ทุกท่านคงทราบกันดีแล้วว่าการควบคุมจำนวนประชากรสุนัขนั้น มีหลายวิธี ทั้งในเพศผู้และเพศเมีย ไม่ว่าจะเป็นการฉีดฮอร์โมนในสุนัขเพศเมีย (ซึ่งไม่แนะนำเนื่องจากมีความเสี่ยงมากต่อการเกิดมดลูกอักเสบสูง) การผ่าตัดทำหมันเพศเมียด้วยการตัดมดลูกและรังไข่ (ovariohysterectomy) การผ่าตัดทำหมันเพศผู้โดยการตัดอัณฑะออก (castration) และโดยการตัดท่อนำอสุจิในตัวผู้ (vasectomy) แต่วิธีหลังนี้อาจไม่ได้สัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์เท่าไหร่ เนื่องจากการทำหมันตัวผู้ส่วนใหญ่นั้น นอกจากเพื่อการไม่ให้มีการแพร่พันธุ์แล้ว เรายังมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความก้าวร้าวของสุนัขตัวผู้ด้วย เราจึงต้องกำจัดแหล่งสร้างฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความก้าวร้าวนั่นคือลูกอัณฑะนั่นเอง
ในปัจจุบันนี้ ท่านผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการทำหมันสุนัขเพศผู้ ด้วย “การฉีดยาหมันเข้าอัณฑะ” ในสุนัขกันมาบ้างแล้วนะครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่มากในเมืองไทย ซึ่งมีหลายคนให้ความสนใจกัน และเนื่องจากมีการพาดหัวข่าวว่า “พบวิธีทำหมันใหม่ลดทารุณกรรมสุนัข” หรือ “การทำหมันสุนัขอย่างมีมนุษยธรรมแบบใหม่”ทำให้คนส่วนใหญ่กลับมาคิดถึงโดยเปรียบเทียบกับวิธีการทำหมันเดิมๆ คือวิธีการผ่าตัดทำหมัน (castration) ซึ่งเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ให้ผลแน่นอน100% และทำกันมานานกว่า 100 ปีแล้วโดยสัตวแพทย์ทั่วโลก
มุมมองที่ว่า “การผ่าตัดทำหมันนี้เป็นวิธีที่ทารุณกรรมสัตว์และขาดมนุษยธรรมหรือไม่?” จึงทำให้กระแสการฉีดยาหมันนั้นเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น
แน่นอน! การฉีดยาและการผ่าตัดย่อมมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน ในมุมมองของสัตวแพทย์ ก็จะต้อง “ตอบคำถาม” จากเจ้าของสุนัขให้ได้ ถึง “ผลดีและผลเสีย”ของการใช้ยาในหลากหลายแง่มุม เนื่องจาก “ยาหมัน” ที่พูดถึงนั้นเป็นสารละลายประเภทซิงค์กลูโคเนต(zinc gluconate) ยาในกลุ่มนี้เป็นอย่างไร วันนี้ผมมีข้อมูลและมุมมองดีๆ มาฝากจาก อ.น.สพ.ดร.ศุภวิวัธน์ พงษ์เลาหพันธุ์ จาก ภาควิชาสูติศาสตร์เธนุเวชวิทยาและวิทยาการสืบพันธ์ุ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรามารู้จักเรื่องนี้กันครับ
1.ยาหมันที่ฉีดเข้าอัณฑะคืออะไร?
ยาที่ฉีดนั้นเป็นสารสังเคราะห์ที่ฉีดเข้าไปในอัณฑะ โดยสารเคมีที่มีการศึกษาวิจัย เช่น zinc-based solution, calciumchloride, chlorhexidine gluconate, glycerol หรือ 20%hypertonic saline โดยภายหลังการฉีดจะมีผลทำให้สัตว์เป็นหมันแบบถาวรหรือชั่วคราวก็ได้ ขึ้นกับชนิดของสารสังเคราะห์
เมื่อถูกฉีดเข้าไปในอัณฑะจะทำให้เนื้ออัณฑะเกิดการเสื่อมสภาพและแข็งตัว (sclerosis) ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการอักเสบอย่างรุนแรง และเนื่องจากตัวสารเคมีเองจัดเป็นสารแปลกปลอม ดังนั้นจึงก่อให้เกิดกระบวนการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกายหรือautoimmune response ร่วมด้วย
ภายหลังการฉีด เนื้อเยื่ออัณฑะส่วนที่ได้รับผลกระทบจากตัวยาจะเกิดความเสียหายและสูญเสียหน้าที่ในการสร้างตัวอสุจิไป ส่วนเนื้อเยื่อที่ไม่ได้รับผลกระทบอาจมีการสร้างตัวอสุจิได้อยู่แต่จะมีปริมาณลดลง (subfertility)
ตำแหน่งที่ฉีดยาสามารถทำได้ที่ตัวลูกอัณฑะ ท่อพักอสุจิ (epididymis) หรือ ท่อนำอสุจิ (vas deferens)
2.Zinc gluconate คืออะไร?
เป็นสารประกอบของ zinc และ glucose และอาจมีการผสมสารอื่นเพื่อทำให้ตัวยามีฤทธิ์เป็นกลาง (neutralize) เช่น arginine
นอกจากนี้พบว่าสื่อของยา (vehicle) ที่ใช้ก็มีผลต่อประสิทธิภาพของยาด้วย บางชนิดผสมแล้วมีข้อจำกัดว่าใช้ได้เฉพาะในสุนัขเพศผู้ก่อนวัยเจริญพันธุ์ (3-10 เดือน) เท่านั้น หากฉีดในสุนัขอายุน้อยกว่า 3 เดือน หรือมากกว่า 10 เดือน ถือเป็น “off-label use”ซึ่ง FDA ไม่รับรองผลและความปลอดภัย นั่นแสดงว่ายาหมันดังกล่าวไม่สามารถฉีดให้สุนัขตัวผู้ได้ทั่วไป เนื่องจากขนาดของยาที่ฉีดขึ้นกับขนาดของอัณฑะและประสิทธิภาพของการกระจายตัวของ zinc gluconate ไปในเนื้ออัณฑะขึ้นกับสื่อของยาที่ใช้ผสม
สัปดาห์หน้า เรามาคุยกันถึงเรื่องนี้กันต่อนะครับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี