พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) ทรงปกครองแผ่นดินด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นเหลือทรงเป็นทั้งนักพัฒนา นักบริหาร และทรงมีพระวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลือกครูมาสอนพระราชโอรสในพระภรรยาเจ้าและเจ้าจอมทั้งหลาย ให้มีความรู้หลากหลายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อให้ทุกพระองค์ทรงรอบรู้หลักการปกครองแตกต่างกันไป และวิธีการที่เลือกศึกษาวิชาเพิ่มเติมในต่างประเทศ นำมาประยุกต์ใช้ เพื่อการทำนุบำรุงประเทศสยามให้อยู่เป็นสุขรอดพ้นจากการรุกรานของทหารต่างชาติที่หวังจะครอบครองอาณาจักรสยาม ด้วยเล่ห์วิธีการหลายประการ
หลังจากที่พระโอรสทรงโสกันต์ก็จะเตรียมพระองค์ไปศึกษาต่อในต่างประเทศแถบยุโรปตามความเหมาะสม บ้างก็จะเสด็จไปเรียนการทหารที่ประเทศรัสเซียประเทศเยอรมัน ประเทศอังกฤษ ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย โดยมีครูไทยที่เป็นข้าราชการตามเสด็จไปเป็นผู้อภิบาลและสอนภาษาไทยกวดวิชาภาษาต่างประเทศ เพื่อเข้าเรียน
ตามโรงเรียนที่ทรงเลือกสรรไว้ให้พระราชโอรส ซึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์เล็กในพระภรรยาเจ้า สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (แม่กลาง)ประสูติเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2434 เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศเยอรมัน
เมื่อปีพ.ศ.2454 ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารบก แล้วทรงเข้าศึกษาวิชาการทหารเรือ ที่โรงเรียนนายเรือเฟลนส์บูร์ก มุรวิก ระยะเวลา 2 ปี ทรงสอบได้ครบถ้วนตามหลักสูตรนักเรียนนายเรือเยอรมัน แพทย์ได้ตรวจพบว่าทรงมีพระอาการทางพระวักกะ (ไต) เป็นเหตุให้ประชวรเรื้อรัง ครั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงเสด็จกลับประเทศไทยทรงเข้ารับราชการทหารเรือ เมื่อวันที่ 2
เมษายน พ.ศ.2458 ได้รับพระราชทานยศนายเรือโท ตำแหน่งสำรองราชการ กรมเสนาธิการทหารเรือ และทรงย้ายไปรับตำแหน่งในกองอาจารย์นายเรือ แผนกแต่งตำรากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ทรงมุ่งมั่นในการพัฒนากิจการกองทัพเรือ ทรงมีพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ในการพัฒนาโครงสร้างกองเรือรบ กำลังทางเรือ การจัดตั้งฐานทัพเรือและสถานีทหารเรือ ทรงพิจารณาโครงการจัดหาเรือดำน้ำ เข้ามาใช้ประจำการเพิ่มเติม เพราะการนี้จึงทรงพิจารณาพิเคราะห์เกี่ยวกับอาหารและโภชนาการของทหารที่เหมาะสม หากปฏิบัติการในเรือรบหรือเรือดำน้ำ ขณะออกปฏิบัติการในทะเลเป็นเวลานานๆ เรือดำน้ำ (Submarine) จะต้องดำอยู่ใต้น้ำ เสบียงอาหารเป็นสิ่งสำคัญ
ด้วยเหตุแห่งการที่ทรงพิจารณาคุณภาพชีวิตการพัฒนาคน สุขอนามัย จึงเสด็จไปทอดพระเนตร ชุมชน การอนามัย และโรงพยาบาลศิริราชขณะนั้นสภาพโรงพยาบาลก็ยังขาดการพัฒนาเช่นกันโรงพยาบาลเองขาดแคลนบุคลากรด้านการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุข ดูจะเป็นเรื่องสำคัญของประชากรเป็นส่วนใหญ่ แต่ประชาชนยังขาดความรู้ ควรจะขยายฐานงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้มากขึ้นอีก อันจะเป็นผลดีในการดำรงชีวิตและประกอบการในทุกอาชีพได้ดี ในเวลาต่อไปเมื่อประชากรมีสุขภาพอนามัยที่ดี ไร้โรคภัยเบียดเบียน แม้แต่ทหารเอง การมีสุขภาพดีก็จะทำให้เป็นทหารที่ดี ปฏิบัติงานได้สมดังเจตนารมณ์
กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงขอกราบบังคมทูลลาออกจากการรับราชการทหารเรือ และเสด็จไปทรงศึกษาต่อด้านสาธารณสุขที่โรงเรียนสาธารณสุข The School for Health Officers of Harward University and Massachusetts Institute of Technology แต่ทางโรงเรียนกำหนดว่า ผู้เข้าศึกษาต้องปฏิบัติงานเกี่ยวกับสาธารณสุข รับผู้สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์
หรือเคยศึกษาวิทยาลัยไม่ต่ำกว่า 2 ปี รวมกับการศึกษาวิชาเตรียมแพทย์ชีวอนามัย ชีวเคมี หรือ วิศวกรรมสุขาภิบาลอีก 2 ปี แต่ผู้ที่ไม่ได้มีคุณสมบัติ ดังกล่าวต้องเรียนเป็นเวลา 2 ปี กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงอยู่ในกลุ่มหลัง จึงต้องศึกษาเตรียมแพทย์ และวิชาอื่นๆ เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2459-2461
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงสนับสนุนพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับวงการแพทย์ จึงพระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อส่งเสริมบุคลากรที่จะเป็นกำลังสำคัญแก่โรงพยาบาล คือ แพทย์และพยาบาล ในระหว่างนั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ“แม่สังวาลย์” ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาพยาบาลจากโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแล้วได้รับพระราชทานทุน เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ สหรัฐอเมริกา ในพ.ศ.2460
สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ขณะทรงศึกษาวิชาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โปรด “แม่สังวาลย์”จึงกราบบังคมทูลขอหมั้น ขณะอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ครั้นเสด็จกลับมาถวายพระเพลิง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จึงขอพระบรมราชานุญาต
ทรงเสกสมรส และเสด็จไปรับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม เมื่อ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
จากนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช เสด็จกลับไปศึกษาวิชาแพทย์ ระหว่างปีพ.ศ.2469-2471 เสด็จกลับมาประเทศสยาม ทรงปฏิบัติงานในฐานะแพทย์ เสด็จไปทรงงาน ณ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่เคารพเทิดทูน ซึ่งชาว
เชียงใหม่จะเรียกพระนามว่า “หมอเจ้าฟ้า” ครั้นอาการพระวักกะกำเริบ จึงเสด็จกลับกรุงเทพฯ เสด็จประทับอยู่แต่ในพระตำหนักวังสระปทุม มีสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงอภิบาลอย่างใกล้ชิดตราบจนเสด็จสวรรคต ในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2472 พระชนมายุ 37 พรรษา 8 เดือน ยังความโทมนัสแก่ครอบครัวมหิดล รวมถึงพระราชโอรสและพระราชธิดา
คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
หลังจากวันสิ้นพระชนม์ อีกหลายปีต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนกว่า “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” โปรดเกล้าฯพระราชทานยศ “จอมพลเรือ” แด่สมเด็จพระบรมราชชนก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” เฉลิมพระเกียรติคุณ มีมูลนิธิรางวัล สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล โดยมี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานดำเนินการคัดเลือกผู้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการแพทย์และสาขาสาธารณสุขจากทั่วโลก
อีกทั้ง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงมีพระดำริที่จะจัดสร้างพระราชานุสาวรีย์“เจ้าฟ้าทหารเรือ” ถวายเป็นที่ระลึก แต่ทรงสิ้นพระชนม์ลงเสียก่อน คณะทำงานที่เคยถวายงานจึงได้รวมพลผู้ที่มีจิตศรัทธา สืบทอดการจัดสร้างพระราชานุสาวรีย์ให้ดำเนินการต่อไป โดย พลเรือเอก นายแพทย์หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์ เป็นองค์ประธาน เททองหล่อพระรูป เจิมแผ่นศิลาฤกษ์ ณ กรมอู่ทหารเรือ พร้อมทั้งเสด็จพิธีมังคลาภิเษก พระรูปจำลอง เหรียญพระฉายาลักษณ์ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง ทั้งนี้กองทัพเรือได้จัดอาณาบริเวณเพื่อประดิษฐาน
พระราชานุสาวรีย์ฯ ที่อู่ราชนารี มหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์แห่งนี้ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2554
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี