สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
วันศุกร์ที่ ๑๗ เมษายน ที่ผ่านมา เป็นวันเกิดของพระอมตะเถระรูปสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ชาวไทยรู้จักดี คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หรือ สมเด็จโตซึ่งทุกปีนั้นเป็นที่รู้กันว่าที่วัดสะตือ ตำบลท่าหลวงอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้นจะมีผู้เคารพนับถือทยอยมาร่วมกันตั้งโรงทานอุทิศกุศลให้กับสมเด็จโต ปีนี้ แม้จะประกาศงด ปิดวัดตามสถานการณ์โควิด-19ก็ตาม ก็ยังมีผู้นับถือนำอาหารมาบริจาคให้กับชาวบ้านตามประเพณี อาทิตย์นี้ได้ตามรอยภูมิสถานของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โตพรหมรังสี) ไปที่ตำบลท่าหลวง ซึ่งมีสถานที่สำคัญ คือ บ้านไก่จ้น และวัดสะตือ สถานที่สร้างพระพุทธรูปนอนปางไสยาสน์โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ พระพุทธรูปปางนี้ มีความยาว ๒๕ วา กว้าง ๔ วา ๒ ศอกสูง ๘ วา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ตรงข้ามกับบ้านไก่จ้น ตำบลถิ่นกำเนิดของท่าน ในบันทึกประวัติวัดสะตือ กล่าวว่า เจ้าคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โตพรหมรังสี) ถือกำเนิดในรัชกาลที่ ๑ ตำบลบ้านไก่จ้นเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑ สัมฤทธิ์ศกจุลศักราช ๑๑๕๐ โยมมารดาชื่องุดหรือละมุดโยมตาชื่อผล โยมยายชื่อลา ชีวิตในวัยเยาว์นั้นได้ติดตามโยมมารดาไปอยู่กับโยมยายในตำบลไชโย จังหวัดอ่างทอง ต่อมาได้ย้ายจากตำบลไชโยไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลบางขุนพรหม และได้มอบตัวให้เป็นศิษย์ของท่านเจ้าคุณอรัญญิกเจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม เล่าเรียนอักขระ จนเมื่ออายุได้ ๑๒ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอินทรวิหาร เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี พุทธศักราช ๒๓๕๑ นั้นรัชกาลที่ ๑ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อุปสมบทเป็นนาคหลวงณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก) เป็นอุปัชฌาย์ ให้ฉายาว่าพรหมรังสี ในปี พ.ศ.๒๔๑๓ เจ้าประคุณสมเด็จ ได้มาทำการก่อสร้างพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปางไสยาสน์ริมแม่น้ำป่าสักดังกล่าวเจ้าประคุณสมเด็จมรณภาพเมื่อต้นรัชกาลที่ ๕เมื่อวันเสาร์ แรม ๒ เดือน ๘ ค่ำ ปีวอก จัตวาศกจุลศักราช ๑๒๓๔ ตรงกับวันที่ ๒๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๕ เวลา ๒๔.๐๐ น. ศาลาใหญ่วัดบางขุนพรหม หรือวัดอินทรวิหาร สิริรวมอายุ๘๔ ปี ๖๔ พรรษา
สมเด็จโต พระอมตะเถระ
ดังนั้นการสร้างพระพุทธไสยาสน์ที่วัดสะตือจึงมีความสำคัญเช่นเดียวกับพระพุทธรูปนั่งที่วัดไชโยและพระพุทธรูปยืนที่วัดอินทรวิหาร สำหรับวัดไก่จ้นนั้นเป็นวัดที่อยู่ตรงข้ามกับวัดสะตือ ปัจจุบันมีการสร้างสะพานเหล็กเชื่อมถึงกัน วัดไก่จ้นนี้สร้างขึ้นภายหลังเมื่อพ.ศ.๒๓๗๕ จึงเชื่อว่าสมเด็จโตกำเนิดที่ตำบลไก่จ้นบางแห่งว่าท่านกำเนิดในเรือ แล้วบวชเรียนที่วัดสะตือ ซึ่งเป็นวัดเก่าที่มีร่องรอยว่าเป็นวัดมาแต่ครั้งอยุธยาแล้ว ภายหลังสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้กลับมาสร้างพระนอนขึ้นไว้ที่นี่ขึ้น ต่อมาพระนอนนี้ได้มีการบูรณะซ่อมแซมพระพุทธไสยาสน์ขึ้นครั้งแรกในปีจอ พ.ศ. ๒๔๖๕ โดย พระอุปัชฌาย์บัตรจนฺทโชติ เจ้าอาวาสวัดสะตือ ได้จ้างนายเรือง ไวยฉาย,นางบาง ไวยฉาย และนายเปล่ง แหวนเพชร์ และชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันบริจาคเงินและจัดหาปูน ทำการบูรณปฏิสังขรณ์อยู่ถึง๔ ปี จึงแล้วเสร็จ ในปีฉลู พ.ศ. ๒๔๖๘ ตั้งแต่นั้นมาก็จัดประเพณีนมัสการและปิดทองพระนอน ถือเป็นงานเทศกาลประจำปีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ ภูมิสถานอันเป็นถิ่นกำเนิดแห่งนี้ได้มีเหตุการณ์สำคัญให้ระลึกถึง คือในคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสวัดสะตือ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑ นั้น เจ้าอธิการดิส เจ้าอาวาสวัดไก่จ้นได้แต่งซุ้มเฝ้าฯรับเสด็จ ที่หน้าวัด โดยแต่งซุ้มเป็นรูปไก่ ประดับไฟตะเกียง พร้อมทั้งเขียนโครงยอพระเกียรติ ครั้งนั้นพระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยเจ้าอธิการดิส เจ้าอาวาสวัดบ้านไก่จ้นที่เขียนคำโครงยอพระเกียรติ แต่งซุ้มเฝ้าฯรับเสด็จประกอบทั้งคุณงามความดีของเจ้าอธิการดิสในด้านการศึกษาและพัฒนาวัดจึงได้โปรดเกล้าฯให้อาราธนาไปอยู่วัดสุวรรณดาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระสุวรรณวิมลศิล” ต่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดาราม ใน พ.ศ. ๒๔๔๕-๒๔๖๘ และสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้น พระองค์ได้เสด็จฯและทรงสร้างเขื่อนทดน้ำแห่งแรกของประเทศไทย กักน้ำจากแม่น้ำป่าสักเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร เดิมชื่อเขื่อนพระเฑียรราชา ภายหลังเปลี่ยนเป็นเขื่อนพระราม ๖ มีบานเหล็กจำนวน ๕ ช่อง ทำหน้าที่เป็นประตูระบายน้ำขนาดใหญ่ สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกกว่า ๖๘๐,๐๐๐ ไร่ ดังนั้นน้ำท่วมไม่ท่วม-น้ำมาก-น้ำน้อย ก็ดูกันจากระดับน้ำของเขื่อนที่นี่ได้ ซึ่งเรียกเป็นตำบลท่าหลวงไปแล้ว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี