13 ก.ค. 2568 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว Trump intensifies trade war with threat of 30% tariffs on EU, Mexico ระบุว่า โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ออกมาขู่สหภาพยุโรป (EU) และเม็กซิโกว่าจะใช้มาตรการกำแพงภาษี เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศหรือกลุ่มประเทศดังกล่าวในอัตราร้อยละ 30 ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2568 เป็นต้นไป หลังการเจรจาที่ยืดเยื้อมาหลายสัปดาห์ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุม
ในวันที่ 12 ก.ค. 2568 ทรัมป์ได้เปิดเผยผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social ว่าได้ส่งจดหมายแจ้งอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไปยัง เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน (Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และ คลอเดีย เชนบาม (Claudia Sheinbaum) ประธานาธิบดีเม็กซิโก ซึ่งผู้นำเม็กซิโก กล่าวถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดของทรัมป์ ว่า ตนเคยพูดมาตลอดว่าในกรณีเช่นนี้ สิ่งที่ต้องทำคือตั้งสติให้มั่นคงก่อนจะเผชิญกับปัญหาใดๆ
“เรายังมีความชัดเจนในสิ่งที่เราสามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ และสิ่งที่เราทำไม่ได้ และยังมีบางสิ่งที่ไม่อาจต่อรองได้ นั่นคืออำนาจอธิปไตยของประเทศเรา” เชนบาม กล่าว
ทรัมป์ได้ส่งจดหมายลักษณะเดียวกันนี้ไปยังประเทศคู่ค้าอีก 23 ชาติในสัปดาห์นี้ รวมถึงแคนาดา ญี่ปุ่น และบราซิล โดยกำหนดอัตราภาษีแบบครอบคลุมตั้งแต่ร้อยละ 20 – 50 รวมถึงภาษีทองแดงที่ร้อยละ 50 ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่าอัตราภาษีร้อยละ 30 ดังกล่าวแยกออกจากภาษีนำเข้าสินค้าทุกภาคส่วน โดยขยายความว่า สหรัฐฯ จะยังคงเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมที่ร้อยละ 50 และภาษีนำเข้ารถยนต์ร้อยละ 25
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า กำหนดเส้นตายวันที่ 1 ส.ค. 2568 ทำให้ประเทศเป้าหมายมีเวลาเจรจาข้อตกลงที่อาจลดภาษีนำเข้าที่ถูกคุกคามลง นักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์บางคนก็สังเกตเห็นรูปแบบการถอยกลับของทรัมป์ในการตอบโต้คำขู่เรื่องภาษี ทั้งนี้ จดหมายจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าทรัมป์กลับมาใช้ท่าทีทางการค้าที่แข็งกร้าวอีกครั้งเหมือนเมื่อเดือน เม.ย. 2568 เมื่อเขาประกาศใช้ภาษีศุลกากรแบบต่างตอบแทนกับคู่ค้าหลายราย ซึ่งส่งผลให้ตลาดร่วงลงก่อนที่ทำเนียบขาวจะชะลอการบังคับใช้
(รอยเตอร์) กราฟแสดงอัตราภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกา ที่ประกาศตั้งแต่ 7 ก.ค. 2568 เมื่อเทียบกับอัตราที่ประกาศก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2568 หรือเร็วกว่านั้น
แต่ด้วยตลาดหุ้นที่พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ทรัมป์จึงยังไม่มีทีท่าว่าจะชะลอสงครามการค้า ผู้นำสหรัฐฯ สัญญาว่าจะใช้ระยะเวลาที่ชะลอออกไป 90 วันนับจากเดือน เม.ย. 2568 ในการบรรลุข้อตกลงการค้าใหม่หลายสิบฉบับ แต่เอาเข้าจริงกลับบรรลุข้อตกลงกรอบกับอังกฤษ จีน และเวียดนามเท่านั้น
EU หวังว่าจะบรรลุข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุมกับสหรัฐฯ สำหรับกลุ่มประเทศสมาชิก 27 ประเทศ ขณะที่จดหมายของทรัมป์ถึง EU มีข้อเรียกร้องให้ยุโรปลดภาษีศุลกากรของตนเอง โดยระบุว่า EU ควรอนุญาตให้สหรัฐฯ เข้าถึงตลาดได้อย่างเปิดกว้างและสมบูรณ์โดยไม่เรียกเก็บภาษีศุลกากร เพื่อพยายามลดการขาดดุลการค้าจำนวนมาก ซึ่ง ฟอน เดอร์ เลเยน กล่าวว่า อัตราภาษีร้อยละ 30 จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกที่สำคัญ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อธุรกิจ ผู้บริโภค และผู้ป่วยทั้งสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก
“ในขณะที่สหภาพยุโรปจะยังคงทำงานเพื่อบรรลุข้อตกลงทางการค้า แต่สหภาพยุโรปจะดำเนินการทุกขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหภาพยุโรป รวมถึงการนำมาตรการตอบโต้ที่ได้สัดส่วนมาใช้หากจำเป็น” ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าว
กระทรวงเศรษฐกิจของเม็กซิโก ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2568 ระบุว่า ได้รับแจ้งว่าสหรัฐฯ จะส่งจดหมายระหว่างการประชุมกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ในวันที่ 11 ก.ค. 2568 ซึ่งกระทรวงฯ ได้กล่าวในที่ประชุมโต๊ะกลมว่านี่เป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและทางเม็กซิโกไม่เห็นด้วย อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า ระดับภาษีที่เม็กซิโกถูกสหรัฐฯ ตั้งกำแพงนั้นต่ำกว่าแคนาดาที่ถูกเรียกในอัตราร้อยละ 35 โดยทั้ง 2 ประเทศถูกสหรัฐฯ อ้างถึงกระแสเฟนทานิล แม้ข้อมูลจะแสดงให้เห็นว่าปริมาณยาเสพติดที่ยึดได้ที่ชายแดนเม็กซิโกนั้นสูงกว่าชายแดนแคนาดาอย่างมากก็ตาม
“เม็กซิโกช่วยผมรักษาความปลอดภัยชายแดน แต่สิ่งที่เม็กซิโกทำนั้นยังไม่เพียงพอ เม็กซิโกยังคงไม่สามารถหยุดยั้งกลุ่มค้ายาที่พยายามเปลี่ยนอเมริกาเหนือทั้งหมดให้กลายเป็นพื้นที่ค้ายาเสพติด” ทรัมป์ กล่าว
จีนเป็นแหล่งที่มาหลักของสารเคมีที่ใช้ในการผลิตเฟนทานิลซึ่งเป็นสารโอปิออยด์ ทางการสหรัฐฯ ระบุว่า เฟนทานิลทั้งหมดที่ยึดได้ในสหรัฐฯ มีเพียงร้อยละ 0.2 เท่านั้นที่มาจากฝั่งแคนาดา ขณะที่เฟนทานิลส่วนใหญ่มาจากชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก ขณะที่เม็กซิโกส่งออกสินค้ามากกว่าร้อยละ 80 ไปยังสหรัฐฯ และการค้าเสรีได้ผลักดันให้เม็กซิโกกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในปี 2566
เดิมทีสหภาพยุโรปหวังว่าจะบรรลุข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุม แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้ลดเป้าหมายลงและหันไปหาข้อตกลงกรอบการทำงานที่กว้างขึ้น เช่นเดียวกับที่อังกฤษเป็นตัวกลาง ซึ่งยังคงเหลือการเจรจารายละเอียด กลุ่มประเทศสมาชิก EU กำลังเผชิญกับแรงกดดันที่ขัดแย้งกัน เนื่องจากเยอรมนีซึ่งเป็นมหาอำนาจเรียกร้องให้มีข้อตกลงโดยเร็วเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมของตน ขณะที่สมาชิกอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส กล่าวว่าผู้เจรจาของสหภาพยุโรปไม่ควรยอมจำนนต่อข้อตกลงฝ่ายเดียวตามเงื่อนไขของสหรัฐฯ
แบร์นด์ ลังเก (Bernd Lange) ประธานคณะกรรมาธิการการค้าของรัฐสภายุโรป กล่าวว่า EU ควรออกมาตรการตอบโต้โดยเร็วที่สุดในวันที่ 14 ก.ค. 2568 และชี้ว่าท่าทีของผู้นำสหรัฐฯ เป็นการตบหน้าการเจรจา ไม่ใช่วิธีการจัดการกับคู่ค้าสำคัญ ขณะที่ จาค็อบ ฟังก์ เคิร์กการ์ด (Jacob Funk Kirkegaard) นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัยบรูเกลในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม แสดงความกังวลว่า จดหมายของทรัมป์เพิ่มความเสี่ยงที่สหภาพยุโรปจะใช้มาตรการตอบโต้ในลักษณะเดียวกับที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน
“ภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และจีนพุ่งสูงขึ้นพร้อมกันและก็ลดลงอีกครั้ง ไม่ได้ลดลงทั้งหมด แต่ก็ยังลดลงพร้อมกัน” เคิร์กการ์ด ระบุ
ตามข้อมูลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2568 ระบุว่า คำสั่งขึ้นภาษีศุลกากรอย่างต่อเนื่องของทรัมป์นับตั้งแต่กลับเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ได้เริ่มสร้างรายได้ใหม่ให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ หลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน รายได้จากภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ พุ่งสูงถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปีงบประมาณของรัฐบาลกลางจนถึงเมื่อเดือน มิ.ย. 2568
แต่อีกด้านหนึ่ง มาตรการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศยังสร้างความตึงเครียดให้กับความสัมพันธ์ทางการทูตกับพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐฯ บางราย อาทิ ชิเงรุ อิชิบะ (Shigeru Ishiba) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ญี่ปุ่นจำเป็นต้องลดการพึ่งพาสหรัฐฯ ชณะที่การต่อสู้เรื่องภาษีศุลกากรยังกระตุ้นให้แคนาดาและพันธมิตรในยุโรปบางส่วนพิจารณาการพึ่งพาความมั่นคงของสหรัฐฯ อีกครั้ง โดยบางรายต้องการซื้ออาวุธที่ไม่ใช่ของสหรัฐฯ
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.reuters.com/business/trump-announces-30-tariffs-eu-2025-07-12/
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี