Mr.Wong Po Kee, ศ.เกียรติคุณ นพ.ปริญญา สากิยลักษณ์, ประยุทธ มหากิจศิริ, Mr.Li Chi Keung และ Mr.Vincent Wan ทำพิธีเปิดตัวสมาคมกระโดดเชือก (ประเทศไทย) อย่างเป็นทางการ
เปิดตัว ประยุทธ มหากิจศิริ
นั่งเก้าอี้นายกสมาคมกระโดดเชือกไทยคนแรก
อยากเห็นนักกีฬาไทยเป็นแชมป์โลก
วงการกีฬาไทยต้อนรับสมาคมกีฬาน้องใหม่ล่าสุด “สมาคมกระโดดเชือก (ประเทศไทย)” โดยมี นายประยุทธ มหากิจศิริ อาสารับนำทัพนั่งเก้าอี้นายกสมาคมฯ คนแรก พร้อมได้รับความไว้วางใจได้รับเกียรติจากคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์กีฬากระโดดเชือกแห่งเอเชีย ให้นั่งเก้าอี้ ประธานสหพันธ์กีฬากระโดดเชือกแห่งเอเชียอีกหนึ่งตำแหน่ง ฟุ้งหนุนเต็มที่ให้นักกีฬากระโดดเชือกไทยทัดเทียมนานาชาติ และพร้อมร่วมมือประเทศสมาชิกสหพันธ์ฯ ผลักดันให้กีฬากระโดดเชือกบรรจุในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกให้ได้ โดยได้จัดพิธีเปิดตัวสมาคมกระโดดเชือก (ประเทศไทย) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2557 ณ อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง
นายประยุทธ มหากิจศิริ นายกสมาคมกระโดดเชือก (ประเทศไทย) กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ได้ทำให้สมาคมกระโดดเชือก (ประเทศไทย) เกิดขึ้นในวันนี้ และได้ให้เกียรติมอบความไว้วางใจให้มาดำรงตำแหน่งนายกสมาคม
คนแรก ในฐานะนายกสมาคมและคณะกรรมการบริหารสมาคมทุกคนขอให้คำมั่นว่า จะนำพาสมาคมกระโดดเชือกฯ ก้าวไปสู่เวทีโลกได้ในไม่ช้าและอย่างเต็มภาคภูมิ โดยจะได้จัดกิจกรรมรณรงค์และเผยแพร่วิธีการเล่นกีฬากระโดดเชือกแบบสากล ให้มีความถูกต้องและปลอดภัยแก่เยาวชนและประชาชนโดยทั่วกัน เพื่อให้คนไทยหันมาสนใจเล่นกีฬากระโดดเชือกเพิ่มมากขึ้น
“ประเทศไทยยังจะต้องมีการปรับตัวเป็นอย่างมาก เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะและเทคโนโลยีการเล่นกีฬากระโดดเชือกให้ทันสมัยกับนานาประเทศ ซึ่งจากการส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขัน World Jump Rope Championship แสดงให้เห็นว่า ถ้านักกีฬากระโดดเชือกไทย ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะสามารถสร้างผลงานในระดับโลกให้กับประเทศไทยได้อย่างแน่นอน โดยสมาคมฯ จะให้การสนับสนุนและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้ที่ใจทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษา โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ให้มีการบรรจุกีฬากระโดดเชือกเป็นหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และผู้ที่สนใจทั่วไป”
คณะกรรมการสมาคมชุดแรก เอกวัฒน์ ลี้เทียน, นฤป จักรปิง, นพมาศ ไวยรัชพานิช, พลเอก นพ.ประวิชช์ ตันประเสริฐ, ประยุทธ มหากิจศิริ นายกสมาคมฯ, พลเอกวิชิต ยาทิพย์, สุวิมล มหากิจศิริ, รศ.ชัชชัย โกมารทัต, มณฑป ผลาสินธุ์, จิรัฏฐ์ สุวรรณสภาพ และชัยชนะ หะริณธนาวุฒิ
นอกจากจะได้รับความไว้วางใจให้เป็น นายกสมาคมกระโดดเชือก (ประเทศไทย) คนแรกแล้ว และนำสมาคมฯ ร่วมเป็นสมาชิกสหพันธ์กีฬากระโดดเชือกแห่งเอเชีย ในการนี้ คณะกรรมการบริหารสหพันธ์ฯ ได้เห็นความตั้งใจอันดี ของ นายประยุทธ ที่จะพัฒนาวงการกีฬากระโดดเชือกอย่างจริงใจ จึงได้มอบความไว้วางใจแต่งตั้งให้ นายประยุทธ ดำรงตำแหน่ง “ประธานสหพันธ์กีฬากระโดดเชือกแห่งเอเชียอีกด้วย ซึ่ง สหพันธ์กีฬากระโดดเชือกแห่งเอเชีย ประกอบด้วยสมาชิกหลัก 10 ประเทศ ได้แก่ จีน มาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย ลาว สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ปากีสถาน อินเดีย และประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อร่วมมือกันผลักดันกีฬากระโดดเชือกให้เข้าสู่การเป็นกีฬาสากลในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในอนาคต
กีฬากระโดดเชือก หรือ ที่เรียกในระดับสากลว่า โร้ป สคิปปิ้ง (Rope Skipping) เป็นกีฬาที่มีการพัฒนารูปแบบการเล่นมาจากการเล่นกระโดดเชือก โดยไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าบุคคลใด หรือชนชาติใดเป็นผู้เริ่มต้นเล่นกระโดดเชือก แต่เป็นที่นิยมแพร่หลายมานานหลายศตวรรษ เป็นการละเล่นที่เล่นง่ายและใช้อุปกรณ์เพียงเชือกหนึ่งหรือสองเส้น ก็สามารถเล่นได้แล้ว จะเล่นคนเดียวหรือจะเล่นเป็นกลุ่มก็ได้ โดยบุคคลแรกที่นำวิธีการเล่นกระโดดเชือกมาพัฒนาเป็นกีฬากระโดดเชือกแบบสากล ชื่อว่า ริชาร์ด เซนดาลิ (Richard Cendali) ชาวอเมริกัน จากเมืองโบลเดอร์ มลรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันกีฬากระโดดเชือกกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มเยาวชนอย่างแพร่หลายทั่วโลก
Mr.Li Chi Keung มอบหนังสือแต่งตั้ง ประยุทธ์ มหากิจศิริ เป็นประธานสหพันธ์กีฬากระโดดเชือกแห่งเอเชีย
รูปแบบการแข่งขันกีฬากระโดดเชือกตามที่ สมาคมกีฬากระโดดโลก (World Jump Rope Association) กำหนด มี 3 รูปแบบหลัก ได้แก่ Speed and Power คือ การแข่งขันในด้านความเร็วและพละกำลัง โดยการแข่งขันในด้านความเร็ว นักกีฬาจะต้องทำการกระโดดเชือกภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น 30 วินาที และนับจำนวนครั้งที่นักกีฬากระโดดได้ ส่วนการแข่งขันแบบพละกำลัง เป็นการกระโดดเชือกโดยใช้ท่าที่ต้องการพลังของกล้ามเนื้อและทักษะมากกว่าการกระโดดแบบทั่วไปแบบ Freestyle คือ การที่นักกีฬาจะต้องแสดงทักษะและลีลาการกระโดดเชือกภายในระยะเวลาที่กำหนด การให้คะแนนจะพิจารณาจากองค์ประกอบในด้านความยากของทักษะ ความสวยงามในการแสดง เป็นต้น และแบบ Double Dutch คือ การแข่งขันที่นักกีฬาของแต่ละทีมจะใช้เชือก 2 เส้น ทำการหมุนเชือกพร้อมกัน พร้อมทั้งแสดงทักษะและลีลาการกระโดดเชือก การให้คะแนนนอกจากจะมีองค์ประกอบเช่นเดียวกับการแข่งขันแบบ Freestyle แล้ว ยังมีการพิจารณาการให้คะแนนในส่วนของนักกีฬาที่ทำหน้าที่หมุนเชือกด้วย
ความสนุกสนานของกีฬากระโดดเชือก ไม่ใช่เพียงการกระโดดให้เท้าลอยจากพื้นและเชือกสามารถผ่านไปได้โดยไม่สะดุด แต่อยู่ที่การใช้ทักษะของนักกีฬาในการกระโดดเชือกด้วยท่วงท่าต่างๆ อาทิ ฟุตเวิร์ก (Footwork) คือ ทักษะที่นักกีฬาแสดงการเคลื่อนที่ของขาเป็นลีลาท่าทางต่างๆ ขณะทำการกระโดดเชือก เช่น Side Straddleหมายถึง การกระโดดแยกขา Cross Step หมายถึง การกระโดดไขว้ขา เป็นต้น โร้ป มานิพูเลชั่น (Rope Manipulation) คือ ทักษะที่นักกีฬากระโดดเชือกด้วยลีลาท่าทาง พร้อมกับทำให้เชือกเกิดเป็นรูปแบบต่างๆ เช่น Leg Over Cross หมายถึงการทักษะกระโดดเชือกพร้อมทั้งไขว้มือ รอดใต้ขา เป็นต้น มัลติเพิลอันเดอส์ (Multiple Unders) คือ ทักษะที่นักกีฬาหมุนเชือกมากกว่าหนึ่งรอบในการกระโดด 1 ครั้ง เช่น TripleUnders หมายถึง การหมุนเชือก 3 รอบในการกระโดด 1 ครั้ง สเตรงซ์แอนด์อะจิลิตี้ (Strength And Agility) คือ ทักษะที่แสดงความแข็งแรงและความว่องไวของนักกีฬา เช่น Push-Up Jump หมายถึง การวิดพื้นพร้อมกับการกระโดดเชือก เป็นต้น อะโครเบติกมูฟส์ (Acrobatic Moves) คือ ทักษะที่นักกีฬาทำการแสดงท่ายิมนาสติก พร้อมกับการกระโดดเชือก เช่น Cartwheel หมายถึง การลังกาข้างพร้อมกับการกระโดดเชือก ยิ่งเปิดเพลงประกอบลีลาในการแข่งขันก็ยิ่งเพิ่มความสนุกสนาน
ผู้สนใจกีฬากระโดดเชือก สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมกระโดดเชือก (ประเทศไทย) www.rsat.or.th
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี