถลงที่ได้ยินจากหลายประเทศ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากนานาชาติจำนวนมากเข้ามาทางตอนเหนือของซีเรีย โดยจุดผ่านแดน บับ อัล ฮาวา (Bab Al Hawa) ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ประกาศว่าพร้อมที่จะรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือในปัจจุบันขึ้นอยู่กับความพยายามของพลเรือนที่ขับเคลื่อนโดยประชาชนในท้องถิ่นที่ต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุน ผู้คนจากพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายน้อยที่สุดกำลังช่วยเหลือผู้อื่นในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด
“แม้ยอดผู้เสียชีวิตในซีเรียจะอยู่ที่ราว 1,400 คน แต่จำนวนผู้เคราะห์ร้ายก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากยังมีครอบครัวและผู้คนอีกหลายร้อยครอบครัวที่ยังคงอยู่ใต้ซากปรักหักพัง ซึ่งการช่วยเหลือหรือการกู้คืนส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความช่วยเหลือจากนานาชาติ แผ่นดินไหวยังทำให้วิกฤตด้านมนุษยธรรมที่มีอยู่แล้วในพื้นที่แย่ลงไปอีก เนื่องจากบ้านเรือนจำนวนมากถูกทำลาย หลายพันหลังได้รับความเสียหาย และขณะนี้ผู้คนจำนวนมากอาศัยอยู่ข้างถนนและอยู่ในสภาพที่ยากลำบากมาก” กริวี ระบุ
กริวี กล่าวต่อไปว่า พื้นที่ทางภาคเหนือของซีเรียซึ่งได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวนั้น เป็นแหล่งรวมของประชาชนที่หลบหนีจากการปกครองของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล อัสซาด (Bashar Al Assad) ผู้นำรัฐบาลซีเรีย แต่เดิมคนเหล่านี้มีที่พักอาศัยในอาคารและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าในผู้ลี้ภัยในค่ายผู้อพยพ แต่แผ่นดินไหวทำให้ผู้พลัดถิ่นหลายพันคนต้องการที่พักพิง และความเป็นอยู่ก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก สภาพอากาศที่หนาวเย็นมีแต่จะทำให้สิ่งต่างๆ แย่ลง เนื่องจากผู้คนสูญเสียบ้าน ทรัพย์สมบัติ ครอบครัวและเพื่อนๆ และถูกบังคับให้อาศัยอยู่ตามท้องถนน
ที่มา jpost