คู่รักที่ตกลงปลงใจแต่งงานและวางแผนอยากจะมีลูกน้อยมาเป็นโซ่ทองคล้องใจ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังมีลูกไม่ได้สักที หนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะคุณผู้หญิงอาจมองข้ามไป คือเนื้องอกในโพรงมดลูก อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ตั้งครรภ์ยาก และแท้งง่ายอีกด้วย การใส่ใจสัญญาณเตือนและรู้เท่าทันโรคนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
แพทย์หญิงรุ่งทิวา กมลเดชเดชา สูติ-นรีแพทย์ สาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ และแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัด ผ่านกล้องทางนรีเวช ศูนย์สุขภาพสตรีกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า เนื้องอกโพรงมดลูกคือ ก้อนเนื้อหรือติ่งเนื้อที่โตเป็นก้อนนูนอยู่ในบริเวณโพรงมดลูก ลักษณะการเติบโตจะเป็นแบบค่อยๆ โตไปอย่างช้าๆ ขนาด ตำแหน่ง และจำนวนที่พบอาจแตกต่างกันออกไปในคนไข้แต่ละราย พบได้บ่อยในผู้หญิงอยู่ในวัยมีประจำเดือน โดยเฉพาะอายุตั้งแต่ 30-40 ปี เนื้องอกเหล่านี้อาศัยฮอร์โมนในร่างกายเป็นตัวกระตุ้นการเจริญเติบโต เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนที่สร้างจากรังไข่สามารถกระตุ้นให้เนื้องอกมีขนาดโตขึ้นได้ และยังไม่มียาที่จะทำให้เนื้องอกเล็กหรือฝ่อลง แต่เมื่อไหร่ก็ตามหากเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรือวัยทอง ขนาดของเนื้องอกก็สามารถเล็กและฝ่อลงได้
การเกิดเนื้องอกในมดลูกส่วนใหญ่มีอยู่ 3 ตำแหน่งที่พบได้ คือ เนื้องอกบริเวณผิวนอกผนังมดลูก เนื้องอกในเนื้อมดลูกหรือในผนังมดลูก และเนื้องอกในโพรงมดลูก โดยส่วนใหญ่จะมีทั้งแบบที่เป็นเนื้องอกและเป็นติ่งเนื้อ บางครั้งเนื้องอกมดลูกอาจขยายใหญ่ นูนจนเข้าไปเบียดในโพรงมดลูก มีอาการที่สังเกตได้คือ ข้อแรก ประจำเดือนมากผิดปกติ แต่ผู้หญิงบางคนอาจไม่รู้ตัว เพราะเป็นการเพิ่มปริมาณเยอะขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อไปตรวจสุขภาพก็จะพบอาการเลือดจางลง เพราะก้อนเนื้อเหล่านี้ จะไม่โตอย่างรวดเร็ว ประจำเดือนอาจจะมาเยอะขึ้น เช่น ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยขึ้น มีลิ่มเลือดปน หรือมีเลือดออกนานขึ้นกว่าเดิม ซึ่งปกติแล้วจะไม่เกิน 1 สัปดาห์ มีเพียงส่วนน้อยที่มีอาการปวดท้อง หรือบางครั้งไม่ใช่ช่วงที่มีประจำเดือนมาตามปกติ แต่กลับกลายเป็นว่ามีประจำเดือนมาซึ่งยังไม่ถึงช่วงรอบเดือน ข้อสองการมีบุตรยาก เป็นข้อที่ผู้หญิงหลายคนอาจมองข้ามไปสำหรับผู้หญิงที่อยากมีลูกแต่ไม่สามารถมีได้ การมีก้อนเนื้องอกในโพรงมดลูก เป็นสาเหตุที่ทำให้มีบุตรยาก เนื่องมาจากเนื้องอกที่เกิดและเจริญเติบโตอยู่ในโพรงมดลูกขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน จึงทำให้มีบุตรยากขึ้น ขณะเดียวกันก็แท้งบุตรได้ง่ายเนื่องจากเนื้องอกส่งผลให้โพรงมดลูกผิดรูป สาเหตุที่ทำให้เกิดเนื้องอกในโพรงมดลูกยังไม่ชัดเจน แต่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศหญิงที่มีส่วนกระตุ้นทำให้เกิดเนื้องอกได้
การตรวจรักษาด้วยการวินิจฉัยเบื้องต้นโดยการอัลตราซาวนด์ ควรมาตรวจอัลตราซาวนด์ช่วงประมาณวันที่ 12 ของรอบเดือน โดยนับตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือน เพราะจะทำเห็นรายละเอียดภายในโพรงมดลูกได้ค่อนข้างชัดเจน นอกจากนี้ สามารถตรวจโดยการส่องกล้องตรวจในโพรงมดลูก (Hysteroscopy) เป็นการตรวจที่ช่วยให้เห็นภาพภายในโพรงมดลูกเพื่อการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างถูกต้อง การผ่าตัดส่องกล้องที่เรียกว่า Minimal Invasive Surgery : MIS โดยการใส่กล้องขนาด 3 มม.ผ่านทางช่องคลอด ทำให้แผลเล็กเจ็บน้อย ลดภาวะแทรกซ้อน และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติค่อนข้างเร็ว แต่ทั้งนี้ในผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไปอาจต้องระมัดระวังให้มากขึ้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ก้อนเนื้องอกเหล่านี้เติบโตจากฮอร์โมนในร่างกาย ผู้หญิงที่มีน้ำหนักส่วนเกินมากๆ ก็มีความเสี่ยงได้เช่นกัน เพราะหากอ้วนมากๆ ไขมันใต้ผิวหนังจะสามารถเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนไปกระตุ้นโพรงมดลูก ทำให้เกิดการหนาตัวขึ้นได้ การป้องกัน
ที่ดีที่สุดคือไม่ควรละเลยการตรวจภายในเป็นประจำทุกปีหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี