ตำนานพันปี มีนิทานพื้นบ้านเขมร เล่าสืบต่อกันมาว่า กว่าพันปีก่อน มีพราหมณ์ชื่อ “โกณทัญญะ” เดินทางด้วยเรือใบจากอินเดีย มายังดินแดนริมทะเลสาบเขมร แล้วอภิเษกกับ “นางพญาไม้ไผ่” ธิดาพญานาคผู้ปกครองท้องถิ่น เรื่องเล่านี้สะท้อนการผสมผสานวัฒนธรรมพราหมณ์-ฮินดูกับความเชื่อพื้นเมือง ก่อนจะกลายเป็นรากฐานของอาณาจักรฟูนัน ที่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งอารยธรรม “ขอม”
ฟูนัน – เจนละ: จากรุ่งเรืองสู่ร่วงโรย สมัยพุทธศตวรรษที่ 7 ถึง 11 อาณาจักรฟูนันรุ่งเรืองในฐานะศูนย์กลางการค้าระหว่างอินเดียกับจีน มีเมืองท่าสำคัญอย่างออกแก้ว (Oc Eo) รับอิทธิพลฮินดูและพุทธ แต่ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 11 ถึง 13 ฟูนันถูกเจนละซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของฟูนัน ผงาดขึ้นแทน โดยแบ่งเป็น “เจนละบก” ทางเหนือ และ “เจนละน้ำ” ทางใต้ แต่ความแตกแยกของเจนละ เปิดช่องให้มหาอำนาจต่างถิ่นเข้ายึดครองราวพุทธศตวรรษที่ 13 กองทัพชวาจากอาณาจักรศรีวิชัยยกทัพเรือข้ามอ่าวมายึดครองเขมร สังหารกษัตริย์มหิปติวรมัน
สู่ยุคเมืองพระนคร “พระเจ้าชัยวรมันที่ 2”ทรงประกาศเอกราชจากชวาในปี พ.ศ. 1345 จุดเริ่มต้นแห่งยุค “เมืองพระนครหลวงหรืออังกอร์” ที่รุ่งโรจน์ทั้งศิลปะ สถาปัตยกรรม และการปกครอง ปราสาทหินนครวัด นครธม และปราสาทบายนอันยิ่งใหญ่ คือสัญลักษณ์แห่งยุคทอง โดยมีกษัตริย์สำคัญราชวงศ์มหิธรปุระ อย่าง “สุริยวรมันที่ 2” และ “ชัยวรมันที่ 7” ก่อนอาณาจักรจะเสื่อมลงจากสงครามภายในและการรุกรานของอยุธยา
ปฏิวัติประชาชนโดยพระเจ้าแตงหวาน ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 “พระเจ้าแตงหวาน” หรือพระบาทกมรเตง อัญศรีสุริโยพันธุ์ ผู้นำจากชนชั้นล่าง ปฏิวัติระบบศักดินา สถาปนา “ราชาธิปไตยจากประชาชน” และก่อตั้งราชวงศ์นโรดม หลังการเปลี่ยนแปลง ความเชื่อเปลี่ยนจากศาสนาราชสำนักสู่พุทธเถรวาทแบบเรียบง่าย พร้อมการหยุดสร้างปราสาทหินขนาดใหญ่แบบขอมโบราณ
นครวัดถูกลืม หลังจากถูกโจมตีจากอยุธยา ใน พ.ศ. 1893 สมัยพระเจ้าอู่ทอง พ.ศ.1974 สมัยเจ้าสามพระยา เขมรย้ายเมืองหลวงจากเมืองพระนครไปพนมเปญ ละแวกและอุดงมีชัย ปราสาทหินนครวัด–นครธมถูกปล่อยร้างเป็นเวลานาน ในป่าทึบ จน “อองรี มูโอต์” นักสำรวจฝรั่งเศสค้นพบในยุคอาณานิคม จุดประกายให้โลกตะวันตกสนใจอารยธรรมขอมอีกครั้ง สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ทรงยกทัพไปตีกรุงละแวก อีกใน พ.ศ. 2136 ทำให้อาณาจักรเขมรตกเป็นประเทศราชของสยาม เมื่อสยามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เวียดนามสมัยราชวงศ์เหงียน ก็แผ่อิทธิพลเข้ามาในเขมรจนเกิดสงครามอานามสยามยุทธ พ.ศ. 2374 ถึง 2398 และเวียดนามได้ผนวกดินแดนเขมรเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนในพ.ศ. 2378
เขมรลี้ภัยมาเมืองไทย ในสมัยรัชกาลที่ 1 และ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เขมรมีความขัดแย้งในราชสำนัก และเผชิญแรงกดดันจากญวน–สยาม เจ้าเขมรหลายพระองค์ลี้ภัยมาอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของไทย ก่อนที่จะเสด็จฯกลับไปครองราชย์ที่กัมพูชา ด้วยการสนับสนุนของกองทัพสยามที่มีเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพ เช่น สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ (นักองค์เอง) กษัตริย์รัชกาลที่ 105 และ สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (นักองค์ด้วง) กษัตริย์รัชกาลที่ 108 แห่งราชวงศ์ ตรอซ็อกผแอม ซึ่งเป็นต้นตระกูล ของพระเจ้านโรดมสีหมุนี
พ.ศ. 2508 ถึง 2516 สหรัฐอเมริกา ทำสงครามกับเวียดนาม และได้ทิ้งระเบิดทำลายที่มั่นและเส้นทางเดินทางของทหารเวียดกงที่ผ่านกัมพูชาไปไซ่ง่อน ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปราว 100,000 ถึง 500,000 คน และมีทุ่นระเบิดตกค้างทำให้มีคนพิการหลายหมื่นคนรวมทั้งสมเด็จฮุนเซนที่เสียดวงตาไปหนึ่งข้าง
ต่อมาในยุคเขมรแดง ช่วง พ.ศ. 2518 ถึง 2522 ที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนเขมรกว่าล้านคน ประเทศไทยเปิดชายแดนรับผู้ลี้ภัยชาวเขมรจำนวนมาก สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ฯของประเทศไทย เสด็จฯไปพระราชทานความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยด้วยพระองค์เอง
ฮุน เซน – ฮุน มาเนต: สายเลือดแห่งอำนาจยุคใหม่
หลังยุคเขมรแดง สิ้นสุด สมเด็จฮุน เซน ก้าวสู่เวทีการเมือง แม้ไม่ใช่เป็นเชื้อสายราชวงศ์ แต่ก็ครองอำนาจในกัมพูชาอย่างเด็ดขาด แล้วส่งต่อให้ ฮุน มาเนต บุตรชาย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
คาสิโน–คอลเซ็นเตอร์: โฉมใหม่ของอำนาจ
กระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา “เศรษฐกิจคาสิโนและคอลเซ็นเตอร์” กลายเป็นรากฐานอำนาจใหม่ในกัมพูชา โดยเฉพาะในเมืองชายแดน เช่น ปอยเปต และพระสีหนุ เบื้องหลังธุรกิจเหล่านี้ซ่อนปฏิบัติการฟอกเงิน ค้ามนุษย์ และอาชญากรรมไซเบอร์ โดยถูกขึ้นบัญชีดำและคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกา
โดย สุริยพงศ์
ขอบคุณภาพจาก เพจเฟสบุ๊ก อารยธรรมรอบโลก , วิกิมีเดีย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี