โซล (เอเอฟพี/รอยเตอร์ส)-เกาหลีเหนือต้องพบกับความล้มเหลวในการปล่อยดาวเทียมจารกรรมทางทหารเมื่อช่วงวานนี้ โดยดาวเทียมตกลงในทะเลเหลือง หลังจากเครื่องยนต์ระยะ 2 มีปัญหา ซึ่งเกาหลีเหนือเองก็ยอมรับว่าเกิดความผิดพลาดอย่างร้ายแรง
หน่วยงานด้านอวกาศของเกาหลีเหนือรายงานว่าการปล่อยดาวเทียมจารกรรมทางทหาร มันลียงวัน (Malligyong-1) ด้วยการยิงจรวดโคลลิมา-1 ซึ่งเป็นจรวดรุ่นใหม่เมื่อช่วงเช้าตรู่วันที่ 31 พ.ค. ต้องพบกับความล้มเหลวเนื่องจากเกิดปัญหาขัดข้องของเครื่องยนต์จรวดดังกล่าวในช่วงหลังจากการแยกตัวในระยะที่ 1 ทำให้ดาวเทียมตกลงสู่ทะเล หลังจากนี้ทางการจะสอบสวนอย่างละเอียดถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งเกาหลีเหนือเองก็ยอมรับว่าเป็นข้อผิดพลาดที่ร้ายแรง แต่ก็บอกด้วยว่าจะทำการทดลองเป็นครั้งที่ 2 ในเร็วๆ นี้ สำหรับดาวเทียมดังกล่าวเป็นดาวเทียมสอดแนมเพื่อติดตามการเคลื่อนไหวทางทหารของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร
ด้านกองทัพเกาหลีใต้รายงานว่าตรวจพบการปล่อยจรวดที่ศูนย์ปล่อยจรวดทงชัง-รี จังหวัดพยองอันเหนือ ทางฝั่งตะวันตกของเกาหลีเหนือเมื่อเวลา 06.29 น. วานนี้ตามเวลาเกาหลี แต่ก็ยืนยันว่าดาวเทียมดังกล่าวหายไปจากจอเรดาร์และร่วงลงสู่ทะเลในน่านน้ำห่างจากเกาะที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาหลีใต้ไปทางตะวันตก 200 กิโลเมตร เนื่องจากจรวดมีปัญหาขัดข้อง และหลังจากนั้นเกาหลีใต้สามารถเก็บกู้เศษซากของจรวดขึ้นมาจากทะเลได้ คาดว่าชิ้นส่วนดังกล่าวอาจจะเป็นส่วนของถังบรรจุเชื้อเพลิงเหลว
ขณะที่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ต่างก็ประณามการปล่อยดาวเทียมของเกาหลีเหนือว่าเป็นการละเมิดข้อมติของสหประชาชาติอย่างร้ายแรงตามที่มีข้อห้ามเกาหลีเหนือทำการทดสอบขีปนาวุธ และไม่ว่าการปล่อยดาวเทียมของเกาหลีเหนือจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ถือว่ามีความผิดเช่นกัน เพราะการยิงจรวดเพื่อปล่อยดาวเทียมนั้นใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกันกับการยิงขีปนาวุธพิสัยไกล
การยิงจรวดปล่อยดาวเทียมของเกาหลีเหนือครั้งนี้สร้างความแตกตื่นให้แก่ผู้คนในเกาหลีใต้ หลังได้รับการแจ้งเตือนภัยและให้อพยพเป็นการด่วน สร้างความสับสนวุ่นวายอย่างมาก แต่ในเวลาต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ออกแถลงว่าเป็นการแจ้งเตือนที่ผิดพลาด เจ้าหน้าที่กระทรวงเผยว่า โซลไม่ได้อยู่ในพื้นที่แจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน ขณะที่ทางการกรุงโซลชี้แจงว่า ได้ส่งข้อความสั้นหลังจากที่ได้รับแจ้งเตือนจากกระทรวงมหาดไทยเรื่องเกาหลีเหนือยิงจรวด เจ้าหน้าที่กรุงโซลกล่าวว่าเป็นการดำเนินมาตรการฉุกเฉินในกรณีที่อาจเกิดวิกฤตที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตและความปลอดภัยของพลเรือนในช่วงที่ยังไม่มีการระบุชัดเจนถึงระดับความเสี่ยงของจรวดเกาหลีเหนือ ส่วนที่ญี่ปุ่นก็มีการแจ้งเตือนภัยประชาชนในภูมิภาคโอกินาวาเช่นกัน ก่อนที่จะยกเลิกคำเตือนในอีก 30 นาทีต่อมา