ไปรู้จัก‘เยฟเกนี พริโกชิน’หัวหน้ากลุ่ม‘วากเนอร์’ จากทหารรับจ้างผลงานโดดเด่นสู่การก่อกบฎต่อรัสเซีย
24 มิ.ย. 2566 สำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์ เสนอรายงานพิเศษ Who is Prigozhin, the Wagner chief taking on Russia’s military? ว่าด้วยประวัติของ เยฟเกนี พริโกชิน (Yevgeny Prigozhin) ชายวัย 62 ปี หัวหน้ากองกำลังทหารรับจ้างกลุ่มวากเนอร์ (Wagner) ซึ่งก่อนหน้านี้รับงานจากรัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ในการทำสงครามกับยูเครน แต่ด้วยเรื่องบาดหมางกับกองทัพประจำการของรัสเซีย ทำให้ล่าสุด กลุ่มวากเนอร์ได้หันมาก่อกบฎโดยเข้ายึดเมืองรอสตอฟ-นา-โดนู ทางภาคใต้ของรัสเซีย
ย้อนไปในปี 2524 พริโกชิน ถูกตัดสินจำคุก 12 ปี ในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์และทำร้ายร่างกาย จากนั้นในช่วงทศวรรษ 1990s (ปี 2533-2542) ภายหลังจากพ้นโทษ ได้ออกมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเปิดร้านอาหารในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และมีโอกาสได้รู้จักกับ ปูติน ที่ขณะนั้นเป็นรองนายกเทศมนตรีของเมือง จากจุดนั้นทำให้เขาเริ่มมีฐานะดีขึ้นเรื่อยๆ จากการใช้เส้นสายทำธุรกิจรับจัดงานเลี้ยง โดยเฉพาะการรับงานจากรัฐบาลรัสเซีย จนถูกเรียกว่า “พ่อครัวของปูติน” ก่อนจะเริ่มขยายออกไปทำธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม รวมถึงกิจการสื่อมวลชน จนทำให้ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ปั่นกระแสเพื่อแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 2559
ในเดือน ม.ค. 2566 ระหว่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน พริโกชิน ยอมรับว่าตนเองคือผู้ก่อตั้งกลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ โดยในช่วงเวลาที่ดีที่สุด เคยมีสมาชิกถึง 50,000 คน ในจำนวนนี้ 35,000 คนกำลังทำภารกิจในสนามรบ แต่ไม่ได้บอกว่ามีสมาชิกเป็นนักโทษด้วยหรือไม่ เนื่องจากมีข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการที่ระบุว่า พริโกซิน ชักชวนผู้ต้องขังในเรือนจำของรัสเซียไปรบในสงครามกับยูเครน โดยหากทำงานครบครึ่งปีแล้วยังมีชีวิตรอดก็จะได้อิสรภาพ
ในการสำรวจความคิดเห็น พบว่า พริโกชิน กลายเป็นชาวรัสเซียที่มีชื่อเสียงอันดับ 5 รองจาก ปธน.ปูติน , นายกรัฐมนตรี มิคาอิล มิชุสติน (Mikhail Mishustin) , รัฐมนตรีว่าการกระททรวงการต่างประเทศ เซอร์กีย์ ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เซอร์เก ชอยกู (Sergei Shoigu) ตามลำดับ โดย พริโกชิน เลือกสื่อสารกับชาวรัสเซียที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมซึ่งยกย่อง โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) อดีตผู้นำรัสเซียในยุคที่ยังเป็นสหภาพโซเวียต โดยคนกลุ่มนี้ต้องการเห็นรัสเซียชนะสงครามยูเครนไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม
ขณะที่กองกำลังทหารรับจ้างกลุ่มวากเนอร์ ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในภาคตะวันออกของยูเครน ในปี 2557 อันเป็นช่วงที่ยูเครนกำลังทำสงครามกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซึ่งฝักใฝ่รัสเซีย และรัสเซียได้เข้ายึดดินแดนคาบสมุทรไครเมีย ชื่อกลุ่มวากเนอร์ นำมาจากชื่อเล่นของ ดมิทรี อุตกิน (Dmitry Utkin) อดีตทหารยศนายพันของหน่วยรบพิเศษรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้บัญชาการคนแรกของกลุ่ม ทั้งนี้ การที่ปล่อยให้ดินแดนภาคตะวันออกของยูเครนเป็นการเคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธเอกชน ทำให้รัฐบาลรัสเซียปฏิเสธความเกี่ยวข้องได้ในระดับหนึ่ง
มีรายงานพบสมาชิกกลุ่มวากเนอร์ถูกส่งไปปฏิบัติการในหลายประเทศที่มีความขัดแย้ง อาทิ ซีเรีย ซึ่งที่นั่นรัสเซียสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) หรือที่ ลีเบีย มีรายงานกลุ่มวากเนอร์ทำงานร่วมกับกองกำลังทหารของ คาลิฟา ฮาฟตาร์ (Khalifa Haftar) รวมถึงเชื่อกันว่า กลุ่มวากเนอร์น่าจะรับงานในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง รวมถึงประเทศมาลีด้วย
ในเดือน ม.ค. 2566 วิคตอเรีย นูแลนด์ (Victoria Nuland) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า กลุ่มวากเนอร์รับงานในประเทศของทวีปแอฟริกา โดยรับค่าตอบแทนเป็นสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรมีค่า เช่น ทองคำ เพื่อใช้เป็นทุนสำหรับการทำภารกิจในยูเครน ขณะที่สื่อรัสเซียบางสำนักอ้างว่า กลุ่มวากเนอร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมผู้สื่อข่าวชาวรัสเซีย 3 คน ในปี 2561 ซึ่งเวลานั้นทั้ง 3 กำลังตามสืบเกี่ยวกับกิจกรรมของกลุ่มที่สาธารณรัฐแอฟริกากลาง แต่คดีนี้ยังคงไม่ได้ข้อสรุป
สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กินเวลามาแล้ว 15 เดือน ทหารรับจ้างกลุ่มวากเนอร์ ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นยิ่งกว่าทหารประจำการของกองทัพรัสเซียที่พบกับความสูญเสียอย่างหนัก โดยเฉพาะสมรภูมิเมืองบักห์มุด ทางภาคตะวันออกของยูเครน ในเดือน เม.ย. 2566 หลังการต่อสู้ที่ดุเดือดและยืดเยื้อ ในที่สุดฝ่ายรัสเซียก็เข้ายึดเมืองได้ แต่ผู้ที่เชิญธงชาติรัสเซียขึ้นสู่ยอดเสาในเมืองนี้เป็นสมาชิกกลุ่มวากเนอร์ ไม่ใช่ทหารของกองทัพรัสเซีย
ทหารรับจ้างกลุ่มวากเนอร์ ถูกพูดถึงใน 2 ด้าน ระหว่างผลงานการออกรบอย่างดุดันห้าวหาญ กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโหดร้าย โดยชาติในโลกตะวันตก รวมถึงผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติ (UN) บอกเล่าถึงความอำมหิตของกองกำลังกลุ่มนี้ อาทิ ในปี 2564 สหภาพยุโรป (EU) กล่าวหาว่า กลุ่มวากเนอร์มีพฤติกรรมทั้งทรมานและสังหารผู้คนโดยพลการ รวมถึงดำเนินกิจกรรมที่ทำลายเสถียรภาพในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ลิเบีย ซีเรีย และยูเครน
ในปี 2560 มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอในสื่อสังคมออนไลน์ อ้างว่าเป็นสมาชิกกลุ่มวากเนอร์ทรมานชาวซีเรียด้วยการใช้ค้อนทุบจนชาวซีเรียคนดังกล่าวเสียชีวิตก่อนจะเผาทำลายศพ หรือในปี 2565 มีคลิปวีดีโอที่อ้างว่า บุคคลในคลิปเป็นอดีตสมาชิกกลุ่มวากเนอร์ถูกทุบด้วยค้อนจนเสียชีวิต เป็นการลงโทษเนื่องจากพยายามหลบหนีไปฝั่งยูเครนแล้วถูกส่งตัวกลับมา ซึ่งทั้ง 2 กรณี ทางการรัสเซียเพิกเฉยต่อคำขอของสื่อและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในการสอบสวนข้อเท็จจริง
พริโกชิน เปลี่ยนช่วงเวลาแห่งชัยชนะให้เป็นโอกาสเพียงไม่กี่วันต่อมา เพื่อกล่าวหาว่านายทหารระดับสูงของรัสเซียเป็นผู้รับผิดชอบต่อความล้มเหลวในสงครามยูเครน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะโดยไม่ถูกรัฐบาลรัสเซียจัดการ กระทั่งความบาดหมางที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มวากเนอร์กับกระทรวงกลาโหมรัสเซียถึงจุดสูงสุดในวันที่ 24 มิ.ย. 2566 เมื่อ พริโกชิน อ้างว่า สมาชิกของกลุ่มได้ข้ามพรมแดนจากยูเครนไปยังเมืองชายแดนที่อยู่ใกล้กันของรัสเซียอย่าง รอสตอฟ-นา-โดนู และประกาศพร้อมต่อสู้กับใครก็ตามที่จะเข้ามาหยุดความเคลื่อนไหวนี้
ในวันที่ 23 มิ.ย. 2566 หัวหน้ากองกำลังวากเนอร์ ยังกล่าวหากระทรวงกลาโหมรัสเซีย ว่าทำการหลอกลวงประธานาธิบดีและประชาชนชาวรัสเซีย ว่ายูเครนนั้นก้าวร้าวและบ้าคลั่ง และกำลังรวมหัวกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) เพื่อโจมตีรัสเซีย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'รัสเซีย'ระส่ำ! ทหารรับจ้างกลุ่ม‘วากเนอร์’ก่อกบฏยึดเมือง ขู่เคลื่อนกำลังบุกมอสโก)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี