หากยังจำกันได้ ย้อนหลังตอนที่รัสเซียบุกยูเครนหนล่าสุดในปี 2014 มาตรการตอบโต้และลงโทษของญี่ปุ่นที่มีต่อรัสเซียนั้นถือว่าจิ๊บจ๊อยธรรมดาสามัญมาก แต่กับเหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครนรอบนี้ ญี่ปุ่นดำเนินการเป็นหนึ่งเดียวกันกับชาติพันธมิตรตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ ด้วยการใช้ประณามและมาตรการลงโทษรัสเซียอย่าง
รุนแรงแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนรวมถึงการส่งยุทโธปกรณ์ในการรบให้ยูเครนด้วย จนเริ่มเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของงบประมาณและกำลังพลที่ใช้ในการป้องกันประเทศของญี่ปุ่นเอง ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนในเรื่องของการจำกัดความสามารถของกองทัพในเรื่องนี้
วาเลอรี นิเกต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียศึกษาจากสถาบันวิจัยด้านยุทธศาสตร์ของฝรั่งเศส บอกกับเอเอฟพี ว่า ที่ผ่านมาญี่ปุ่นถูกวิจารณ์มาตลอดว่าเอาแต่ให้เงิน ไม่เคยเข้าไปข้องเกี่ยวในวิกฤตของโลกครั้งไหนๆ แต่คราวนี้ ญี่ปุ่นดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้นจริงจัง เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าพวกเขาไม่ได้แค่เป็นผู้ชมที่ดี ที่คอยดูความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบนโลกแต่เพียงอย่างเดียว ขณะที่ โทไบอัส แฮร์ริส นักวิเคราะห์จาก Centre for American Progress ชี้ให้เห็นว่าญี่ปุ่นยังดำเนินการอย่างรวดเร็วในการออกมาตรการต่างๆรวมถึงการคว่ำบาตรเป็นรายบุคคลซึ่งถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง เป็นอะไรที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นรัฐบาลญี่ปุ่นทำแบบนี้
ส่วนสำคัญนอกจากจะมาจากการที่ญี่ปุ่นมองเห็นถึงความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครนแล้ว ยังมีปัจจัยที่น่าสนใจอื่นๆ โดยเฉพาะการลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของชินโสะ อาเบะ ที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลญี่ปุ่นของเขามีความสัมพันธ์เน้นแฟ้นอย่างมากกับรัสเซีย อาเบะ ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งในปี 2020 คาดหวังว่าความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซียจะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งกับรัสเซียในประเด็นหมู่เกาะพิพาท ที่รัสเซียเรียกว่าหมู่เกาะคูริลส์ และญี่ปุ่นเรียกว่าดินแดนตอนเหนือ หรือ Northern Territories แต่เมื่ออาเบะพ้นจากตำแหน่งและความขัดแย้งในเรื่องนี้ยังคงไม่ได้ข้อยุติ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงอาจคิดว่า พวกเขามีอิสระมากขึ้นในการดำเนินการลงโทษรัสเซีย แม้ตอนนี้จะยังไม่ถึงขั้นถอนตัวจากความร่วมมือด้านพลังงานกับรัสเซีย เพราะยังกังวลเรื่องการขาดแคลนพลังงานในอนาคตก็ตาม
อีกปัจจัยที่สำคัญคือการรับมือจีนแผ่นดินใหญ่ที่กำลังเดินหน้าแผ่อิทธิพลในเอเชียแปซิฟิกรวมถึงความพยายามในการรวมชาติกับไต้หวัน และประเด็นที่ขัดแย้งกันคาราคาซังมานาน เรื่องหมู่เกาะพิพาทที่จีนเรียกว่าเตี้ยวหยู และญี่ปุ่นเรียกว่าเซนคากุ
ดร.เจมส์ ดีเจ บราวน์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทมเปิล ในกรุงโตเกียว บอกว่า ที่ผ่านมา ญี่ปุ่น เกรงว่าหากดำเนินมาตรการแข็งกร้าวต่อรัสเซียมากเกินไป ก็อาจผลักรัสเซียให้ไปอยู่ข้างจีน แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะแม้ความกังวลเรื่องนั้นจะยังมีอยู่ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็จำเป็นต้องใช้ไม้แข็งกับรัสเซียบ้าง เพราะไม่เช่นนั้น จีนที่มองดูสถานการณ์อยู่ก็อาจเห็นว่า จะสามารถทำแบบรัสเซียบ้างโดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกเล่นงาน
คาดว่า ญี่ปุ่นจะสรุปเนื้อหาการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายต่อรัสเซีย ลงในแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติช่วงปลายปีนี้ ซึ่งนิเกต์เชื่อว่า ญี่ปุ่นจะระบุอย่างชัดเจนว่ารัสเซียนั้นเป็นภัยคุกคาม จากครั้งหลังสุดในปี 2013 ที่ในตอนนั้นญี่ปุ่นไม่ได้มองว่ารัสเซียเป็นถึงกับภัยคุกคาม แต่มุมมองตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว
ขณะเดียวกับ สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ก็น่าจะทำให้เสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายที่ต้องการให้รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มงบประมาณในการป้องกันประเทศดังขึ้นอีกครั้ง โดยในการหาเสียงเมื่อปีที่แล้ว พรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ LDP พรรคแกนนำรัฐบาลกำหนดแผนระยะยาวที่จะเพิ่มงบประมาณด้านป้องกันประเทศขึ้นเป็นร้อยละ 2 ของ GDP จากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 1 ซึ่งในเรื่องนี้ ศาสตราจารย์บราวน์มองว่า มีโอกาสมากที่รัฐบาลพรรค LDP จะผลักดันแผนดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง
ส่วนเรื่องการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการโจมตีสูง อย่างโดรนโจมตีที่สามารถเล่นงานชาติข้าศึกได้ก่อน แม้จะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจากข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญที่ห้ามไม่ให้ญี่ปุ่นมีกองทัพที่เข้มแข็ง แต่แฮร์ริสเชื่อว่า สถานการณ์ที่เกิดกับยูเครน น่าจะทำให้ชาวญี่ปุ่นเชื่อมากขึ้นว่า ญี่ปุ่นควรเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีแผนจะพิจารณาเรื่องหารือเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์อีกด้วย หลังบรรดานักการเมืองรวมถึงนายอาเบะเองเสนอให้มีทางเลือกด้านการแบ่งปันนิวเคลียร์ให้รัฐบาลพิจารณา จากเดิมที่ญี่ปุ่นอาศัยร่มเงาในการใช้นิวเคลียร์ป้องกันตนเองจากสหรัฐฯ เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นไม่มีนโยบายพัฒนาหรือครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ แต่จากที่มีหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นหารือ ในประเทศที่เคยบอบช้ำอย่างหนักจากอาวุธนิวเคลียร์ถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า ประเด็นความขัดแย้งในยูเครนส่งผลกระทบมาถึงญี่ปุ่นมากแค่ไหน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี