หลวงพ่อโต
ถิ่นฐานบ้านมอญในสมัยอยุธยานั้นถือว่าบ้านสามโคกเป็นชุมชนมอญขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกับกรุงศรีอยุธยา การตามรอยสยามอาทิตย์นี้ ได้ตามรอยไปที่ตำบลสามโคก ซึ่งมีวัดเก่าแก่ของชุมชนอยู่คือวัดสิงห์ ประวัติวัดระบุว่าวัดนี้ได้รับวิสุงคามสีมาคือ ได้รับพระราชทานพื้นที่จากพระเจ้าแผ่นดินให้สร้างโบสถ์เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๒๑๐ เป็นวัดแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย หน้าพระอุโบสถ์มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองอยู่หน้าโบสถ์ ๕ องค์ ส่วนพระอุโบสถนั้น กว้าง ๘.๕๐ เมตรยาว ๑๘.๐๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๐๐ พระประธานในอุโบสถศิลปะอยุธยากลาง หน้าตักกว้าง ๕ ศอกสูง ๖ ศอก พร้อมด้วยพระพุทธรูปบนฐานชุกชีโดยรอบแบบอยุธยา ข้างพระอุโบสถเป็นวิหารน้อย ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาทรายแดงเรียกหลวงพ่อดำ ด้านหลังวิหารมีโกศบรรจุอัฐิพระยากาย อดีตเจ้าอาวาสวัดสิงห์ เป็นงานประติมากรรมวิจิตรงดงามแบบศิลปะมอญโบราณนอกกำแพงแก้วเป็นศาลาโถงหรือศาลาดิน ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ (หลวงพ่อเพชร) เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง กว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ๕ นิ้ว และพระพุทธรูปหลวงพ่อโตปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๓ นิ้วสูง ๕ ศอก ด้านหลังมีภาพเขียนพระพุทธรูป ๓ องค์และรอยพระพุทธบาทจำลองไม้สัก ลงรักปิดทองเป็นฝีมือช่างต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนที่เป็นถิ่นฐานบ้านมอญนั้นมีแหล่งเตาโบราณอยู่ด้านหน้าวัดสิงห์ ซึ่งเดิมเป็นถิ่นฐานบ้านมอญสามโคก ที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่เมื่อครั้งอยุธยา ซึ่งมีวัดหลายวัดและคลองเชื่อมต่อถึงกัน ได้แก่ วัดตำหนัก วัดสะแก วัดสามโคก วัดสิงห์ วัดช่องลมวัดแจ้งนอก วัดแจ้งใน วัดป่าฝ้าย วัดไก่เตี้ย โดยมีลำคลองจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ชุมชนและวัดต่างๆ ๙ สาย คือคลองวัดตำหนัก คลองวัดสะแก คลองเกาะปิ้น คลองบ้านทาส คลองวัดสิงห์ คลองวัดแจ้ง คลองขนอน คลองวัดป่าฝ้าย
อาคารอำเภอสามโคก
จากบันทึกของต่างชาติที่เดินทางเข้ามาค้าขายในสมัยอยุธยานั้นในแผนที่แสดงเส้นทางแม่น้ำจากทะเลอ่าวไทยถึงกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเขียนโดย “มองซิเออร์ เดอร์ รามา” นั้น ได้ระบุชื่อย่านบ้านตำบลทั้งสองฟากฝั่งลำน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะแผนที่ชาวฮอลันดาเขียนขึ้นในปี ค.ศ.๑๓๒๖ ตรงกับแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พ.ศ.๒๒๖๙ ได้เขียนภาพสัญลักษณ์เช่น ภาพบ้านเรือน วัด โบสถ์ วิหาร เจดีย์ วัง กำแพงเมือง ป้อมค่ายคูเมือง ป่าไม้ ภูเขาซึ่งทำให้รู้ถึงที่ตั้งชุมชนหมู่บ้านวัดต่างๆ ในสมัยอยุธยาที่ตั้งอยู่ริมสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น บ้านบางหลวง (Ban bouang) บ้านเตร็จใหญ่(Ban TretYai) บ้านเหนือ (Ban Niou) บ้านพร้าว(Ban Clas) บ้านสมัคร (Ban Seumac)บ้านกร่าง (Ban Tran) ปัจจุบันชื่อบ้านได้เปลี่ยนไปเช่น บ้านเตร็จใหญ่ เป็น บ้านใหม่ บ้านปากเตร็จใหญ่เป็น บ้านกระแซง บ้านเหนือ เป็น ปทุมธานี สำหรับย่านสำคัญริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณคุ้งน้ำฝั่งตะวันตก ที่ระบุไว้คือย่าน “Potte-Bakkers Dro” หมายถึงหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผา หรือ “หมู่บ้านปั้นหม้อ” ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญของสามโคกว่า หมู่บ้านนี้ประกอบอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาออกจำหน่าย ด้วยมีการก่อตั้งโคกเนินดินสร้างเตาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไว้สามโคก แต่ละโคกนั้นก่อเตาเรียงคู่ขนานสลับซับซ้อนกันอยู่ ประมาณว่าทั้งสามโคกนั้นมีเตารวมกันไม่น้อยกว่า ๑๕ เตา จากหลักฐานการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีโดย กรมศิลปากร เมื่อมีนาคม พ.ศ ๒๕๔๓ บริเวณโคกเนินเตาเผาที่ ๑ นั้นพบเตาเผาปรากฏอยู่ ๔ เตาเรียงซ้อนกันอยู่ในโคกเนินเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ที่พบได้แก่ ตุ่มอีเลิ้ง อ่าง ครก กระปุก โถ หม้อน้ำ หวดนึ่งข้าวเตา ชาม ตะคัน ท่อน้ำ ภาชนะบางชิ้นมีการตกแต่งด้วยลวดลายขูดขีด หรือลายกดประทับเป็นลายดอกพิกุล ลายดอกไม้กลีบบัว ลายกระจัง ลายจักรบางชิ้นมีจารึกเป็นภาษามอญ ที่แปลความหมายไม่ได้ บางชิ้นเป็นภาษาไทย ว่า “หนังสือออกหลวง” จึงประมาณเอาว่าแหล่งเตาเผาที่บ้านสามโคกนี้เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ิเมือง-ใหญ่ในสมัยอยุธยา โดยเฉพาะ “ตุ่มอีเลิ้ง” คือตุ่มดินแดงไม่เคลือบ ปากเล็กก้นลึก กลางป่อง ได้เรียกตามชื่อแหล่งผลิตว่า “ตุ่มสามโคก” ถือเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาชาวมอญสามโคกที่มีชื่อเสียงมาก ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ แหล่งเตานี้ได้เลิกไปและย้ายไปใช้บริเวณย่านเกาะเกร็ดแทน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี