ช่วงนี้ประเด็นของโรคโควิด-19สายพันธุ์โอมิครอน ไม่ใช่แค่เรื่องของการแพร่ระบาดแต่เพียงอย่างเดียว จากข้อมูลของการระบาดในประเทศไทย เห็นได้ชัดว่ามีคนที่ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็ว ซึ่งการติดต่อกันเกิดขึ้นภายในสมาชิกของคนในครอบครัว ทำให้การแพร่กระจายเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในวงกว้าง แน่นอนประเด็นที่จะกล่าวถึงไม่ได้ในตอนนี้คือ หลังจากที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ติดเชื้อไปแล้วนั้น มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ยังคงมีอาการแสดงจากผลกระทบจากการติดโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนอยู่
เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับผู้ที่เคยติดโรคโควิด-19 รวมถึงคนรอบข้าง นพ.ณฐนัท ช่างเงินชญช์ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนวเวช ได้ให้ข้อมูลความรู้ว่า จากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของประเทศอเมริกาในการแบ่งระยะผู้ป่วยที่ติดโรคโควิด-19 ได้มีการแบ่งผู้ป่วยที่ติดโรคโควิด-19ออกเป็น 2 ระยะ โดยการแบ่งนี้ไม่ได้คำนึงถึงระดับของการติดเชื้อปริมาณไวรัสแต่อย่างใด ได้แก่ ระยะเฉียบพลัน (acute COVID-19)โดยตั้งต้นตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ ซึ่งบางรายอาจจะนานได้จนถึง 1 เดือน และ ระยะหลังการติดเชื้อ (post-COVID condition)ผู้ป่วยมีอาการและอาการแสดง ได้หลากหลายแบบ ทั้งแสดงออกมาทางร่างกาย และหรือทางด้านจิตใจ (แสดงไว้ดังตารางด้านล่าง) โดยอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วง 1 เดือนหลังระยะเฉียบพลัน จนกระทั่งถึง มากกว่าหรือ เท่ากับ 2 เดือน (รวม 3 เดือนตั้งแต่เริ่มมีอาการวันแรก) โดยพบว่ามีชื่อเรียกกลุ่มอาการดังกล่าวหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น Long COVID ที่เป็นที่รู้จักกันดี และอื่นๆ เช่น Postacute COVID-19, Chronic COVID-19, Postacute sequelae of SARS-CoV-2 infection (PASC) แต่ยังไม่มีชื่อไหนที่ถูกยอมรับอย่างเป็นทางการ และแพร่หลาย
อาการที่พบบ่อยของ Long COVID ได้แก่ กลุ่มอาการด้านร่างกาย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย ผู้ป่วยที่พบอาการ 15-87% นาน 3 เดือน หรือมากกว่านั้น แน่นหน้าอก ผู้ป่วยที่พบอาการ 12-44% นาน 2-3 เดือน ไอ ผู้ป่วยที่พบอาการ 17-34% นาน 2-3 เดือน หรือมากกว่านั้น แน่นหน้าอก ส่วนกลุ่มอาการด้านจิตใจ เช่น อาการกังวล อาการซึมเศร้า ผู้ป่วยที่พบอาการ 22-23%, โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง ผู้ป่วยที่พบอาการ 7-24% จะมีอาการนานหลายสัปดาห์
โดยหากพบว่ามีอาการเหล่านี้ ส่วนใหญ่แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ หลังจากนั้นอาการดังกล่าวจะดีขึ้นเองภายหลัง 3 เดือน แต่แน่นอนกลุ่มอาการเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องได้รับการวิเคราะห์ ปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทาง เพื่อแยกโรคจากโรคอื่นๆ ที่อาจจะเป็นผลแทรกซ้อนจริงๆ จากการติดโรคโควิด-19หรือเกิดจากโรคอื่นๆ แทรกซ้อนหลังการติดเชื้อได้ เมื่อผู้ป่วยสังเกตพบอาการดังกล่าวข้างต้นจึงจำเป็นต้องมีการพูดคุย ปรึกษากับแพทย์ ตรวจร่างกาย และวิเคราะห์เลือด, เอกซเรย์ปอด และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเบื้องต้น หากไม่พบความผิดปกติอื่นใด แพทย์จะได้ยืนยันกับผู้ป่วยเบื้องต้นโดยยึดหลักการตามอาการ สังเกตอาการก่อน แล้วนัดมาตรวจติดตามการรักษาอีกครั้ง ถ้าแพทย์ตรวจพบความผิดปกติ หรือไม่มีความมั่นใจในการวินิจฉัย แพทย์จะทำการสั่งตรวจลึกในรายละเอียดขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การตรวจเลือด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด อัลตราซาวด์หัวใจ การวัดสมรรถภาพปอด และอื่นๆ
“สุดท้ายคงเป็นเรื่องราวของการให้คำแนะนำ เรื่องวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และโรคอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล ที่ผู้ป่วยอาจจะเป็นได้หลังจากอาการหายดีแล้วตามคำแนะนำของแพทย์ ตอนนี้ภาพของการรักษาโรคโควิด-19 จึงไม่ใช่แค่เรื่องการรักษาเพียงอย่างเดียว โรคนี้มีมิติของการรักษาอีกมาก การตรวจติดตามหลังจากที่ผู้ป่วยหาย และที่สำคัญมีองค์ความรู้เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา ยังคงมีอีกหลายเรื่องราวที่แพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์คงต้องศึกษาวิจัยต่อเนื่องอีกนาน” นพ.ณฐนัท กล่าวสรุป
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนวเวช โทร. 02-4839999 หรือ www.navavej.com
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี