คณะอยุธยาศึกษากับไหหินทรงเหลี่ยม
โครงการศึกษาประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมอาเซียนของสถาบันอยุธยาศึกษา ได้พาคณาจารย์และนักวิชาการไปเมืองหลวงพระบางและเมืองเชียงของ เมื่อวันที่ ๙-๑๔ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้นมีเรื่องที่น่าสนใจหลายเรื่องถึงภูมิปัญญาในประเทศอาเซียนโดยเฉพาะเรื่องของทุ่งไหหิน (Plain of Jars) แหล่งโบราณคดีอันเป็นที่ตั้งของหินใหญ่ (Megalith) ซึ่งกระจัดกระจายไปทั่วที่ราบสูงของเมืองเชียงขวาง ทางเหนือ ของประเทศลาว มีหินรูปทรงไหขนาดใหญ่นับพัน ปรากฏเป็นกลุ่มอยู่ตลอดแนวเขาและล้อมรอบหุบเขาสูงบริเวณที่ราบสูงเชียงขวางแห่งนี้ ตั้งอยู่บริเวณเหนือสุดของเทือกเขาอันนัม (Annamite Range) เทือกเขาหลักของอินโดจีน จากการพบทุ่งไหหินเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ นั้น ทำให้มีการศึกษาในเบื้องต้นถึงไหหินขนาดใหญ่ทั้งหมดว่ามีความสัมพันธ์กับพิธีกรรมเกี่ยวกับงานศพในยุคมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์อย่างไร จากการขุดค้นโดยนักโบราณคดีชาวลาวและชาวญี่ปุ่นนั้น ได้พบโบราณวัตถุเกี่ยวกับงานศพและเครื่องเคลือบอยู่รอบไหหินและถ้ำประมาณได้ว่าอยู่ในยุคโลหะ (Iron Age) นับเป็นแหล่งโบราณคดีทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจหนึ่งเดียวและสำคัญที่สุดในอาเซียนที่มีโครงสร้างหินขนาดใหญ่ ยุคโลหะเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรัฐบาลลาวได้ดำเนินการให้ทุ่งไหหินแขวงเชียงขวางเป็นแหล่งมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งคู่กับเมืองหลวงพระบาง
พื้นที่แหล่งโบราณคดีเมืองเชียงขวางมีพื้นที่หลายแห่งเต็มไปด้วยไหหินอายุระหว่าง ๒,๕๐๐-๓,๐๐๐ ปีที่ยังคงสภาพสมบูรณ์และมีขนาดใหญ่โตมากกว่าพันชิ้น ก็คงต้องฟังเรื่องราวและตำนานของลาวที่เล่าต่อกันมาว่าครั้งหนึ่งมีการต่อสู้ของยักษ์ ผู้อาศัยอยู่บนดินแดนแห่งนี้โดยมีเรื่อง “ขุนเจือง” (ชื่อเหมือน “ขุนจ๋อง” ที่เล่ากันในตำนานไทย) เข้าปราบปรามยักษ์และต่อสู้กันอย่างยาวนาน ในที่สุดก็สามารถชนะยักษ์ได้ แล้ว “ขุนเจือง” สั่งให้สร้างไหเพื่อเลี้ยงเหล้าฉลองชัยชนะ ไหนั้นถูกหล่อขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ดินเหนียว ทราย น้ำตาล และซากพืชซากสัตว์ในรูปแบบหินผสม โดยเชื่อว่าถ้ำที่อยู่บริเวณทุ่งไหหินนั้นคือเตาเผาไหให้เป็นหิน บ้างว่าไหนี้สร้างขึ้นเพื่อเก็บน้ำฝนในฤดูมรสุมใช้สำหรับกองคาราวานที่เดินทางผ่านไปมา ด้วยความเก่าของหินขนาดใหญ่จึงมีการสันนิษฐานถึง ๓ ประการว่า ไหหินนี้ตัดมาจากหินก้อนใหญ่จำนวนหนึ่งสำหรับบรรจุคนตายยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อ ๓-๔ พันปี ตามความเชื่อว่าสถานที่ฝังศพคนตายนั้นต้องอยู่บนที่สูงป้องกันการเซาะพังทลายจากน้ำท่วม หรือเป็นไหเหล้าของนักรบโบราณตามตำนานเมื่อศตวรรษที่ ๘ คือ ขุนเจือง ผู้กล้าหาญของลาวในอดีตผู้หนึ่งที่นำไพร่พลสู้กับยักษ์แล้วฉลองชัยอยู่เป็นเวลา ๗ เดือน จนคนลาวทั่วไปเรียกว่า “ไหเหล้าเจือง” หรือจะเป็นไหหินธรรมชาติตั้งเช่นเดียวกับสโตนเฮนจ์ ในประเทศอังกฤษ ส่วนจะเชื่ออย่างไหนว่ากันไปตามสบายที่น่าสนใจนั้นอยู่ที่การเป็นวัฒนธรรมหินตั้งแบบทุ่งไหหินที่เกิดขึ้นทั่วโลก
โดยเฉพาะทุ่งไหหินที่เมืองเชียงขวางนี้มีจำนวนมากและอยู่แยกกันเป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มทุ่งไหหินขนาดใหญ่และมีมากที่สุด ๒๐๐ ใบ อยู่ห่างจากเมืองโพนสวรรค์ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๗.๕ กิโลเมตรด้านทางเมืองคูน เมืองหลวงเก่าแห่งนี้มีถ้ำที่มีช่องแสงสูงประมาณ ๖๐ เมตร กลุ่มทุ่งไหหิน ๙๐ ใบ อยู่ห่างจากเมืองไปทางใต้ ๒๕ กิโลเมตร และกลุ่มที่สามทุ่งไหหิน๑๕๐ ใบ ทางใต้ ๑๐ กิโลเมตร ห่างจากโพนสวรรค์ ๓๕ กิโลเมตรจากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่าไหหินนี้ถูกทำขึ้นด้วยมนุษย์ให้มีรูปทรงเหมือนไหหรือโกศขนาดใหญ่โดยเจาะตรงกลางเป็นหลุมขนาดใหญ่สำหรับใส่ศพมนุษย์ไว้ข้างใน และมีฝาปิด โดยเข็นขึ้นไปตั้งไว้บนเนินสูงสำหรับคนชั้นผู้นำชนเผ่า ส่วนไหหินที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขาซึ่งห่างออกไปนั้นเป็นคนทั่วไป ส่วนแหล่งหินนั้นน่าจะขนมาจากที่อื่นสำหรับการสกัดหินนั้นน่าจะใช้เหล็กสกัดให้เป็นรูปทรงที่ต้องการและเจาะตรงกลางมีทั้งแบบกลมและที่เหลี่ยมก็คงต้องสำรวจแหล่งโบราณคดีที่อยู่บริเวณโดยรอบว่าคนยุคก่อนประวัติศาสตร์หรือคนสมัยขุนเจืองนั้นอาศัยอยู่แห่งหนตำบลไหน ก็คงทิ้งให้เป็นปริศนาด้วยรอบบริเวณเมืองเชียงขวางยังมีลูกระเบิดฝังจมดินอยู่ จนต้องเดินชมไหหินตามเส้นทางที่กำหนดให้ ห้ามนอกเส้นเป็นอันขาด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี