12 ก.ค. 2568 สำนักข่าว Anadolu Agency (AA) ของตุรกี เสนอรายงานพิเศษ Where does Thailand go next after Paetongtarn’s suspension? ว่าด้วยฉากทัศน์การเมืองไทยเมื่อ แพทองธาร ชินวัตร (Paetongtarn Shinawatra) นายกรัฐมนตรีของไทย ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการสอบสวนกรณีคลิปหลุดเสียงสนทนากับ ฮุน เซน (Hun Sen) ประธานวุฒิสภาและอดีตนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา
โดยสื่อตุรกีระบุว่า แพทองธารเป็นนายกฯ ไทยคนที่ 2 นับตั้งแต่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เมื่อปี 2566 ที่ต้องพบกับชะตากรรมเช่นนี้ ต่อจาก เศรษฐา ทวีสิน (Srettha Thavisin) ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากแต่งตั้งบุคคลที่คุณสมบัติมีปัญหาเข้ามาทำงานการเมือง ขณะที่แพทองธาร การใช้ถ้อยคำพาดพิงนายทหารระดับสูงในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ระหว่างการสนทนากับอดีตผู้นำกัมพูชา แม้จะมีจุดประสงค์เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา แต่กลับทำให้ประชาชนไม่พอใจ
กรณีคลิปหลุดดังกล่าวนำไปสู่การที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) 36 คน ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเอาผิดฐานละเมิดจริยธรรม รวมถึงสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างพิจารณาคดีด้วย ทำให้ ณ ปัจจุบัน ภูมิธรรม เวชยชัย (Phumtham Wechayachai) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของไทย เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งนายกฯ แทน ซึ่ง ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ (Thitinan Pongsudhirak) อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า สถานการณ์เวลานี้เพิ่มความเสี่ยงทางการเมืองไทยอย่างมีนัยสำคัญ
“การที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งแพทองธารหยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ความเสี่ยงทางการเมืองและผลการดำเนินงานด้านนโยบายของไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เรื่องอื้อฉาวกลายเป็นวิกฤตการณ์เต็มรูปแบบหลังจากสายด่วนที่รั่วไหลออกมาบ่งชี้ว่านายกรัฐมนตรีไทย ได้ลดทอนตำแหน่งของตนด้วยการยอมอ่อนข้อให้กับฮุน เซน” ศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าว
แพทองธารมีเวลา 15 วันในการทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งท้ายที่สุดศาลอาจปลดเธอออกจากตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ก็ได้ แต่แม้แพทองธารจะรอดพ้นจากข้อหาดังกล่าวและยังคงเป็นนายกฯ ต่อไป อนาคตทางการเมืองของเธอก็ยังคงมืดมนอยู่ดี โดย ศ.ดร.ฐิตินันท์ ขยายความประเด็นนี้ว่า แพทองธารอาจถูกมองว่าเป็นกำลังที่หมดแรงแล้ว และความยาวนานทางการเมืองของเธอในช่วง 2 ปีที่เหลือของวาระรัฐสภาปัจจุบันยังคงเป็นที่น่าสงสัย
นักวิชาการผู้นี้ สังเกตเห็นปัจจัยทั้งการประท้วงบนท้องถนนที่ทวีความรุนแรงขึ้นโดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ความไม่พอใจของประชาชน และการวิพากษ์วิจารณ์ในรัฐสภา พร้อมกับเตือนด้วยว่า ความไม่แน่นอนที่ยืดเยื้อและรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพน่าจะกระตุ้นให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมเรียกร้องให้กองทัพเข้าควบคุมประเทศ ความเสี่ยงของการแทรกแซงดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
บทสนทนาที่รั่วไหลออกมานี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากทหารไทยและกัมพูชาปะทะกันเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2568 บริเวณชายแดนจุดที่มีข้อพิพาท ส่งผลให้ทหารกัมพูชาเสียชีวิต จุดชนวนความตึงเครียดที่มีมายาวนานในภูมิภาคขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่ง ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง (Wanwichit Boonprong) รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า กรณีคลิปหลุดที่ปรากฏนั้นทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่พอใจ ถึงขั้นที่บอกว่าแพทองธารทรยศต่อประเทศชาติและทำให้ไทยเสียเปรียบในการเจรจากับกัมพูชา
“การเลือกตั้งก่อนกำหนดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมาจากคนของพรรคเพื่อไทย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดนี้ก็ไม่น่าจะอยู่จนครบวาระ โดยคาดการณ์ว่าน่าจะมีการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งภายในต้นปี 2569” ผศ.ดร.วันวิชิต กล่าว
แมทธิว วีลเลอร์ (Matthew Wheeler) นักวิเคราะห์อาวุโสจาก International Crisis Group องค์กรไม่แสวงหากำไร และเป็นองค์กรระดับโลกด้านการศึกษาและจับตาประเด็นความเสี่ยงต่างๆ ทั่วโลก กล่าวว่า กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในการเมืองไทย โดยอธิบายว่า นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยหากไม่เป็นกลุ่มที่เชื่อมโยงกับ ทักษิณ ชินวัตร (Thaksin Shinawatra) อดีตนายกรัฐมนตรี ก็จะมีจุดยืนไปทางฝ่ายอนุรักษ์นิยมและกองทัพ แต่นายกฯ ที่มาจากขั้วการเมืองของทักษิณ หากไม่ถูกปลดด้วยคำสั่งศาลก็จะถูกกองทัพทำรัฐประหาร ซึ่งรวมถึงตัวของทักษิณเองด้วย
ทักษิณ มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยจากธุรกิจด้านโทรคมนาคม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยในปี 2544 ก่อนจะถูกทำรัฐประหารในปี 2549 และต้องลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศอยู่หลายปีซึ่งก็ถูกมองว่าเป็นการหลบหนีคดีอาญา กระทั่งในปี 2566 จึงได้เดินทางกลับประเทศไทย ขณะที่แพทองธาร บุตรสาวของทักษิณซึ่งถูกผลักดันให้เป็นทายาททางการเมืองของเขา ได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงเป็นประชากรในชนบท
ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 พรรคเพื่อไทยที่ได้จำนวนที่นั่ง สส. ในสภา เป็นอันดับ 2 ได้จัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับขั้วการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่นำโดยพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่เปราะบาง และหลังจากนั้น เมื่อปรากฏกรณีคลิปหลุดเสียงสนทนาระหว่างแพทองธาร ชินวัตรกับฮุน เซน พรรคภูมิใจไทยก็ประกาศถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า ระหว่างแพทองธาร กับ อนุทิน ชาญวีรกูล (Anutin Charnviraku) หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มีความขัดแย้งกันอยู่ด้วย
มาร์ค โคแกน (Mark Cogan) รองศาสตราจารย์ด้านสันติภาพและการศึกษาความขัดแย้ง มหาวิทยาลัยคันไซไกได ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า แม้แพทองธารจะรอดพ้นการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งก่อนได้ แต่รัฐบาลผสมที่อ่อนแอลงภายใต้ความตึงเครียดที่เกิดจากลัทธิชาตินิยม อาจไม่สามารถต้านทานรัฐบาลผสมอื่นได้
รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า พรรคก้าวไกลซึ่งได้ที่นั่ง สส. มากที่สุดในการเลือกตั้งปี 2566 ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเนื่องจากเสนอนโยบายแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่การยุบพรรคดังกล่าวก็ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองในไทยวุ่นวายมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน โดย โคแกน ระบุว่า ภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิตของไทยยังคงแสดงให้เห็นถึงสัญญาณของการต้องดิ้นรนให้ฟื้นตัว อาทิ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเยือนยังไม่กลับสู่ระดับก่อนสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19
ตามข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ระหว่างปี 2563 - 2567 ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของไทยเติบโตเพียงร้อยละ 2.6 เทียบกับร้อยละ 18 ในช่วง 5 ปีก่อนหน้า และธนาคารโลกเพิ่งปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2568 ลงเหลือเพียงร้อยละ 1.8 โดยอ้างถึงภัยคุกคามจากมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกา ซึ่ง โคแกน มองว่า ประเทศไทยยังคงไม่ก้าวไปไหนท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้ วาระทางเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยที่หยุดชะงักลงเนื่องจากความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล ได้พังทลายลงแล้ว
รายงานของสื่อตุรกีทิ้งท้ายว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ที่เพิ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าศาลรัฐธรรมนูญจะมีสั่งให้แพทองธารหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี มีชื่อของแพทองธารในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งทำให้เธอยังคงเข้าร่วมประชุม ครม. และมีบทบาทต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม เสียงข้างมากที่เฉียดฉิวของรัฐบาลที่ 261 ต่อ 234 เสียง ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลที่มีขนาดเล็กมีอำนาจควบคุมนโยบายได้ไม่สมดุล ส่งผลให้การควบคุมนโยบายของพรรคเพื่อไทยอ่อนแอลง
หากแพทองธารถูกปลดออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะต้องมาจากบัญชีรายชื่อพรรคที่ยื่นก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุด และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีความเป็นไปได้ ขณะนี้ ประเทศไทยยังคงอยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมือง โดยตระกูลชินวัตรถูกปิดล้อม รัฐบาลผสมกำลังอ่อนแอ และการชุมนุมประท้วงที่กำลังจะมาถึง
ขอบคุณเรื่องจาก
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี