หลายคนไม่มีความรู้เรื่องยา แต่กลับชอบซื้อยากินเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก หลายคนเมื่อนึกถึงยาแคปซูลสีต่างๆ สีดำแดง เขียวฟ้า ขาวชมพู ก็เข้าใจ (เอาเอง) ว่ายาเหล่านี้คือยาแก้อักเสบ ซึ่งจริงๆ แล้วส่วนใหญ่ยาเหล่านี้ไม่ใช่ยาแก้อักเสบ แต่เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือยาต้านจุลชีพ หรือยาปฏิชีวนะ หน้าที่ของยาปฏิชีวนะส่วนใหญ่คือจัดการกับเชื้อโรค จำพวกเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา เป็นต้น
ขอย้ำว่ายาแก้อักเสบไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ อาการอักเสบคืออาการปวด บวม แดง ร้อน ซึ่งเป็นปฏิกิริยาเคมีของร่างกายที่ตอบสนองต่อการบาดเจ็บ เช่น หกล้ม ข้อเท้าแพลง เหงือกอักเสบ การติดเชื้อแบคทีเรียก็อาจทำให้เกิดการอักเสบได้ เราใช้ยาแก้อักเสบ เพื่อยับยั้งการเกิดอาการอักเสบ บรรเทาอาการเจ็บปวด ไม่ว่าความเจ็บปวดจะมาจากสาเหตุใดก็ตาม ดังนั้นยาที่ใช้ เช่น ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) หรือยากลุ่มเอ็นเซด (NSAIDs) เช่น ไอบรูโพเฟน ไดโคลฟีแนค มีเฟนามิกแอซิด เป็นต้น
ส่วนยาฆ่าเชื้อ ใช้เพื่อฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ยาส่วนใหญ่ใช้กับเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น การที่คนจำนวนมากเข้าใจว่ายาแก้อักเสบก็คือยาปฏิชีวนะ ทำให้ใช้ยาผิด และเป็นอันตรายต่อสุขภาพและต่อชีวิตในที่สุด
ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะถูกออกแบบมาเพื่อจัดการเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เรามียาที่ใช้เพื่อทำลายอวัยวะสำคัญของเชื้อแบคทีเรีย เช่น ผนังเซลล์ที่เป็นเกราะป้องกันของมัน ถ้ายาทำลายกระบวนการสร้างเกราะของมันได้ ก็ทำให้เชื้อแบคทีเรียตาย หรือยาบางชนิดใช้เพื่อยับยั้งกระบวนสร้างโปรตีนของแบคทีเรีย ซึ่งโปรตีนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเชื้อ จึงทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตไม่ดี หรือหยุดเจริญเติบโต
ปัจจุบันเรามียาหลากหลายใช้เพื่อกำจัดเชื้อโรคต่างๆ เช่น ยาฆ่าเชื้อรา เพื่อจัดการกับเชื้อรา ยาฆ่าเชื้อไวรัส ใช้จัดการกับไวรัส สำหรับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียก็มีหลากหลายจึงต้องใช้ให้จำเพาะกับชนิดของแบคทีเรีย และอวัยวะที่เกิดการติดเชื้อ ดังนั้น ถ้าเรานำยาที่ออกแบบมาเพื่อทำลายอวัยวะแบคทีเรียไปรักษาการติดเชื้อไวรัส ทั้งๆ ที่ไวรัสไม่มีอวัยวะดังกล่าว ก็ไม่เกิดประโยชน์ และไม่ทำให้อาการป่วยหายไป ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันมีสูตรการใช้ยาอะม็อกซีซิลินเพื่อการฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งๆ ที่ยาอะม็อกซีซิลินเป็นยาที่ใช้ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งไวรัสไม่มีอวัยวะดังกล่าว จึงตอบได้ว่า การใช้ยาผิดไม่สามารถจัดการกับเชื้อไวรัส
โควิด-19 ได้
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่พบบ่อยมาก คือ ผู้เป็นหวัดมีอาการเจ็บคอ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส ในกรณีของเชื้อไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ เราอาจมียาที่ใช้จัดการกับมันได้ แต่สำหรับหวัดเจ็บคอทั่วไปที่เกิดจากเชื้อไวรัสอื่นๆ นั้น เรายังไม่มียารักษา แต่ร่างกายของเราจะรักษาตัวเอง และการให้ยารักษาตามอาการ ซึ่งอาการป่วยจะหายไปในที่สุด เพราะฉะนั้น ถ้าเราใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียกับอาการหวัดเจ็บคอที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส ก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะไม่มีแบคทีเรียให้ฆ่า ส่วนไวรัสที่มีอยู่นั้น ยาที่ใช้ก็ฆ่าไม่ได้
ในทางกลับกัน ยาที่กินกลับทำให้แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในร่างกายของเรามีโอกาสเรียนรู้และกลายเป็นต้นเหตุการดื้อยา แล้วยังสามารถถ่ายทอดความสามารถการดื้อยาให้เชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ อีก ซึ่งอาจเป็นแบคทีเรียก่อโรคที่เข้ามาในร่างกาย ทำให้แบคทีเรียชนิดนั้นดื้อยาได้ เป็นสาเหตุทำให้เราไม่สามารถใช้ยาฆ่าเชื้อตัวเดิมได้ผลอีกต่อไป ต้องเปลี่ยนยา หรือเลวร้ายที่สุดคือ อาจไม่มียารักษาได้
ซึ่งพบได้บ่อยๆ ว่าผู้ป่วย ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคอะไร หรือป่วยจากอุบัติเหตุ มะเร็ง โรคหัวใจ แต่กลับพบว่าหลายครั้งผู้ป่วยเหล่านั้นไม่ได้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว แต่กลับเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ซึ่งไม่มียาตัวใดรักษาได้ เพราะฉะนั้น ถ้ามีอาการเจ็บป่วย แล้วสงสัยว่าติดเชื้อ ต้องมีการตรวจวินิจฉัยโรคโดยแพทย์เพื่อให้แน่ใจว่าติดเชื้อหรือไม่ และเป็นเชื้อโรคประเภทใด จะได้ใช้ยากำจัดเชื้อโรคได้ถูกต้องแม่นยำ
นี่เป็นแค่เพียงสาเหตุหนึ่งของการเกิดเชื้อดื้อยา สัปดาห์หน้า เราจะมาพูดคุยแนวทางการลดปัญหาเชื้อดื้อยาในคน ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้คนเจ็บป่วยและเสียชีวิต เพราะไม่มียารักษาได้ ซึ่งต้องเน้นเรื่องการใช้ยาฆ่าเชื้อ หรือยาปฏิชีวนะโดยไม่พร่ำเพรื่อ ใช้ยาถูกกับเชื้อใช้ยาอย่างถูกต้อง คือปัจจัยสำคัญทำให้ลดปัญหาการดื้อยาได้ขอย้ำว่า เมื่อใช้ยาทั้งที ต้องใช้แล้วรักษาโรคให้หาย ต้องไม่ก่อปัญหาดื้อยาในอนาคต
ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี