น่าประหลาดใจที่งบประมาณด้านงานศิลปะมักถูกตัดทิ้งก่อนเป็นอันดับแรกเมื่อองค์กรหรือประเทศประสบวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ก็เข้าใจได้เพราะศิลปะไม่ใช่ปัจจัยสี่ของมนุษย์ แต่รู้สึกเสียดายที่งานศิลปะต้องถูกตัดทิ้งไป
ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย ไปสนทนากับ คุณสุดาพิมพ์ โพธิภักติ แห่ง บี มิวสิเคิล (BE Musical)ผู้ยืนยันว่างานศิลปะช่วยแก้ปัญหาให้ผู้คนและสังคมได้
l ร่ำเรียนมาด้านการแสดงหรือเปล่าครับ จึงรักการแสดง
คุณสุดาพิมพ์ : เรียนมาบ้างค่ะตอนสมัยเด็กๆ เรียนบัลเลต์ รำไทย แต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เรียนคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯจนหลายๆ คนหยอกล้อว่า จบนิติฯ เอกการแสดง (หัวเราะ) ตอนอยู่จุฬาฯ ได้อยู่ CU Band วงดนตรีสากลของจุฬาฯ ก็ร้องเพลงสนุกสนานไปตั้งแต่ปี 1 จนเรียนจบปริญญาตรี ชอบร้องเพลงมากค่ะร้องเพลงแล้วมีความสุข อยู่ CU Band ได้เรียนรู้หลายเรื่องเลย เรื่องการร้องเพลง เรื่องการมีปฏิสังสรรค์กับผู้คน เรื่องการทำงานร่วมกัน นับเป็นช่วงเวลาที่ดีมากช่วงหนึ่งของชีวิต อ้อ! อีกอย่างหนึ่งคือชอบดูละครเวทีมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น อยากเล่นละครเวทีมาก
l หลังจากจบนิติฯ ก็มุ่งเข็มเป็นนักแสดง นักร้องเลยหรือครับ ต้องไปเรียนต่อหาความรู้เพิ่มเติมด้านงานการแสดงไหมครับ
คุณสุดาพิมพ์ : มีจุดเปลี่ยนชีวิตนิดๆ ตอนอยู่ปี 4 รุ่นพี่ใน CU Band ชวนจ๋า (ชื่อเล่นของคุณสุดาพิมพ์) ไป Audition ละครเวทีเรื่องทวิภพ เดอะมิวสิเคิล จ๋าก็ไป เพราะอยากไปลองดูว่าเรามีความสามารถพอไหม ปรากฏว่าผ่าน จากนั้นก็เลยติดลม แล้วก็สนใจการแสดงละครเวทีมาโดยตลอด อย่างที่บอกคือจ๋าชอบร้องเพลงมาก แต่เรื่อง Acting ไม่มีความรู้เลย ก็ค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ แบบ learning by doing โดยอาศัยพื้นฐานการเรียนรำไทย การเต้นบัลเลต์มาช่วย แต่ก็โชคดีมากที่มี Action Coach มาช่วยสอนด้านการแสดง จ๋าก็เรียนรู้ไปที่ละขั้น จ๋าอยู่ในแวดวงละครเวทีประมาณ 2 ปี ก็จึงไปเรียนต่อด้าน Art Management ที่Shenandoah University รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐฯ เพราะอยากเรียนรู้ว่าการจัดละครเวทีมีขั้นตอนอย่างไร แต่ระหว่างที่เรียนก็หาเวลาไปเรียนร้องเพลงบ้าง เพราะอยากรู้ว่าการร้องเพลงบนละครเวทีมีทฤษฎีอย่างไร แล้วก็หาเวลาไปดูการแสดงที่นิวยอร์กบ้าง เพราะเวอร์จิเนียไม่ไกลจากนิวยอร์กมากนัก นั่งรถ 3-4 ชั่วโมงก็ถึงแล้ว หรือบางครั้งก็ไปที่วอชิงตัน ดี.ซี. ไปดูเวลาเขามี Touring Companyแบบ On Tour ก็ได้เห็นการแสดงต่างๆ นานาพอประมาณ ช่วยให้เรามีไฟมากขึ้น
l พูดถึงตรงนี้แล้ว ทำให้เราเห็นความแตกต่างเรื่องงานศิลปะต่างๆ ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และประเทศที่เจริญแล้วค่อนข้างมาก ในประเทศที่เจริญแล้วมีงานอาร์ตมากมาย แต่ของไทยมีน้อยกว่าเขา คุณจ๋าคิดว่าอะไรทำให้เกิดความแตกต่างครับ ทั้งๆ ที่คนไทยจำนวนไม่น้อยก็รักงานศิลปะมาก
คุณสุดาพิมพ์ : จ๋าว่าอาร์ตไม่ใช่ปัจจัยสี่ งานศิลป์ถูกมองว่าฟุ่มเฟือยโดยคนจำนวนไม่น้อย งานศิลป์ต้องเกิดในสังคมที่กินดีอยู่ดี ตัวอย่างเช่นปัจจุบันโลกเรามีปัญหาโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก คนหลายคนเริ่มตกงาน ทำให้เกิดความคิดว่าต้องเก็บเงินไว้ใช้ก่อน ส่วนงานศิลปะก็พักไว้ก่อน งานศิลปะถูกมองว่าแค่เรื่องภายนอก ไม่ทำให้ปากท้องอิ่ม อาร์ตช่วยได้แค่จรรโลงจิตใจเท่านั้น แต่ท้องไม่อิ่ม ดังนั้นจึงต้องเลือกระหว่างอิ่มใจกับอิ่มท้องซึ่งเข้าใจได้ในยามที่เงินทองมีจำกัด ก็ต้องเลือกใช้ เช่น ซื้อข้าวก่อนหรือซื้อโทรศัพท์มือถือก่อน แทนที่จะเอาเงินไปใช้เพื่องานศิลปะเรื่องนี้เป็นปัญหาเหมือนๆ กันทั่วโลกก็ว่าได้ ในสหรัฐฯ ก็มีปัญหาแบบนี้ แต่อาจไม่หนักเท่าบ้านเรา หรือประเทศอื่นๆ ที่ด้อยพัฒนากว่า ในสหรัฐฯ ก็มีการเรียกร้องให้รัฐสนใจงานศิลปะ จะเห็นว่าพวก Non Profit Organization ด้านอาร์ต ก็ออกมาเคลื่อนไหวของการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ต้องเจรจาให้เห็นว่างานศิลปะมันสำคัญกับมนุษย์ ดังนั้นขอให้ช่วยสนับสนุนงานศิลปะ อย่าตัดงบฯ สนับสนุนจนไม่สามารถทำงานศิลปะต่อไปได้ เขาแสดงให้เห็นว่างานศิลปะช่วยเหลือสังคมได้ ช่วยแก้ปัญหาให้คนในสังคมได้ แก้ปัญหาให้เด็กๆ ได้ แต่อย่างไรก็ตาม งานศิลปะก็ยังถูกมองว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญน้อยกว่าปัจจัยสี่ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย แต่ก็ต้องเข้าใจข้อเท็จจริง เพราะงานศิลปะไม่ได้ทำให้ท้องอิ่ม
l ศิลปะไม่ได้ทำให้อิ่มท้อง แต่ทำให้คนมีสติปัญญา ใช่ไหมครับ
คุณสุดาพิมพ์ : ศิลปะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ช่วยทำให้ผู้คนมีจิตใจละเอียดอ่อน อ่อนโยนมากขึ้น และช่วยคลายความเครียดให้คนได้ จ๋าไม่ปฏิเสธความสำคัญของปัจจัยสี่ แต่ก็ต้องไม่ละทิ้งศิลปะ ยิ่งปัจจุบันโลกหมุนเร็วมากๆ ผู้คนเครียดกับปัญหาต่างๆ นานามากมาย แต่จ๋าว่างานศิลปะทำให้โลกหมุนช้าลง และแก้ปัญหาให้สังคมได้ หลายคนใช้งานศิลปะแก้ปัญหาด้านจิตใจให้ตัวเอง งานศิลปะต่างๆ เช่น ร้องเพลง เล่นดนตรี การแสดงวาดภาพ ช่วยให้ความร้อนรนของชีวิตลดลงได้ เราใช้งานศิลปะเป็นตัวช่วยเบรกความร้อนแรงและเร่งรีบของสังคมได้ เพราะช่วยให้คนได้หยุดคิด หรือหยุดดูได้ระยะหนึ่ง จ๋าเสียดายหากงานศิลปะจะถูกละเลย ทอดทิ้ง ไม่มีการสนับสนุน อย่างตัวจ๋าเอง เวลาเครียดก็ใช้งานศิลปะช่วยแก้ปัญหา เช่น การฟังเพลงที่ละมุนละไม หรือในช่วงที่จ๋ารู้สึกเนือยๆ ล้าๆ ก็ใช้เพลงเร็วๆ เป็นตัวกระตุ้นให้มีพลังขึ้นมาจ๋าเชื่อว่าหลายคนก็ใช้วิธีคล้ายๆ กับจ๋า นี่แค่เรื่องของเพลงเท่านั้นนะคะ จริงๆ ยังมีงานศิลปะอื่นๆ อีกมากมาย เช่น แต่งเพลง อันนี้สำหรับคนที่แต่งได้ เล่นละคร วาดภาพ เป็นต้น
l จากคนสนใจงานอาร์ต ปัจจุบันได้ผันตัวเองมาทำธุรกิจด้านศิลปะการแสดง บทบาทสองเรื่องนี้ต่างกันมากไหมครับ
คุณสุดาพิมพ์ : ก็ต่างกันนิดหน่อยค่ะ คือสมัยเราเป็นนักแสดง เราไม่ค่อยคิดถึงเรื่องงบประมาณ แต่พอมาทำหน้าที่ผู้บริหาร เราต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบฯ เพื่อให้งานบรรลุเป้าหมาย แต่ก็ไม่ได้มองเรื่องธุรกิจเป็นเป้าหมายแรกนะคะ ยังรักงานอาร์ตอยู่เหมือนเดิม
l โควิด-19 ส่งผลกระทบต่องานอาร์ตในสังคมไทยมากแค่ไหนครับ
คุณสุดาพิมพ์ : มากๆ เลยค่ะ ตัวอย่างที่เจอเองคือก่อนมีโควิด-19 สตูดิโอที่นี่จะถูกจองใช้งานเกือบทุกวัน เพราะงานการแสดงการเปิดตัวสินค้า และละครเวทีมีเป็นระยะๆ แต่เมื่อโควิด-19 มางานทุกอย่างก็หายไป การแสดงละครเวทีไม่สามารถทำได้ เพราะติดปัญหาโควิด การเปิดตัวสินค้าใน Hall ที่ต้องมีผู้คนเข้าไปชมมากๆ ก็ทำไม่ได้ เพราะติดปัญหาเรื่องสุขอนามัย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราเข้าใจได้ แต่มันส่งผลให้งานศิลปะถูกตัดออกไปโดยปริยาย
l ถามเรื่องละครเวที หากเราผลิตแล้วนำไปนำเสนอในรูปเทปโทรทัศน์ จะได้ไหมครับ
คุณสุดาพิมพ์ : ละครเวทีกับละครโทรทัศน์มีความแตกต่างกัน ศิลปะละครเวทีมีวิธีการแสดงที่ต่างไปจากการแสดงละครโทรทัศน์ คือคนทั่วไปบอกว่าละครเวทีเล่นใหญ่ Acting แรงกว่าละครโทรทัศน์ แต่จริงๆ แล้วการแสดงของตัวละครอาจไม่ต่างกันมากนัก เพราะต้องตีบทแล้วแสดงออกมาเหมือนๆ กัน เพียงแต่ละครเวทีเป็นการแสดงสดในโรงละครขนาดใหญ่หรือเล็กตามขนาดของโรง เช่น 300 ที่นั่ง หรือ 1,200 ที่นั่ง ดังนั้นการแสดงละครเวทีจึงต้องทำให้คนดูในโรงละครเห็นบทบาทของผู้แสดงได้ชัดเจน เพื่อเป็นการส่งอารมณ์ถึงกัน ซึ่งต่างจากละครโทรทัศน์ที่มีการใช้เทคนิคมุมกล้องเข้าช่วยให้ผู้ชมเห็นสีหน้า อารมณ์ตัวละครได้ชัดเจนกว่าดังนัันการเล่นละครเวทีจึงต้องทำให้คนดูทั้งโรงรับรู้อารมณ์ของตัวแสดงได้ชัดเจน ไม่ว่าเขาจะนั่งชมแถวหน้าหรือแถวสุดท้าย ละครเวทีจึงดูเสมือนต้อง Over Acting เพื่อให้คนแถวหลังๆ เห็นการถ่ายทอดอารมณ์ได้ชัด คนดูต้องได้รับพลังจากผู้แสดง และผู้แสดงก็ต้องสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกของผู้ชมได้ด้วย บรรยากาศการชมละครเวทีต่างจากการชมละครโทรทัศน์หรือดูภาพยนตร์ เพราะเมื่อเราเข้าไปชมละครเวที เราจะตัดโลกภายนอกออกไปทั้งหมด แล้วเราจะสนใจการแสดงในโรงละครเท่านั้น ต่างกับการดูทีวีที่บ้าน เพราะเรายังสามารถรับโทรศัพท์ได้ ยังเดินไปเข้าครัว เข้าห้องน้ำได้ ละครเวทีมีความยาวประมาณ 2 ชั่วโมง ต้องดูให้จบภายในเวลา ไม่สามารถหยุดการแสดงแล้วกลับมาดูได้ มันต่างจากการดูคลิป หรือวีดีโอ
l กลับมาถามเรื่องความสำคัญของงานศิลปะกับการช่วยแก้ปัญหาหรือผ่อนคลายปัญหาของสังคมครับ ช่วยได้อย่างไรบ้าง
คุณสุดาพิมพ์ : อันดับแรกคือช่วยขัดเกลาจิตใจให้ละเอียดอ่อนมากขึ้น อ่อนโยนมากขึ้น มีสมาธิกับอะไรสิ่งที่กำลังทำหรือกำลังดู ช่วยให้โลกดูเสมือนหมุนช้าลง เมื่อเราจดจ่อกับงานศิลปะ ช่วยเพิ่มพลังบวกให้ชีวิต ตัวอย่างเช่น การที่เราได้ฟังดนตรีที่เราชื่นชอบจะช่วยให้เรามีความสุข ลืมความทุกข์ ความกังวลไปได้ชั่วขณะหนึ่ง เท่ากับเพิ่มพลังบวกให้ชีวิตได้ หรือการที่เราวาดภาพสักภาพ เราต้องมีสมาธิ เราต้องเลือกสี ต้องวางตำแหน่งองค์ประกอบภาพ ทำให้เราต้องจดจ่อกับงานที่เรากำลังทำ ทำให้เรา focus กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า หรือทำให้เราต้องคิดเรื่องการจับคู่สีให้เหมาะสมกัน เป็นต้น เมื่อเรามีสมาธิ เราก็สามารถอยู่กับปัจจุบันได้ ดีขึ้น การวาดภาพคือการใช้มือใช้สายตา และฝึกการวางตำแหน่งองค์ประกอบภาพ และการจับคู่สีให้ลงตัว สิ่งนี้จะทำให้สามารถนำไปใช้ได้จริงในการทำงานในชีวิตประจำวันด้วย ทำให้มีจินตนาการ เด็กที่เรียนการวาดภาพด้วยสี เขาจะสามารถเก็บประสบการณ์ตรงนี้ไปใช้ในชีวิตจริงๆ ของเขาในยามที่เขาเติบโตได้ การเล่นดนตรีก็เช่นกัน ก็คือการประสานโน้ตตัวนั้นเข้ากับตัวนี้ให้ลงตัว มันคือการคิดที่ต้องใช้การเชื่อมประสานสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน และมีการสมาคมกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดกันและกัน และต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด การเล่นละครเวทีก็เช่นกัน เป็นเสมือนการได้ทำให้ตัวเองเข้าไปสวมบทบาทต่างๆ ที่ในชีวิตจริงเราไม่ได้มีบทบาทเช่นนั้น ช่วยให้เราคลายความเครียดไปได้ เช่น บางบทต้องเล่นเป็นคนร้าย ทั้งๆ ที่ตัวจริงไม่ใช่คนร้ายก็เท่ากับเราได้ระบายสิ่งที่เก็บอัดไว้ในใจออกไปได้โดยผ่านบทละคร
l มีข้อเสนอแนะอย่างไรสำหรับคนที่มีลูกหลานสนใจการแสดงละครเวที
คุณสุดาพิมพ์ : ขอให้พาลูกหลานไปสัมผัสกับละครเวทีเสียก่อน ให้เขาให้ลองด้วยตัวเอง แล้วเขาจะรู้ว่าจริงๆ เขาชอบหรือไม่ชอบ เปิดโอกาสให้เขาก่อน อาจจะพาไปเรียนคอร์สสั้นๆ แล้วเขาจะตอบตัวเองได้ในที่สุด แต่อันดับแรกต้องดูว่าลูกหลานชอบจริงหรือไม่ หากเขาไม่ชอบ อย่าบังคับเขา แค่ชี้แนะทำความเข้าใจกับเขา แล้วให้เขาลอง แล้วให้เขาเลือกด้วยตัวของเขาเอง ถ้าเขาชอบ เขาจะไปได้เรื่อยๆ หาความรู้ในสิ่งที่เขาชอบไม่สิ้นสุด แล้วเขาจะมีความสุขกับสิ่งที่เขาเลือก ย้ำว่าอย่าบังคับเขา
l น่าสนใจเรื่องที่เด็กไม่ชอบ แต่พ่อแม่ชอบ เลยบังคับให้ลูกไปทำในสิ่งที่พ่อแม่ชอบ แต่ลูกไม่ชอบ นี่คือการทำร้ายเด็ก ใช่ไหมครับ เช่น เด็กอยากเตะฟุตบอล แต่พ่อแม่อยากให้เรียนเปียโน เด็กก็ฝืนเรียนไปโดยไม่มีความสุข
คุณสุดาพิมพ์ : มันคือการทำร้ายจิตใจ และเป็นการทรมานค่ะการบังคับให้คนต้องทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ มันคือการบีบบังคับ แล้วเขาจะไม่มีความสุข เขาอาจฝืนทำมันไปเพื่อให้ผ่านๆ ไป แต่เขาไม่รัก หากให้เขาไปเตะฟุตบอลตามที่เขารัก เขาจะทำได้ดีมีความสุข และเขาจะมีอาชีพตามที่เขาต้องการในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องดีกับทุกฝ่าย ทั้งตัวของเด็ก พ่อแม่เด็ก และสังคม เพราะเราจะมีนักฟุตบอลอาชีพที่ดีคนหนึ่ง โดยไม่ต้องมาทรมานกับการเล่นเปียโน ทั้งๆ ที่ไม่รัก
คุณจะได้พบรายการดีที่ครบครันด้วยสาระและ
ความรู้ รายการ ไลฟ์ วาไรตี ออกอากาศ
ทุกวันอาทิตย์ เวลา 16.00-16.25 น. ทางโทรทัศน์ NBT กดหมายเลข 2
และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube
ไลฟ์ วาไรตี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี