21 ก.ค. 2568 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว 'Japanese First' party emerges as election force with tough immigration talk ระบุว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2568 ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคซันเซโตะ (Sanseito) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแนวขวาจัด ได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งพรรคดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนจากการประกาศเตือนถึงการรุกรานอย่างเงียบๆ ของผู้อพยพ และคำมั่นสัญญาที่จะลดภาษีและการใช้จ่ายด้านสวัสดิการ
พรรคซันเซโตะถือกำเนิดขึ้นจากการรณรงค์บนเว็บไซต์ยูทูบ ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งแพร่กระจายทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนและกลุ่มชนชั้นนำระดับโลก จากนั้นได้ก้าวเข้าสู่กระแสหลักทางการเมืองด้วยนโยบาย “คนญี่ปุ่นต้องมาก่อน (Japanese First)” การเลือกตั้งครั้งล่าสุดพรรคได้ที่นั่ง สว. เพิ่มมาอีก 14 ที่นั่ง เพิ่มจากเมื่อ 3 ปีก่อนที่ได้เพียง 1 ที่นั่ง จากทั้งหมด 248 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคมี สส. เพียง 3 ที่นั่ง
โซเฮย์ คามิยะ (Sohei Kamiya) หัวหน้าพรรคซันเซโตะ กล่าวภายหลังการเลือกตั้ง ว่า นโยบายคนญี่ปุ่นต้องมาก่อน หมายความถึงการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นด้วยการต่อต้านโลกาภิวัตน์ ไม่ได้หมายถึงการห้ามชาวต่างชาติเข้าญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง หรือขับไล่ชาวต่างชาติทุกคนออกจากญี่ปุ่นแต่อย่างใด
“เราถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพวกต่อต้านชาวต่างชาติและเลือกปฏิบัติ แต่ประชาชนเริ่มเข้าใจว่าสื่อนั้นผิด ส่วนซันเซโตะเป็นฝ่ายถูก" คามิยะ กล่าว
ก่อนลงเล่นการเมือง คามิยะเคยทำงานเป็นผู้จัดการซูเปอร์มาร์เก็ตและครูสอนภาษาอังกฤษ ในการกล่าวกับสื่อก่อนการเลือกตั้ง คามิยะ วัย 47 ปี ยอมรับว่าตนได้แรงบันดาลใจมาจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ขณะที่พรรคซันเซโตะ ถูกนำไปเปรียบเทียบกับพรรคการเมืองแบบประชานิยมฝ่ายขวาในยุโรป เช่น พรรค AFD ในเยอรมนี และพรรค Reform UK ในอังกฤษ แม้อุดมการณ์ดังกล่าวจะยังไม่หยั่งรากลึกในสังคมญี่ปุ่นก็ตาม
ซึ่งภายหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด คามิยะ เปิดเผยว่า ตนวางแผนที่จะเดินตามรอยเท้าของพรรคประชานิยมที่กำลังเติบโตในยุโรป โดยการสร้างพันธมิตรกับพรรคเล็กๆ อื่นๆ แทนที่จะร่วมมือกับรัฐบาล LDP ซึ่งครองอำนาจอยู่เกือบตลอดประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกของญี่ปุ่น ขณะที่อีกด้านหนึ่ง พรรค LDP ต้นสังกัดของนายกรัฐมนตรี ชิเงรุ อิชิบะ (Shigeru Ishiba) และพรรคโคแมย์โตะ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล สูญเสียเสียงข้างมากในสภาสูง ทำให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องหวังพึ่งพาการสนับสนุนจากฝ่ายค้านมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งสภาล่าง เมื่อเดือน ต.ค. 2567
ทั้งนี้ การสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำขึ้นก่อนการเลือกตั้งโดยสำนักข่าว NHK ของญี่ปุ่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งร้อยละ 29 ระบุว่า ประเด็นประกันสังคมและอัตราการเกิดที่ลดลงเป็นข้อกังวลหลักของพวกเขา รองลงมา ร้อยละ 28 ระบุว่ากังวลเกี่ยวกับราคาข้าวที่สูงขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปีที่ผ่านมา ส่วนปัญหาผู้อพยพอยู่ในอันดับที่ 5 ร่วม โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 7 ชี้ไปที่เรื่องนี้
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ข้อความของคามิยะดึงดูดความสนใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่รู้สึกหงุดหงิดกับภาวะเศรษฐกิจและค่าเงินที่อ่อนแอ ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนญี่ปุ่นสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาสินค้าที่ชาวญี่ปุ่นไม่สามารถจ่ายได้สูงขึ้นไปอีก รวมถึงภาวะสังคมสูงวัยของญี่ปุ่นที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วยังทำให้พบว่ามีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นสูงเป็นประวัติการณ์ที่ประมาณ 3.8 ล้านคนในปี 2567 ซึ่งแม้จะคิดเป็นเพียงร้อยละ 3 ของประชากรทั้งหมด หรือเป็นเพียงเศษเสี้ยวของสัดส่วนในสหรัฐฯ และยุโรปก็ตาม
โจชัว วอล์คเกอร์ (Joshua Walker) หัวหน้าสมาคมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐฯ กล่าวว่า ซันเซโตะกลายเป็นที่พูดถึงกันทั่วเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกา เนื่องมาจากกระแสต่อต้านต่างชาติและกระแสประชานิยม เรื่องนี้เป็นจุดอ่อนของพรรค LDP และอิชิบะมากกว่าสิ่งอื่นใด
การที่พรรคซันเซโตะให้ความสำคัญกับปัญหาผู้อพยพได้เปลี่ยนการเมืองของญี่ปุ่นไปทางขวาแล้ว เพียงไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลของนายกฯ อิชิบะได้ประกาศจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจชุดใหม่เพื่อต่อสู้กับ "อาชญากรรมและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม" ของชาวต่างชาติ และพรรคของเขาได้ให้คำมั่นว่าจะไม่ทนต่อปัญหาชาวต่างชาติลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
คามิยะ ซึ่งชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของพรรคในปี 2565 หลังจากมีชื่อเสียงโด่งดังจากการเรียกร้องให้จักรพรรดิญี่ปุ่นมีพระสนม ได้พยายามลดทอนแนวคิดที่ขัดแย้งบางประการที่พรรคเคยยึดถือ อย่างไรก็ตาม ระหว่างการหาเสียง คามิยะต้องเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการตราหน้านโยบายความเท่าเทียมทางเพศว่าเป็นความผิดพลาดที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงทำงานและขัดขวางไม่ให้มีลูก
เพื่อลดภาพลักษณ์ความ “เลือดร้อน” ของเขา และเพื่อขยายฐานเสียงให้กว้างไกลเกินกว่าผู้ชายวัย 20 และ 30 กว่าๆ ซึ่งเป็นแกนหลักของการสนับสนุนซันเซโตะ คามิยะจึงส่งผู้สมัครหญิงจำนวนมากลงสมัครในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2568 ซึ่งรวมถึงนักร้องสาวชื่อดัง ซายะ (Saya) ซึ่งคว้าที่นั่งในกรุงโตเกียวมาครอง
เช่นเดียวกับพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ พรรคซันเซโตะเรียกร้องให้ลดภาษีและเพิ่มสวัสดิการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งเป็นนโยบายที่ทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับฐานะการคลังและหนี้สาธารณะมหาศาลของญี่ปุ่น แต่ต่างจากพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ตรงที่ซานเซโตะมีบทบาทในโลกออนไลน์ที่ใหญ่กว่ามาก ซึ่งสามารถโจมตีสถาบันทางการเมืองของญี่ปุ่นได้ โดยช่องยูทูบของพรรคซันเซโตะมีผู้ติดตาม 400,000 คน มากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ บนแพลตฟอร์ม และมากกว่าพรรค LDP ถึง 3 เท่า ตามข้อมูลจาก socialcounts.org ซึ่ง คามิยะ กล่าวว่า ชัยชนะในสภาสูงครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น
“เรากำลังค่อยๆ เพิ่มจำนวนสมาชิกและบรรลุความคาดหวังของประชาชน ด้วยการสร้างองค์กรที่แข็งแกร่งและได้ที่นั่ง 50 หรือ 60 ที่นั่ง ผมเชื่อว่านโยบายของเราจะกลายเป็นความจริงในที่สุด” หัวหน้าพรรคซันเซโตะ กล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณเรื่องจาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/inter/899328 นายกฯ‘ญี่ปุ่น’เปิดหน่วยงานใหม่จัดระเบียบต่างชาติครอบคลุมทุกมิติ
043...
(รอยเตอร์) 20 ก.ค. 2568 โซเฮย์ คามิยะ หัวหน้าพรรคซันเซโตะ แถลงข่าวในวันเลือกตั้งสมาชืกวุฒิสภา ณ สำนักงานใหญ่ของพรรคในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี