วันพฤหัสบดี ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ต่างประเทศ
เรื่องเล่าจากสื่อฮ่องกง! สงครามกลางเมือง‘เมียนมา’ สมรภูมิความขัดแย้งที่โลกลืม

เรื่องเล่าจากสื่อฮ่องกง! สงครามกลางเมือง‘เมียนมา’ สมรภูมิความขัดแย้งที่โลกลืม

วันเสาร์ ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2568, 16.42 น.
Tag : ความขัดแย้ง เมียนมา โลกลืม สงครามกลางเมือง
  •  

25 ม.ค. 2568 นสพ.South China Morning Post ของฮ่องกง เสนอรายงานพิเศษ In Asia’s forgotten war, a generation sacrifices its youth defying Myanmar’s brutal junta ว่าด้วยสถานการณ์สงครามกลางเมืองในเมียนมา ที่การสู้รบกลับมารุนแรงอีกครั้งภายหลังกองทัพทำรัฐประหารล้มรัฐบาลพลเรือนในวันที่ 1 ก.พ. 2564 นำไปสู่การปะทะกันระหว่างกองทัพรัฐบาลทหาร กับบรรดากองกำลังฝ่ายต่อต้านหลายกลุ่ม ทั้งชาวเมียนมาผู้เรียกร้องประชาธิปไตย และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศ

สำหรับประชาชนชาวเมียนมา ปีที่ 4 ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารได้นำมาซึ่งการเสียชีวิต การพลัดถิ่น และความสิ้นหวังมากขึ้น เนื่องจากบ้านเกิดที่มีปัญหาของพวกเขาถูกแบ่งแยกออกจากกันมากขึ้นจากสงครามกลางเมืองที่ดูเหมือนจะแก้ไม่ตก ในกรุงเนปิดอว์ กองทัพของรัฐบาลทหารอำนาจสั่งการทุกอย่าง แต่หลังจากพ่ายแพ้ในสมรภูมิรบหลายครั้ง เหล่านายพลพบว่าตนเองถูกจำกัดให้อยู่แต่ในพื้นที่ใจกลางของประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ


อย่างไรก็ตาม มีเพียงไม่กี่คนในกองกำลังฝ่ายต่อต้านที่คิดว่า ระบอบการปกครองที่โหดร้ายของ มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) จะล่มสลายในไม่ช้านี้ ดังความเห็นของ Maung Saungkha ชายวัย 32 ปี ผู้บัญชาการกลุ่มกบฏของรัฐกะเหรี่ยง ที่กล่าวว่า กองทัพพม่า หรือ “ตั๊ดมาดอว์” ยังคงแข็งแกร่งมาก เป็นสถาบันเก่าแก่ มีเงิน และพวกเขากุมอำนาจ แม้ตนเชื่อว่าสุดท้ายเราจะเป็นฝ่ายชนะ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าเมื่อไหร่

ผู้ที่ต่อสู้เพื่อแผ่นดินเมียนมาที่เสรีกว่านี้ยังคงมีความหวัง รัฐบาลทหารต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธและกลุ่มวัยรุ่นที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย นักรบเหล่านี้หลายคนเคยเป็นนักศึกษาหรือคนวัยทำงานทั้งที่อยู่ในโรงงานและสำนักงาน แต่พวกเขาล้วนถูกผลักดันเข้าสู่สงครามที่ไม่เคยต้องการแต่ไม่สามารถละทิ้งได้ แต่เมื่อมองออกไป สถานการณ์ในเมียนมาดูเหมือนจะถูกลืมเลือนจากชาวโลก เมื่อเทียบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และการกลับมาเป็นผู้นำสหรัฐอเมริกาของโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald  Trump) ในฐานะหนึ่งในบุคคลที่ทรงอำนาจที่สุดในโลก

ในป่าทึบของลุ่มแม่น้ำอิรวดี Maung Saungkha มีลูกน้องใต้บังคับบัญชาราว 1,000 คน พวกเขาต่อสู้ในนามกองทัพปลดปล่อยประชาชนพม่า (BPLA) ด้วยอาวุธที่ไปยึดมาได้จากค่ายของฝ่ายรัฐบาลทหาร ทั้งเครื่องยิงจรวด ปืนกล และปืนไรเฟิลเอ็ม 16 ฐานทัพของพวกเขาซ่อนตัวอยู่บนยอดเขาภายใต้ร่มเงาไม้ไผ่สูง ระหว่างรอสับเปลี่ยนกำลังไปยังแนวหน้า นักรบฝ่ายกบฏมักใช้เวลาว่างไปกับการเล่นหมากรุกและหาอาหารในป่าที่หล่อเลี้ยงพวกเขา

รัฐบาลทหารไม่มีอำนาจควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องเสียดินแดนไประหว่างร้อยละ 50 -70 ให้กับฝ่ายกบฏ และต้องสูญเสียพื้นที่สำคัญตามแนวชายแดนหลังจากที่พ่ายแพ้อย่างยับเยินในรัฐยะไข่และรัฐฉานเมื่อปี 2567 อย่างไรก็ตาม มิน อ่อง หล่าย ยังคงยึดอำนาจไว้ได้ โดยวางแผนการเลือกตั้งเพื่อเพิ่มความชอบธรรมให้กับรัฐบาลที่ถูกปิดล้อมของเขา นักวิจารณ์มองว่าการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือเป็นเรื่องไร้สาระในประเทศที่รัฐบาลทหารไม่มีอำนาจครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ อีกต่อไป และกลุ่มกบฏก็ไม่มีอารมณ์ที่จะเจรจาต่อรองหลังจากความขัดแย้งอันโหดร้ายมาหลายปี

Maung Saungkha ซึ่งเคยเป็นกวีและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน การเปลี่ยนแปลงจากชีวิตพลเรือนไปสู่สงครามกองโจรนั้นชัดเจนมาก ก่อนสงคราม เขาสำเร็จการศึกษาสาขาวิศวกรรมเคมีที่โด่งดังจากบทกวีที่ล้อเลียนชนชั้นนำทางการเมืองของเมียนมาร์ รวมถึงบทกวีเสียดสีเกี่ยวกับอดีตประธานาธิบดี เต็ง เส่ง (Thein Sein) ซึ่งทำให้เขาได้รับโทษจำคุก 6 เดือนในปี 2559

“ผมไม่ได้อยากเป็นทหาร แต่เราต้องเสียสละเพื่อคนรุ่นต่อไป เราไม่สามารถทรยศต่อผู้คนที่เสียชีวิตได้ เราต้องรักษาความฝันของเราให้คงอยู่ต่อไป” Maung Saungkha กล่าว

การสรรหากำลังพล ฝึกอบรมและจัดหาอาวุธ ยังคงเป็นความท้าทายในแต่ละวันสำหรับ BPLA ซึ่งทำงานร่วมกับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่และมียุทโธปกรณ์ครบครันกว่า อย่างกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และกองกำลังติดอาวุธของชาวโกก้าง อย่างกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNDAA) โดยนักรบส่วนใหญ่อายุยังน้อย มีอุดมการณ์ และขับเคลื่อนด้วยความฝันร่วมกันอย่างอิสรภาพ

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า แม้จะเสียพื้นที่ไป แต่รัฐบาลทหารยังคงรักษาข้อได้เปรียบสำคัญเอาไว้ได้ โดยมีอาวุธจากรัสเซีย จีน เกาหลีเหนือ และอิสราเอล และเงินทุนจากหยก ทับทิม ไม้สักที่ปล้นมา รวมถึงธุรกิจผิดกฎหมายบางส่วน ตั้งแต่ยาเสพติดไปจนถึงการฉ้อโกง กองทัพของรัฐบาลทหารยังคงห่างไกลจากความพ่ายแพ้ โดยใช้กำลังทางอากาศอย่างโหดร้าย โจมตีค่ายกบฏและพื้นที่พลเรือนอย่างรุนแรงมากขึ้น แม้กำลังภาคพื้นที่จะถอนตัวออกจากแนวหน้าก็ตาม

เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว กองทักฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมาใช้การโจมตีทางอากาศสังหารผู้คนไป 28 ราย รวมทั้งเด็ก ที่ค่ายกักกันในรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นที่ที่เกิดการสู้รบรุนแรงที่สุด การโจมตีครั้งนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ากองทัพพึ่งพาอำนาจทางอากาศเพื่อชดเชยอำนาจการควบคุมภาคพื้นดินที่ลดน้อยลง การที่เมียนมาเข้าสู่ภาวะโกลาหลทำให้ผู้คนหลายล้านคนต้องอพยพออกจากบ้านเรือน องค์การสหประชาชาติ (UN) ประมาณการผู้พลัดถิ่นฐานจากความขัดแย้งไว้ที่ราว 3.5 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคนในเวลาเพียงปีเดียว และมีพลเรือนเสียชีวิตมากกว่า 5,350 ราย

คนหนุ่ม-สาวจำนวนมากในเมียนมาต้องเผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบาก หากไม่เข้าร่วมกับกลุ่มกบฏหรือเสี่ยงหลบหนีข้ามชายแดนไปยังประเทศไทยหรือไปไกลถึงมาเลเซีย เพื่อหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหารเนื่องจากกำลังพลในกองทัพของฝ่ายรัฐบาลทหารลดลง แต่ผู้ที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายอาจตกเป็นเหยื่อของผู้ค้ามนุษย์หรือเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่ฉ้อฉลได้ง่าย และมักถูกบังคับให้ใช้ชีวิตในเงามืดในต่างแดน ถึงกระนั้น พวกเขายังคงเป็นเส้นเลือดใหญ่ของครอบครัวในบ้านเกิด โดยส่งเงินกลับไปยังประเทศที่ถูกทำลายด้วยสงครามและความยากจน

ความวุ่นวายในปัจจุบันของเมียนมานั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความหวังอันสั้นที่เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งปี 2558 ซึ่งได้รัฐบาลเป็นพรรรค NLD ภายใต้การนำของ อองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) ในเวลานั้น เศรษฐกิจเปิดกว้างขึ้น เสรีภาพในการแสดงออกเริ่มเฟื่องฟู และการลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาผ่านบริษัทต่างๆ ที่มีพนักงานเป็นรุ่นต่อมา คนเหล่านี้พร้อมที่จะเรียกร้องอนาคตที่เสรีและมั่งคั่งกว่าซึ่งคนรุ่นพ่อแม่ของพวกเขาเคยถูกปฏิเสธ

ดูเหมือนว่าประเทศอาจจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในที่สุด หลังจากการปกครองโดยทหารที่กัดกร่อนมาหลายทศวรรษ ซึ่งตามมาหลังจากเมียนมาได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491 แต่กองทัพก็ไม่เคยยอมปล่อยอำนาจอย่างแท้จริง และการรัฐประหารในปี 2564 ได้ทำลายภาพลวงตาของความก้าวหน้าที่ยั่งยืนทั้งหมด วันนี้ อองซานซูจี ในวัย 79 ปี ต้องกลับไปถูกจองจำอีกครั้ง และอิทธิพลของสตรีผู้นี้ซึ่งเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพก็ดูจะลดลง

ขณะเดียวกัน กลไกโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลทหารยังคงผลิตเรื่องราวที่บิดเบือนเกี่ยวกับความก้าวหน้าและความมั่นคง สื่อของรัฐ เช่น Global New Light of Myanmar ซึ่งเป็นสื่อภาษาอังกฤษ เผยแพร่รายงานการเก็บเกี่ยวครั้งประวัติศาสตร์ ความพยายามในการสร้างใหม่เพื่อต่อต้านกองกำลังก่อการร้าย และศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจจะหดตัวและองค์กรอาชญากรรมจะเฟื่องฟูก็ตาม

การควบคุมอินเตอร์เน็ตที่เข้มงวดกลับมาอีกครั้ง และในเมืองใหญ่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหาร ความหวาดระแวงและสงสัยก็เกิดขึ้นมากมาย ไฟฟ้าดับเป็นระยะๆ และไฟฟ้าถูกปันส่วนในย่างกุ้ง เมืองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเมียนมา เป็นการเตือนใจทุกวันว่าเศรษฐกิจกำลังติดขัด ซึ่ง ไซ อาร์การ์ (Sai Arkar) จากกลุ่มรณรงค์สิทธิมนุษยชน Fortify Rights กล่าวว่า คนทั้งรุ่นได้รับผลกระทบ หลายคนออกจากประเทศไปไม่ว่าด้วยวิธีที่ถูกหรือผิดกฎหมาย นี่คือภาวะสมองไหลครั้งใหญ่ของประเทศ และทุกครัวเรือนที่มีคนหนุ่ม-สาวได้รับผลกระทบ

“ตอนนี้ผู้คนในเมียนมาไม่มีเสรีภาพใดๆ เลย พวกเขาไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก พวกเขาไม่สามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองได้ หากคุณโพสต์อะไรทางออนไลน์ คุณจะถูกจับกุม สิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขาถูกละเมิด” ไซ กล่าว

แม้เศรษฐกิจจะซบเซา โดย ธนาคารโลก (World Bank) ประเมินว่าเศรษฐกิจเมียนมาจะหดตัวลงร้อยละ 1 ในปี 2568 หลังจากที่เคยเติบโตอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 6.6 ก่อนสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 แต่การทุจริตและอาชญากรรมกลับเพิ่มขึ้น การค้ายาเสพติด การลักลอบขนอาวุธ และการฉ้อโกงทำให้เมียนมากลายเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมผิดกฎหมาย ส่งผลให้คนในแวดวงรัฐบาลทหารร่ำรวยขึ้นในขณะที่ประชาชนทั่วไปต้องดิ้นรนเอาตัวรอด

รายงานข่าวทิ้งท้ายว่า ในขณะที่บรรดานายพลของเมียนมายังคงแยกตัวอยู่ตามลำพังในกรุงเนปิดอว์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเหนือกว่าทางทหาร อย่างไรก็ตาม จีนซึ่งเคยเป็นผู้สนับสนุนอย่างเหนียวแน่นกลับดูสั่นคลอนลง เนื่องจากรัฐบาลทหารสูญเสียการควบคุมพื้นที่ชายแดนที่สำคัญต่อผลประโยชน์ของจีน ส่วนกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ก็ไม่อนุญาตให้ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมประชุม ซึ่งล่าสุดคือการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของกลุ่มชาติอาเซียน เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

มาเลเซีย ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนแบบหมุนเวียนในปี 2568 ได้เรียกร้องต่อรัฐบาลทหารเมียนมา ให้ความสำคัญกับการหยุดยิงมากกว่าการเลือกตั้ง แต่ มิน อ่อง หล่าย ไม่ได้แสดงความต้องการประนีประนอม ความอยู่รอดทางการเมืองของเขา และบางทีอาจรวมถึงเรื่องส่วนตัวด้วย ล้วนเกี่ยวพันกับชะตากรรมของรัฐบาลทหาร

ดูเหมือนว่าเหล่านายพลที่ตกอยู่ในสถานการณ์คับขันจะยื่นกิ่งมะกอกในเดือน ก.ย. 2567 โดยพยายามหาทางเจรจาสันติภาพกับฝ่ายต่อต้าน ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นการยอมรับจุดอ่อนที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธอย่างรวดเร็วโดยกลุ่มต่อต้านติดอาวุธที่ยังคงระแวงต่อเจตนาที่แท้จริงของคณะทหาร และสำหรับหนึ่งในผู้นำนักรบฝ่ายต่อต้านอย่าง Maung Saungkha เขายอมรับว่า เส้นทางของตนและลูกน้องไม่อาจหวนกลับ

““ผมเป็นกวี..แต่ตอนนี้ผมจำเป็นต้องทำสงคราม” Maung Saungkha กล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณเรื่องจาก

https://www.scmp.com/week-asia/people/article/3296205/asias-forgotten-war-generation-sacrifices-its-youth-defying-myanmars-brutal-junta

043...

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ปธน.อิหร่านประกาศสิ้นสุด\'สงคราม 12 วัน\' เดินหน้าฟื้นฟูประเทศ ปธน.อิหร่านประกาศสิ้นสุด'สงคราม 12 วัน' เดินหน้าฟื้นฟูประเทศ
  • \'อังกฤษ\'เตรียมประกาศมาตรการคว่ำบาตร\'รัสเซีย\'รอบใหม่ 'อังกฤษ'เตรียมประกาศมาตรการคว่ำบาตร'รัสเซีย'รอบใหม่
  • จากฝิ่นถึงยาบ้า!  ‘เมียนมา’สงครามกลางเมืองยืดเยื้อ-ยาเสพติดเฟื่องฟู จากฝิ่นถึงยาบ้า! ‘เมียนมา’สงครามกลางเมืองยืดเยื้อ-ยาเสพติดเฟื่องฟู
  • กองทัพเมียนมาประกาศขยายเวลาหยุดยิงถึงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ กองทัพเมียนมาประกาศขยายเวลาหยุดยิงถึงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้
  • \'กู้ภัย-นักข่าว\'กลายเป็นเหยื่อ! \'อิสราเอล\'ถล่ม\'กาซา\'ดับเพิ่ม 30 ราย 'กู้ภัย-นักข่าว'กลายเป็นเหยื่อ! 'อิสราเอล'ถล่ม'กาซา'ดับเพิ่ม 30 ราย
  • เมียนมาเกิดแผ่นดินไหวขนาด5.3กลางดึก ปชช.ระทึกเขย่า6ครั้งรวด เมียนมาเกิดแผ่นดินไหวขนาด5.3กลางดึก ปชช.ระทึกเขย่า6ครั้งรวด
  •  

Breaking News

ชายพลัดตกอาคารเรียน ชั้น 6 โรงเรียนดังโคราชเสียชีวิต

ทล.จับสาวซื้อรถหลุดจำนำสวมทะเบียนใช้งาน

ฝ่ายค้านรวมพลัง!! ประสานมือ 5 พรรค 'อนุทิน'ลั่นพร้อมตรวจสอบ'รัฐบาล'เต็มที่

สมศักดิ์ศรีสาวบุรีรัมย์! 'ลิซ่า ลลิษา'โชว์สกิลเทพตำส้มตำปลาร้า ดันอาหารไทยสู่สายตาชาวโลก

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved