ชามือ-ชาเท้า เกิดขึ้นได้กับทุกคน และเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ส่งผลให้เส้นประสาทได้รับการกดทับเป็นประจำ แต่หากเป็นบ่อยๆ และทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นเพราะความผิดปกติของปลายประสาท
นายแพทย์นริศ สมิตาสิน อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี ให้ข้อมูลว่า แม้อาการชา จะเกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว และสามารถหายได้เอง แต่อาการชาปลายมือปลายเท้า อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรค หรือภาวะผิดปกติบางประการ ยกตัวอย่างเช่น ชานิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนางครึ่งซีก อาจเป็นสัญญาณของโรคเส้นประสาทบริเวณมือถูกบีบรัด, ชานิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และปวดมือร้าวถึงแขน อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังบริเวณคอกดทับเส้นประสาท, ชาปลายเท้าและปลายมือ อาจเกิดจากปลายประสาทอักเสบ ภาวะขาดวิตามินบี 1 บี 6 หรือบี 12, ชานิ้วก้อย นิ้วนาง และด้านข้างฝ่ามือ อาจเกิดจากเส้นประสาทบริเวณข้อศอกถูกกดทับ, ชาง่ามนิ้วโป้งและนิ้วชี้ อาจเกิดจากเส้นประสาทกดทับที่ต้นแขน, ชาทั้งเท้าลามถึงสะโพก อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังบริเวณเอวเคลื่อนทับเส้นประสาท
ทั้งนี้ หากอาการชาไม่ดีขึ้นภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ ควบรีบพบแพทย์ก่อนอาการลุกลามมากขึ้น โดยแพทย์จะตรวจประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า (Electrodiagnosis) เพื่อใช้วินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรค ซึ่งประกอบด้วย การตรวจคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ (Electromyography: EMG) และการตรวจการทำงานของเส้นประสาทด้วยคลื่นไฟฟ้า (Nerve Conduction Study: NCS) การตรวจ EMG/NCS จะตรวจบริเวณ แขน ขา และใบหน้าบางตำแหน่ง โดยทั่วไปจะตรวจ แขนข้างละ 4 ตำแหน่ง และขาข้างละ 5 ตำแหน่ง (ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย) เริ่มจากการตรวจเส้นประสาทด้วยคลื่นไฟฟ้า เพื่อดูว่าเส้นประสาทปกติหรือไม่ หรือถูกกดทับบริเวณใด ต่อด้วยการตรวจกล้ามเนื้อ โดยใช้เข็มสอดเข้าไปบริเวณกล้ามเนื้อ ซึ่งจะวัดค่าทั้งตอนขยับและไม่ขยับกล้ามเนื้อ เพื่อดูการอักเสบหรือการเสื่อมของกล้ามเนื้อ ค่าที่ได้จากการตรวจ EMG/NCS จะแปรผลออกมาเป็นกราฟ ซึ่งแพทย์สามารถนำไปอ่านค่า และวินิจฉัยหาสาเหตุได้
ทั้งนี้ การตรวจประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า ให้ผลค่อนข้างละเอียดมากกว่าการตรวจร่างกายทั่วไป สามารถบอกได้ชัดเจนว่า อาการชาเกิดจากสาเหตุอะไร เช่น พังผืดทับเส้นประสาท กล้ามเนื้ออักเสบ เส้นประสาทเสื่อม กล้ามเนื้ออ่อนแรง ฯลฯ เพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างตรงจุด
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ควรตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า คือผู้ที่มีอาการชาบริเวณปลายมือปลายเท้า ผู้ป่วยมีอาการปวดต้นคอร้าวลงแขน ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร้าวลงขา และผู้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หนังตาตก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี