ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว เมื่ออายุมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเรื้อรังต่างๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หัวใจหลอดเลือด และอื่นๆ อีกมากมาย ยิ่งอายุยืนยาวมากขึ้นจำนวนโรคประจำตัวก็เพิ่มขึ้น สิ่งที่เพิ่มตามมาก็คือ รายการยาที่ต้องใช้ในแต่ละวันนั่นเอง และหากจำนวนรายการยาท่ี่ผู้ป่วยแต่ละคนต้องใช้มากกว่า 5-7 ชนิดขึ้นไป จะเข้าข่ายที่เรียกว่า polypharmacy หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า การใช้ยาฟุ่มเฟือยนั่นเอง
แล้วการใช้ยาหลายรายการนี้เป็นปัญหาอย่างไร ในเมื่อคนป่วยก็ไปพบแพทย์ แพทย์วินิจฉัยโรคและสั่งจ่ายยาเพื่อรักษาโรคที่วินิจฉัยได้ เพราะยาไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่จะเลือกหามาใช้ด้วยตัวเองสักหน่อย แถมคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อยากจะกินยาให้เป็นภาระตับไตอยู่แล้ว ประเด็นก็คือ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ได้พบแพทย์เพียงคนเดียว เป็นความดันโลหิตสูงก็ไปพบแพทย์ท่านหนึ่ง ต่อมาเป็นโรคกระดูกก็ไปพบแพทย์อีกท่านหนึ่ง สมมุติแพทย์ 1 คนสั่งยาเพียง 3 รายการ การพบแพทย์ 2 คนก็ทำให้ได้รับยาถึง 6 รายการ ไม่รวมยาสามัญประจำบ้านบางรายการที่ซื้อใช้เอง เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้แพ้ หรือบางคนรักสุขภาพมาก กินวิตามินหรืออาหารเสริมบำรุงสุขภาพเพิ่มเข้าไปอีก จึงไม่น่าแปลกใจที่พบว่าผลการสำรวจในประเทศเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาพบความชุกของการใช้ยามากกว่า 5 รายการของผู้สูงอายุในชุมชนสูงถึงร้อยละ 29-36.8หรือพูดให้เข้าใจง่ายคือ ประมาณทุก 3 จาก 10 คน ของผู้สูงอายุกำลังใช้ยามากกว่า 5 รายการนั่นเอง
ถ้าไม่รวมถึงปัญหายาตีกันซึ่งจะพูดถึงอย่างละเอียดในสัปดาห์หน้า การใช้ยาฟุ่มเฟือยหรือ polypharmacy เพิ่มความเสี่ยงหลายอย่างในผู้ใช้ยา อย่างแรกก็คือ โอกาสการใช้ยาผิดพลาดคลาดเคลื่อน ลืมกินยา กินแล้วกินซ้ำ ยาที่ต้องกินก่อนอาหารไปกินหลังอาหาร ยาที่ต้องกินหลังอาหารทันทีก็ไปกินตอนท้องว่าง สารพัดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อยาอยู่ในมือของผู้ป่วย ยิ่งจำนวนรายการมากผู้ป่วยก็ยิ่งมีโอกาสไม่ร่วมมือในการใช้ยาได้มาก ยังไม่รวมถึงคุณภาพยาเมื่อถูกเก็บรักษาในแต่ละครัวเรือน ซึ่งความท้าทายของประเทศร้อนชื้นอย่างประเทศก็คือ อุณหภูมิและความชื้น อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยคือประมาณ 28-30องศาเซลเซียส แต่ยาส่วนใหญ่แนะนำให้เก็บไว้ที่อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส ซึ่งแปลว่า หากผู้ป่วยไม่ได้เก็บยาไว้ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา ยาที่อยู่ในมือผู้ป่วยคือยาที่กำลังถูกเก็บรักษาอย่างไม่เหมาะสมนั่นเอง ยิ่งจำนวนยามากระยะเวลาที่แพทย์นัดยาว ผู้ป่วยก็จะยิ่งมียาเก็บไว้และเสี่ยงต่อการเสื่อมคุณภาพเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่ปัญหายาเหลือใช้ที่กลายเป็นขยะพิษในที่สุด เป็นค่าใช้จ่ายของประเทศชาติมหาศาลในแต่ละปี
แล้วปัญหาการใช้ยาฟุ่มเฟือยจะจัดการอย่างไร อันดับแรกคือ ผู้ป่วยและผู้สั่งใช้ยาต้องมีความตระหนักถึงปัญหานี้ก่อน ผู้ป่วยหรือผู้ใช้ยาก็ควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยาที่ตนเองกำลังรับประทาน อย่างน้อยควรทราบชื่อยาและข้อบ่งใช้ และควรจดจำหรือทำบันทึกรายการยาทั้งหมดที่กำลังใช้อยู่และแจ้งกับแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับยาที่กำลังใช้เพื่อให้เกิดการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่แพทย์กำลังจะสั่งยาใหม่เพิ่มเข้าไป หรือเมื่อผู้ป่วยต้องการใช้วิตามินหรืออาหารเสริมเพิ่มเติมจากยาที่ตนเองใช้อยู่ อีกอย่างที่ผู้ป่วยสามารถทำได้คือการนำยาที่เหลือแต่ละครั้งติดตัวไปโรงพยาบาลด้วยเสมอ หรืออย่างน้อยควรนับจำนวนยาที่เหลือแต่ละรายการติดไปด้วยเพื่อเวลาที่แพทย์สั่งยาจะได้ลดจำนวนยาใหม่ที่จะได้รับมาสะสมที่บ้าน สำหรับการเก็บรักษายาที่บ้าน ผู้ป่วยควรจัดหาสถานที่เก็บยาที่ไม่ร้อน ไม่ชื้น แสงแดดส่องโดยตรงไม่ถึงเพื่อคงคุณภาพของยาให้ยาวนานที่สุด ลดยาเสื่อมสภาพที่จะต้องทิ้งไปโดยไม่เกิดประโยชน์
อ่านถึงตรงนี้ผู้ใช้ยาหลายคนที่มีรายการยาต้องใช้ในแต่ละวันมากกว่า 5-7 รายการอาจจะเริ่มกังวลใจว่า เอ๊ะ! ฉันกำลังอยู่ในกลุ่มผู้ใช้ยาฟุ่มเฟือยหรือไม่ คำตอบคือ ถ้ายาทุกตัวที่กำลังใช้อยู่มีข้อบ่งใช้ จำเป็นต้องใช้ แพทย์หรือเภสัชกรของท่านทบทวนอย่างดีแล้วว่าแต่ละตัวไม่ได้ซ้ำซ้อนกันหรือตีกัน ต่อให้ท่านใช้ยา 20 รายการก็ไม่เป็นปัญหาการใช้ยาฟุ่มเฟือย และท่านควรใช้ที่ได้รับมาอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด ในกรณีที่ท่านไม่แน่ใจหรือมีข้อสงสัยเรื่องรายการยาที่กำลังใช้ สามารถสอบถามได้ที่ @guruya ซึ่งจะมีเภสัชกรจากศูนย์ข้อมูลยาของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมให้คำแนะนำแก่ท่านเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี