หมู่บ้านปางห้า เกาะช้าง
เมื่อชุมชนตื่นตัวจากการจัดงบประมาณหนุนจำนวนมากจนหาสาระให้สนใจได้ยากนั้น ความยั่งยืนของชุมชนอย่างที่ต้องการให้เกิดขึ้นนั้นดูเหมือนยังต้องใช้เงินและจัดงานเถิดเทิงกันไป อาทิตย์นี้เลยปลีกตัวออกหาชุมชนต้นแบบที่ทำอะไรเองได้แบบสิ้นเปลืองน้อยที่สุด อย่างน้อยก็เป็นแนวทางถึงการสร้างวิถีชุมชนตนเองได้ ไม่ต้องอาศัยบริษัทจัดกินงบจากชุมชนคนสู้งานที่ทำผลิตภัณฑ์มานานกว่า ๒๐ ปีนั้นกว่าจะมาเป็นชุมชนที่สร้างแบรนด์ระดับโลกให้กับหมู่บ้านตนเองได้นั้น ต้องชื่นชมและยังดึงเอาวิถีชุมชนมาสร้างแหล่งเรียนรู้ให้กับนักท่องเที่ยวจนเกิดการท่องเที่ยวยั่งยืนได้ตามอัตภาพนั้น ต้องถือว่าเป็นแบบอย่างที่น่าสนใจใคร่รู้มากกว่างานแห่แหนทั้งปวง
ชาวบ้านปางห้ากับผู้มาเยือน
ขนาดชื่อ บ้านปางห้า ม.1 ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งอยู่เหนือสุดประเทศนั้นก็ยากแล้วที่คนจะเดินทางเข้าถึงได้มากกว่าชื่อ วัดร่องขุ่น สามเหลี่ยมทองคำ และขุนน้ำนางนอน เรื่องนี้ต้องขอบคุณโอเรียลตัล โวยาจ ที่นำพาให้รู้จัก คุณจินนาลักษณ์ ชุ่มมงคล เจ้าของกิจการกระดาษสาจินนาลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้สร้างผลิตภัณฑ์ใยไหมทองคำมาส์กหน้า “CEILK” และจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ที่มีแห่งเดียวในโลก ประเด็นสำคัญนั้นไม่ได้อยู่ที่ผลิตภัณฑ์ยอดนิยมในตลาดต่างประเทศเท่านั้น แต่มีความเป็นคนพื้นถิ่นที่สำนึกรักบ้านเกิดจนมีแรงบันดาลใจจากงานกระดาษสาที่ทำกันรุ่นต่อรุ่นกันมานานนั้นได้คิดนวัตกรรมขึ้นเองต่างหาก และเป็นนวัตกรรมที่ได้รับการยกย่องระดับโลกจากรางวัลสุดยอดนวัตกรรมปี พ.ศ.๒๕๕๖
โรงบ่มยาเวียงแก้ว
กล่าวคือ ใยไหมที่ไม่ผ่านกระบวนการใดนั้นจะมีคุณค่าต่อผิวมนุษย์ด้วย น้ำลายจากตัวไหมนั้นสามารถปรับสภาพผิวให้ดีขึ้นได้มาก ซึ่งเป็นการศึกษาเรียนรู้จากชาวบ้านที่รู้จักกันไม่มากนัก และใช้เป็นเครื่องสำอางที่ทำมาจากชาวบ้านโดยตรง เป็นนวัตกรรมเพียงแห่งเดียวในโลกที่ทำแบบนี้ ก่อนจะมีงาน “นวัตวิถี” ตีปี๊บกันเกิดขึ้น เช่นเดียวกับชุมชนอีกหลายแห่ง ที่มีผลิตภัณฑ์ของชุมชนจากนวัตกรรมและสามารถสร้างรายได้ในชุมชนแบบไร้เงาราชการ จนบางแห่งมีธนาคารหมู่บ้านขึ้นเอง
ตีมีดแบบล้านนา
หมู่บ้านปางห้าแห่งนี้อยู่ติดเขตแดนคือส่วนบนสุดของประเทศ วิถีชุมชนนั้นไม่ได้แค่ทำนา ทำสวน ทำไร่เท่านั้น จากการเป็นชุมชนที่เกิดจากการเคลื่อนย้าย (เวียต) ไป-มาจนตั้งบ้านอยู่อาศัยขึ้น ได้มีการรวมคนเกิดขึ้นในยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมืองตอนต้นรัตนโกสินทร์นั้น ทำให้ชาวไทลื้อ ไทยวน ไทยอง ม่าน เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ตามชายแดนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นความชำนาญจากกลุ่มชาติพันธุ์จึงเกิดเป็นพหุวัฒนธรรมให้มีการสร้างอาชีพเกิดขึ้นในชุมชนโดยอัตโนมัติและต่างเอื้ออาทรกันในชุมชนขนาดเล็กจนสามารถเป็นหมู่บ้านชุมชนขนาดใหญ่ที่พึ่งตนเองได้ ซึ่งเป็นลักษณะร่วมทางมานุษยวิทยาและบูรณาการทางวัฒนธรรมให้มีรูปแบบและอัตลักษณ์ของตนขึ้น แม้ว่าเมืองโบราณที่เคยตั้งอยู่ในแถบนี้จะล่มสลายจากแผ่นดินไหวหรือปรากฏการณ์มหัศจรรย์ตามความเชื่อไปก็ตาม
สปาหน้าใยไหมทองคำ
ชุมชนชาวบ้านนั้นยังได้อาศัยแผ่นดินแห่งนี้สร้างงานสร้างอาชีพ จากการปลูกต้นสา ทำกระดาษสา จากการทำสวนฝรั่งกิมจูและผสมสายพันธุ์เนื้อสีชมพูขึ้นจากการตีเหล็กของช่างเมืองยองมาเป็นมีดใช้ในการเกษตร เป็นการตีมีดแบบดั้งเดิมของชาวล้านนาด้วยอุปกรณ์แบบเก่าที่ยังใช้เตาดินและสูบลมที่ทำขึ้นเอง จากการนำเครื่องหล่อเทียนจากเมียนมาเข้ามาทำเทียนรูปแบบต่างๆ ส่งตามวัดและตลาดเครื่องสังฆภัณฑ์ทั่วประเทศ จากการสร้างนวัตกรรมความงามที่มาจากการเลี้ยงไหมให้เป็นสปาหน้าใยไหมทองคำที่มีแห่งเดียว จากโรงบ่มยาสูบเวียงแก้วเดิม แม้เลิกกิจการแล้วก็เก็บโรงบ่มเป็นแหล่งเรียนรู้และจุดถ่ายภาพที่หาได้ยาก นอกจากนี้แต่ละบ้านยังใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ อีก เช่น บ้านอาหารไทลื้อ, บ้านจิ้งหรีด, บ้านขนมล็อคนา, บ้านเจียระไนหยก,บ้านเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น นับเป็นชุมชนต้นแบบที่น่าสนใจ และมีการคิดนวัตกรรมสร้างงานให้ชุมชนจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เน้นการเรียนรู้ตามฐานความรู้แต่ละบ้านตามความสนใจ ซึ่งมีรถจักรยานและ “รถอีต๊อก” คือ รถไถนามุงหลังคาพาเที่ยวรอบหมู่บ้าน โดยมีที่พักบริการ ล้วนเป็นงานของชาวบ้านทั้งสิ้น สนใจติดต่อได้ที่ท่องเที่ยวชุมชนหมู่บ้านปางห้าโฮมสเตย์ โทร.087-6612172และ064-6797470 ครับ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี