โตเกียว/สิงคโปร์ (เอพี/รอยเตอร์ส/เอ็นเอชเค) - ไต้ฝุ่นชานชานพัดขึ้นฝั่งญี่ปุ่นแล้วเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาล่าสุดมีผู้เสียชีวิต 3 ศพ เจ็บเกือบ 40 คน สูญหาย 3 คนสั่งอพยพประชาชนหลายล้านคนในหลายจังหวัดไฟฟ้าดับกว่า 2 แสนหลัง เที่ยวบินยกเลิกหลายร้อยเที่ยว ด้านนักวิทยาศาสตร์ชี้ ไต้ฝุ่นแคมี ที่พัดถล่มฟิลิปปินส์ ไต้หวันและจีนเมื่อเดือนที่แล้ว จนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 ศพ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากฝีมือของมนุษย์
ไต้ฝุ่น “ชานชาน” พัดขึ้นฝั่งที่เมืองซัตสึมะเซนไดในจังหวัดคาโกชิมะทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 29 ส.ค ด้วยความเร็วลม 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและกระแสลมแรงในหลายจังหวัดบนเกาะคิวชู จนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากอิทธิพลของไต้ฝุ่นชานชานแล้วอย่างน้อย 3 ศพ สูญหาย 1 คน และมีผู้บาดเจ็บอีก 45 คน มีอาคารบ้านเรือนและทรัพย์สินจำนวนมากได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ บริษัทคิวชู อีเลคทริก ระบุว่าจนถึงขณะนี้มีประชาชนอีกราว 230,000 ครัวเรือนใน 7 จังหวัดที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เซนไดในเมืองซัตสึมะเซนไดซึ่งเป็นจุดที่พายุพัดขึ้นฝั่งนั้นไม่ได้รับผลกระทบ
สำนักอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติญี่ปุ่นเตือนว่า ไต้ฝุ่นชานชานอาจจะเป็นพายุรุนแรงที่สุดลูกหนึ่งในปีนี้เวลานี้พายุกำลังเคลื่อนตัวขึ้นไปทางเหนืออย่างช้าๆคาดจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคกลางและตะวันออกรวมถึงกรุงโตเกียวในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ล่าสุด ทางการมีคำสั่งให้ประชาชนกว่า 5.2 ล้านคนทั่วประเทศอพยพไปอยู่ที่ปลอดภัย ส่วนสายการบินหลักอย่าง ออล นิปปอน แอร์เวย์ และ เจแปน แอร์ไลน์ ต้องประกาศยกเลิกเที่ยวบินในประเทศรวมกันกว่า 600 เที่ยว ขณะที่รถไฟก็ต้องระงับให้บริการในหลายพื้นที่ของเกาะคิวชูเช่นเดียวกัน ส่วนบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่างโตโยต้าและนิสสันก็ต้องระงับสายการผลิตของโรงงานหลายแห่งในช่วงนี้
ขณะเดียวกัน รายงานของนักวิทยาศาสตร์จากกลุ่มเครือข่ายความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติ (World Weather Attribution) ที่วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกับสภาพอากาศสุดโต่ง ระบุว่า ไต้ฝุ่นแคมี ที่พัดถล่มฟิลิปปินส์ ไต้หวัน จีนแผ่นดินใหญ่เมื่อเดือนที่แล้ว ทำลายโครงสร้างพื้นฐานและทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 ศพ มีความรุนแรงเลวร้ายอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากฝีมือของมนุษย์ โดยชี้ว่า กระแสลมรุนแรงและปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14ของพายุแคมี เป็นผลมาจากการที่อุณหภูมิน้ำทะเลอุ่นกว่าเดิม ขณะที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะพบว่า อุณหภุมิในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น กลายเป็นเชื้อเพลิงที่มีพลังให้กับพายุไซโคลน ที่ทำให้มีความรุนแรงมากกว่าเดิม นักวิจัยกล่าวด้วยว่า พายุไต้ฝุ่นมีแนวโน้มจะเกิดเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม พร้อมเตือนว่า พายุจะเกิดขึ้นมากจนกลายเป็นปกติและมีความรุนแรงขึ้นหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส ประเทศในเอเชียตะวันออกจะเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้วมากขึ้น ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานในการป้องกันอุทกภัยและการวางแผนรับมือฉุกเฉินจะถูกกดดันอย่างหนักมากขึ้นเรื่อยๆ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี