9 มี.ค. 2568 นสพ.South China Morning Post ของฮ่องกง เสนอรายงานพิเศษ Beauty beyond borders: the rise and rise of South Korea’s plastic surgery empire เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2568 ระบุว่า ที่เกาหลีใต้ นอกจากการทำศัลยกรรมเสริมความงามจะเป็นวิถีชีวิตปกติของชาวแดนกิมจิแล้ว ยังเป็นอีกช่องทางที่ดึงดูดเม็ดเงินจากชาวต่างชาติที่อยากสวย – หล่อ ให้บินลัดฟ้ามาใช้บริการมีดหมอที่นี่ได้ด้วย
เกาหลีใต้นั้นเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดศัลยกรรมตกแต่งความงามเกือบร้อยละ 25 ของโลก และประชากร 9 ใน 1,000 คนเคยเข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่ในเดือน ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา มีกระแสหนึ่งที่ฮือฮามาก โฆษณาศัลยกรรมตกแต่งชุดหนึ่งถูกนำไปติดไว้ข้างรถบัสและป้ายรถเมล์ทั่วกรุงโซล ใบหน้าของนักแสดงสาว จอน จองซอ (Jeon Jong-seo) และ จาง ยุนจู (Jang Yoon-ju) บนโปสเตอร์นั้นดึงดูดความสนใจของหลายๆ คน
คังนัม ออนนี (Gangnam Unni) ผู้รับผิดชอบแคมเปญภายใต้สโลแกน "ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อความสวยงาม" เป็นแพลตฟอร์มข้อมูลความงามและการแพทย์ชั้นนำของเกาหลีใต้ที่เชื่อมโยงผู้ใช้มากกว่า 6.7 ล้านคนกับคลินิกผิวหนังและศัลยกรรมตกแต่ง 3,700 แห่งทั่วประเทศและญี่ปุ่น ซี่งถูกยกย่องว่าเป็นสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพที่จะเป็นยูนิคอร์น เนื่องจากบริษัทแม่ Healing Paper มีรายได้เกือบ 29 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 และกำลังเข้าสู่ตลาดในญี่ปุ่นและไทย ในปีเดียวกันนั้น ยังได้เปิดตัว ออนนี (Unni) ซึ่งเป็นบริการข้ามพรมแดนหลายภาษาที่ช่วยให้ผู้รับบริการจาก 104 ประเทศสามารถเข้าถึงคลินิกในเกาหลีใต้ได้
คังนัม (Gangnam หรือบ้างก็เรียก “กังนัม”) เป็นเขตใจกลางอาณาจักรศัลยกรรมตกแต่งของกรุงโซล ส่วนออนนีในภาษาเกาหลีแปลว่า “พี่สาว” ตามรายงานของสถาบันศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าและเสริมสร้างใบหน้าแห่งเกาหลี คลินิกศัลยกรรมตกแต่งมากกว่า 600 แห่งในกรุงโซลประมาณร้อยละ 55 กระจุกตัวอยู่ในย่านกังนัม จากโฆษณาล่าสุดของ คังนัม ออนนี ที่ได้ดาราสาวชั้นนำมาร่วมงาน แสดงให้เห็นว่าความเต็มใจของดาราสาวชาวเกาหลีใต้ที่จะอยู่ร่วมกับอุตสาหกรรมนี้หรือเปิดเผยเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเองในการเข้ารับการผ่าตัด ทำให้ภาพลักษณ์ของศัลยกรรมตกแต่งในประเทศดีขึ้น
ลี ซิอัน (Lee Si-an) ผู้เข้าแข่งขันหญิงยอดนิยมจากซีรีส์ Singles Inferno ซีซั่นล่าสุดของ Netflix เป็นหนึ่งในดาราสาวหลายคนที่ได้รับการสนับสนุนและความสนใจจากแฟนๆ มากขึ้น หลังจากที่เธอรู้สึกสบายใจมากในการเปิดเผยขั้นตอนการทำศัลยกรรมใบหน้าที่ผ่านมาของเธอ การที่เธอเป็นผู้เข้าแข่งขันที่ได้รับความนิยมสูงสุดในรายการหาคู่ยังถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงชัยชนะของคลินิกศัลยกรรมตกแต่งอีกด้วย
เดวิด ทิซซาร์ด (David Tizzard) อาจารย์ด้านการศึกษาเกาหลีที่มหาวิทยาลัยสตรีโซล กล่าวถึงการยึดติดกับประสบการณ์ด้านสุนทรียศาสตร์เพื่อรักษาทุนทางสังคมและวัฒนธรรมในเกาหลีใต้ว่าเป็น "ลัทธิรูปลักษณ์" ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันทั่วไปในวัฒนธรรมสมัยนิยม สำหรับบางคน ลัทธิรูปลักษณ์และการมุ่งเน้นที่ความงามเป็นเรื่องดี เป็นวิธีการปรับปรุงและพัฒนาตนเอง โดยมีต้นกำเนิดมาจากแนวคิดดั้งเดิมของขงจื๊อเกี่ยวกับการปลูกฝังตนเอง
ลี คุนฮี (Lee Kun-hee) ประธานสถาบันศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าและเสริมสร้างใบหน้าแห่งเกาหลี และศัลยแพทย์ในกรุงโซล กล่าวว่า เมื่อการแข่งขันที่รุนแรงเกิดขึ้นในเกาหลีใต้ตั้งแต่ช่วงปี 2543 ผู้คนเริ่มเชื่อมโยงรูปลักษณ์ภายนอกที่แข็งแกร่งกับการมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันในสังคม มีแนวคิดที่ว่าผู้คนเริ่มเข้ารับการศัลยกรรมตกแต่งเพื่อให้ได้รูปลักษณ์ที่ดี ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาหางานได้ง่ายขึ้น
หมอลี ยังกล่าวด้วยว่า ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากขึ้นในวัย 50 และ 60 ปี รวมไปถึงผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี กลายมาเป็นผู้รับบริการประจำของคลินิกศัลยกรรมตกแต่งในกรุงโซล ที่สำคัญกว่านั้น โลกเริ่มเข้ามาอยู่ในอาณาจักรศัลยกรรมตกแต่งของเกาหลีใต้ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของ Expert Market Research ที่พบว่า มูลค่าตลาดศัลยกรรมเสริมความงามของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเป็น 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566
เมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศเกาหลีใต้ (KTO) ตระหนักถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของประเทศ องค์กรที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการท่องเที่ยวจึงได้จัดตั้งทีมแพทย์และสุขภาพขึ้นในปี 2553 เพื่อเป็นผู้นำความพยายามดังกล่าว โดย ลี ดงซุก (Lee Dong-suk) ผู้อำนวยการทีมกล่าวว่า พวกเขาเริ่มมีความก้าวหน้ามากขึ้นหลังจากเห็นว่าคนชนชั้นกลางในต่างประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์ที่ไม่ดีมักจะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อรับการรักษา และพวกเขาจะไม่เพียงแค่ไปเยี่ยมโรงพยาบาลเท่านั้น พวกเขาจะจองโรงแรม ออกไปทานอาหาร และไปช้อปปิ้ง
สอดคล้องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นในช่วงทศวรรษ 2010 (ปี 2553 -2562) โดยปี 2019 ถือเป็นปีที่สำคัญมาก โดยมีผู้รับบริการเป็นชาวต่างชาติเกือบ 500,000 รายเดินทางมายังเกาหลีใต้ โดย 90,500 รายเข้ารับการรักษาที่คลินิกศัลยกรรมตกแต่ง ปีดังกล่าวถือเป็นปีที่สำคัญสำหรับกระแสสื่อบันเทิงของเกาหลีใต้ อาทิ ภาพยนตร์เรื่อง Parasite (ชนชั้นปรสิต) คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ ขณะที่อัลบั้ม Map of the Soul: Persona ของบอยแบนด์อย่าง BTS ทำลายสถิติด้วยการขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ตเพลงของสหรัฐอเมริกาถึง 3 ครั้งภายในปีเดียว
แม้ว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังเพิ่มมากขึ้นต้องหยุดชะงักลง แต่ ลี ดงซุก กล่าวว่า สถานการณ์นี้กลับกลายเป็นผลดีต่อแวดวงศัลยธรรมความงาม การเติบโตของบริการสตรีมมิ่งออนไลน์ เช่น Netflix สร้างสภาพแวดล้อมให้สื่อบันเทิงจากเกาหลีใต้แพร่กระจายไปทั่วโลก และกระแสเกาหลีฟีเวอร์ครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้น
ในปี 2566 มีผู้รับบริการชาวต่างชาติ 114,000 คนที่เข้ารับบริการศัลยกรรมตกแต่งในเกาหลีใต้ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 2,850 คนในปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพเกาหลีรวบรวมข้อมูลเป็นครั้งแรก แม้ว่าผู้ป่วยในช่วงวัย 20 และ 30 ปีจะมีสัดส่วนมากกว่ากลุ่มผู้ป่วยทั้งหมด แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา และไทย ตามลำดับ
แอนนา โอเกย์ (Anna Ogay) หญิงชาวรัสเซียวัย 40 ปี เดินทางไปเกาหลีใต้ครั้งแรกในปี 2556 หลังจากเป็นแฟนละครซีรีส์แดนกิมจิ และได้เดินทางไปเยือนในฐานะนักท่องเที่ยวอยู่หลายครั้ง กระทั่งต่อมาตัดสินใจลงหลักปักฐานที่นั่น และเป็นที่รู้จักในชื่อ แอนนา โอห์ (Anna Oh)
นอกจากทำงานเป็นผู้ประสานงานด้านการแพทย์ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของเมืองซองนัมสำหรับผู้รับบริการชาวต่างชาติแล้ว เธอยังเป็นพนักงานชั่วคราวในคลินิกศัลยกรรมตกแต่งชั้นนำ ซึ่งต้องติดต่อกับผู้ป่วยทั่วโลก ตั้งแต่การวางแผนการรับที่สนามบินและการจองคลินิกไปจนถึงการทำหน้าที่เป็นล่าม โอห์ดูแลผู้ป่วยโดยเฉลี่ย 5 ถึง 10 รายต่อเดือน ขึ้นอยู่กับประเภทของขั้นตอนการรักษา โดยทั่วไปผู้ป่วยจะใช้เวลา 4 ถึง 16 วันในเกาหลีใต้
“ในขณะที่ผู้คนในรัสเซียหรือประเทศในยุโรปพยายามปิดบังคนอื่นถึงความจริงที่ว่าพวกเขาได้รับการศัลยกรรมตกแต่ง ผู้คนในเกาหลีใต้จะถามกันว่าพวกเขาเข้ารับการศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแบบใด เช่นเดียวกับการสนทนาปกติทั่วไป ในเกาหลีใต้ การไปคลินิกศัลยกรรมตกแต่งก็เหมือนกับการไปร้านตัดผมหรือไปกินไอศกรีม” โอห์ กล่าว
เพื่อขอความช่วยเหลือในการติดต่อกับผู้ป่วยชาวต่างชาติ แอนนา โอห์ จึงสร้างกลุ่ม Facebook ขึ้นในปี 2562 เพื่อสร้างชุมชนที่สนใจคลินิกในเกาหลีใต้และแนวทางปฏิบัติต่างๆ ปัจจุบันกลุ่มนี้มีสมาชิกมากกว่า 8,600 คนที่ถามและตอบคำถามเกี่ยวกับคำแนะนำของคลินิกและแบ่งปันประสบการณ์ในเกาหลีใต้ แต่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจศัลยกรรมเสริมความงาม อีกด้านหนึ่งก็นำมาซึ่งการระบาดของนายหน้าผิดกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ
ในขณะที่ แอนนา โอห์ มีใบรับรองการทำงานในตำแหน่งผู้ประสานงานทางการแพทย์และล่ามแปลภาษา บรรดานายหน้าผิดกฎหมายก่อปัญหาทั้งการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด การหลอกลวง และการสนับสนุนที่ไม่เพียงพอ โดยหลังจากหลอกล่อลูกค้าด้วยแพ็คเกจที่ดูดีเกินจริงแล้ว คนเหล่านั้นก็ไม่รับผิดชอบต่อบริการที่ไม่ได้คุณภาพและการหลอกลวงที่เกิดขึ้น โอห์ เล่าว่า มีนายหน้าผิดกฎหมายเหล่านี้อยู่มากมายในกลุ่มเฟซบุ๊กของตน ซึ่งทำให้ชื่อเสียงของอุตสาหกรรมพังทลาย
ผลกระทบอีกประการหนึ่งของกระแสนิยมการทำศัลยกรรมในเกาหลีใต้ คือแรงกดดันของสังคม อาทิ อัน ซองมี (An Sung-mi) หยิงวัย 35 ปี ในกรุงโซล ซึ่งเป็นเมืองที่ผู้หญิงเกือบ 33 เปอร์เซ็นต์เข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรมความงาม ซึ่งเป็นเมืองที่ผู้หญิงเกือบร้อยละ 33 หรือเกือบ 1 ใน 3 เข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรมความงาม ตามข้อมูลจาก The International Society of Aesthetic Plastic Surgery อัน ซองมี เป็นหนึ่งในนางแบบไม่กี่คนในเอเจนซี่ของเธอที่ไม่เคยทำศัลยกรรมตกแต่ง และด้วยคำถามจากคนรอบข้างก็ทำให้กลายเป็นคนไม่ค่อยชอบเข้าสังคมไปโดยปริยาย
“เพื่อนๆ ของฉันแนะนำให้ฉันไปทำตาสองชั้นมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ฉันเรียนจบและเข้าร่วมเอเจนซี่บันเทิง เพื่อนสนิทคนหนึ่งยังถามฉันด้วยซ้ำว่าอยากไปตามเธอไปที่คลินิกไหม” อัน ซองมี กล่าว
ขอบคุณเรื่องและภาพจาก
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี