เมืองสมุทรสาคร
อาทิตย์นี้ขอตามรอยโครงการศึกษาวิจัยชุมชนในลุ่มแม่น้ำท่าจีนของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ไปที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งถูกเลือกเป็นกรณีศึกษา ด้วยเหตุที่ชุมชนท้องถิ่นแห่งนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายใต้การพัฒนาสมัยใหม่ เรื่องนี้ นายพีรพนพิสณุพงศ์ ผู้อำนวยการ ศมส. ได้ให้ความสำคัญของการศึกษาวิจัยความหลากหลายและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในท้องถิ่นซึ่งการทำความเข้าใจวิถีชีวิตคนในท้องถิ่นนั้นทำให้มองเห็นรากฐานความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ภูมิสังคม ประเพณี ความเชื่อ และแบบแผนทางวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ อันเป็นภารกิจหนึ่งที่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม เพื่อเรียนรู้การเปลี่ยนผ่าน การปรับตัว และการดำรงอยู่ของผู้คนที่หลากหลาย ผลจากการทำงานมา ๒ ปีโดยมี นายเอนก สีหามาตย์ ผู้ทรงคุณวุฒิบริหารด้านวิชาการ ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนาและคณะทำงานนั้นได้ทำให้ “หนังสือสาครบุรีจากวิถีชาวบ้าน” เป็นตัวอย่างชุดความรู้ที่เป็นประโยชน์ สำหรับนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนและเป็นข้อมูลประกอบการทำงานส่งเสริมและฟื้นฟูวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งเป็นฐานความรู้ที่กระตุ้นให้คนท้องถิ่นมีจิตสำนึกในการสืบทอดและรักษาวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของชาติที่ต้องการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ที่นำเอาคุณค่าทางวัฒนธรรมมาสร้างความมั่นคงและความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
จังหวัดสมุทรสาครหรือสาครบุรีนั้นเป็นจังหวัดอยู่ชายทะเล ปากแม่น้ำท่าจีน หลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่าในอดีตนั้นมีชุมชนใหญ่เรียกว่า “บ้านท่าจีน” ตั้งอยู่บริเวณปากอ่าวไทยในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อประมาณพ.ศ.๒๐๙๙ นั้น ได้ยกบ้านท่าจีนนั้นขึ้นเป็น เมืองสาครบุรี เพื่อเป็นหัวเมืองสำหรับเรียกระดมพลเวลาเกิดสงครามและเป็นเมืองด่านหน้าป้องกันผู้รุกรานทางทะเล ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้เปลี่ยนชื่อเมืองสาครบุรีนั้นเป็น เมืองสมุทรสาคร ในปีพ.ศ.๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้มีพระราชดำริที่จะสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ท้องถิ่นโดยใช้รูปแบบการปกครองแบบสุขาภิบาล และเมื่อวันที่๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๘ มีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะตำบลท่าฉลอมเป็นสุขาภิบาล เรียกว่า“สุขาภิบาลท่าฉลอม” จึงถือได้ว่าสุขาภิบาลท่าฉลอมเป็นสุขาภิบาลแห่งแรกในหัวเมืองของประเทศไทย และปี พ.ศ.๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้เปลี่ยนคำว่า “เมือง” เป็น “จังหวัด” เช่นเดียวกับจังหวัดทั้งประเทศ
การศึกษาการเปลี่ยนแปลงชุมชนท้องถิ่นครั้งนี้ได้เน้นถึงประเด็นประวัติศาสตร์ภูมินามและภูมิสังคม เครือข่ายสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ และพิธีกรรมความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับครู บุคลากรด้านวัฒนธรรมและคนในชุมชน นำข้อมูล ข้อค้นพบจากโครงการวิจัยชุดนี้ไปประกอบการเรียนการสอน และเป็นการทำงานส่งเสริมฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย...ตามคำขวัญว่า “เมืองประมง ดงโรงงาน ลานเกษตร เขตประวัติศาสตร์” ซึ่งจะเป็นโมเดลตัวอย่างในการศึกษาสังคมและวัฒนธรรมชุมชนอื่นๆ ต่อไปเรื่องการศึกษาวิถีชุมชนเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่แท้จริงนั้นหากตั้งต้นจากท้องถิ่นในมิติทางประวัติศาสตร์และวิถีวัฒนธรรมจากชุมชนทั้งประเทศได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงการพัฒนาการของท้องถิ่น โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้จากชุมชนและคนในพื้นที่ ตลอดจนความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ท้องถิ่นนั้น นี่คือการก้าวเดินไปข้างหน้าให้พัฒนาตนจากข้างใน ตาม “ศาสตร์พระราชา” ที่เข้าถึง เข้าใจ และนำไปพัฒนา ที่ทุกท้องถิ่นควรจะหันกลับมาเร่งเรื่องการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ดีกว่าแห่แหนจัดงานเถิดเทิงแบบละลายทิ้งแม่น้ำให้ลอยไปลอยมา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี