กระบวนพยุหยาตราทางเรือหนึ่งเดียว
ด้วยรัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรมได้จัดนิทรรศการองค์ความรู้เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องใน
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกบั้นปลายที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ อาทิตย์นี้ได้ตามรอยองค์ความรู้ถึงราชประเพณีนี้ ณ ท้องสนามหลวงกรุงเทพมหานครที่น่าจะเป็นแห่งเดียวในโลกที่ยังมีเรือพระราชพิธีและการจัดกระบวนเรือตามพระราชพิธีอย่างโบราณ เดิมนั้นเรียกว่ากระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่จัด ริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีสำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินทางน้ำในพระราชพิธีสำคัญและส่วนพระองค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศให้ปรากฏที่มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรีและรัตนโกสินทร์ จนปัจจุบันนี้ หากสืบความจากหลักฐานเก่าจะพบว่าในสมัยสุโขทัยนั้นมีหลักฐานว่าพระร่วงเจ้าทรงใช้เรือออกไปลอยกระทง หรือพิธีจองเปรียงลอยประทีป ณ กลางสระน้ำพร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามคืนเพ็ญเดือนสิบสองในสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นเมืองเกาะล้อมรอบด้วยแม่น้ำลำคลองหลายสาย เส้นทางน้ำจึงเป็นเส้นทางสำคัญของการสู้รบและคมนาคมทั้งในยามศึกสงครามและยามสงบ จึงมีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคสำคัญที่บันทึกถึง กระบวนพยุหยาตราเพชรพวงในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันเป็นกระบวนพยุหยาตราใหญ่ จัดทั้งกระบวนพยุหยาตราทางบกและทางน้ำและในรัชกาลพระเจ้าปราสาททองได้มีการสร้างเรือพระที่นั่งกิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้คิดการเห่เรือด้วยกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ซึ่งถือเป็นต้นแบบกาพย์เห่เรือมาจนทุกวันนี้ในสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างเรือรบและเรือราชพิธีขึ้นใหม่แทนเรือที่มีอยู่เดิมแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาที่ถูกทำลายไปจำนวนมากสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นได้เน้นเรือเอกชัยสำหรับใช้ในการสงครามสู้รบทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเรือสำคัญสำหรับพระราชพิธีโบราณนั้นทรงสร้างเรือพระที่นั่งสุวรรณพิไชยนาวาท้ายรถ เรือพระที่นั่งศรีสักหลาด และเรือโขมดยาปิดทองทึบ เป็นต้น และสมัยรัตนโกสินทร์นั้น ได้มีการสร้างเรือพระที่นั่งสำคัญเพิ่มขึ้นตามแบบเรือพระราชพิธีโบราณอีกหลายลำจนนับว่าเป็นเรือพระราชพิธีสำหรับกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่มีการอนุรักษ์ไว้ครบถ้วนตามความสำคัญของพิธี ดังปรากฏในเรื่อง ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวงลิลิตพรรณนากระบวนเรือ ซึ่งประพันธ์โดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๐ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยรักษาขนบประเพณีตามแบบแผนเดิมที่มีมาแต่สมัยอยุธยา สำหรับการเห่เรือนั้นแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ การเห่เรือหลวงในงานพระราชพิธี และการเห่เรือเล่นของชาวบ้านในงานต่างๆที่มีการพัฒนามาเป็นเพลงเรือหรือสักวาหน้าน้ำที่นับวันจะหมดไปคงเหลือแต่การเห่เรือในพระราชพิธีสำคัญที่มีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งขึ้นอยู่กับวาระของพระราชพิธีสำคัญที่มีไม่บ่อยครั้งนัก
นิทรรศการประวัติศาสตร์ฯที่น่าสนใจ
ด้วยเหตุนี้ข้อมูลความรู้ของพระราชพิธีนี้จึงสำคัญที่จะต้องมีการเรียนรู้และเข้าใจถึงมรดกทางวัฒนธรรมหนึ่งเดียวโดยผ่านการชมนิทรรศการองค์ความรู้ที่จัดเป็นส่วนต่างๆ เช่น ส่วนที่ ๑ “เถลิงถวัลยราชสมบัติ สยามรัฐสีมา” แสดงองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษกผ่านจอ LED กว่า ๑๔ เมตร พร้อมอักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตา และห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์งานพระราชพิธี การแสดงถึงความสุขของคนไทยใต้ร่มพระบารมี การจัดแสดงเรือพระที่นั่งจำลอง ๕๒ ลำให้เห็นภาพกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค และ องค์ความรู้เรื่องเรือจากอดีตถึงปัจจุบันผ่านจอ LED ขนาดใหญ่และบทกาพย์เห่เรือ จาก Sound Dome ส่วนที่ ๒“ศรีศุภยาตรา ปวงประชารวมใจถวายพระพร” จัดแสดงเรือพระที่นั่งจำลอง ๔ ลำกลางแจ้ง ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ พร้อมมีการแสดงเห่เรือจากกองทัพเรือ การแสดงมหกรรมศิลปวัฒนธรรมไทย ๔ ภูมิภาค การแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ การแสดงละครนอกและละครใน ส่วนที่ ๓“ม่านธาราลือขจร เฉลิมราชย์องค์ราชัน” จัดแสดงม่านน้ำประกอบแสง สี เสียง สื่อผสมแสดงถึงวิถีชีวิตคนไทยกับสายน้ำที่ผูกพันกันมาแต่ครั้งอดีตจนเป็นกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค แสดงภาพพระราชกรณียกิจต่างๆส่วนสุดท้าย “เอมอิ่มสุขสันต์ ครบครันสำรับไทย” นำเสนอวิถีไทยและสุดยอดอาหารไทยเลิศรส ซึ่งจัดแสดงตั้งแต่วันที่ ๒๕ ตุลาคม-๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ให้ทุกคนร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ ในหลวง รัชกาลที่ ๑๐จากนิทรรศการองค์ความรู้ครั้งนี้ด้วยกัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี