อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์, อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย และผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ
ทุกปีในวันที่ 23 ตุลาคมจะมีการจัดกิจกรรมสำคัญ ปีนี้ก็เช่นกัน สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) นำโดยอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย นายกสมาคมฯจัดแถลงข่าวการจัดงาน “ปิยมหาราชานุสรณ์ 2565” เชิญชวนคนไทยน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระปิยมหาราช พระผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภากาชาดไทย พร้อมชวนคนรุ่นใหม่บริจาคเลือด “เติม ‘เลือดใหม่’ ช่วยคนไทย ไม่ขาดเลือด” ผ่าน Line OA “เลือดใหม่” ณ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ
ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการน้อมนำพระราชปณิธาน ในการสร้างคนมาขับเคลื่อนนโยบาย 3 ด้านของจุฬาฯ ว่า “ร้อยกว่าปีที่ผ่านมา จุฬาฯ ยังเดินหน้าผลิตบุคลากรที่มีความเป็นเลิศอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับได้วางรากฐานสำคัญด้านการสร้างผู้นำแห่งอนาคต (Future Leader) ด้านงานวิจัย พร้อมนวัตกรรม ที่นำไปใช้ได้จริง สร้างอิมแพ็กต่อสังคม (Impactful Research & Innovations) ควบคู่ไปกับความยั่งยืน (Sustainability)โดย 2-3 ปีที่ผ่านมา ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 นวัตกรรมของเราได้ช่วยเหลือคนเป็นจำนวนมาก เช่นรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษตรวจหาเชื้อโควิดเชิงรุก เป็นต้น”
ด้าน อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย นายก สนจ. กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ถือเป็นโอกาสในการระดมกำลังช่วยเหลือสังคม เช่น โครงการข้าวแสนกล่อง กล่องรอดตาย ที่นอกจากบรรจุอุปกรณ์จำเป็นในการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโควิดแล้วบนกล่องมีคิวอาร์โค้ดให้สแกน เพื่อติดต่อขอรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ โดยเรามีนิสิตผู้รู้มาช่วยตอบคำถามเป็นเหมือนเวอร์ช่วล วอร์ด
“ในวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปีชาวจุฬาฯ ถือเป็นโอกาสอันดีในการจัดงานเพื่อเทิดพระเกียรติและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระปิยมหาราช เราตั้งสมาคมฯ เพื่อช่วยเหลือสังคม เช่น การจัดตั้ง “กองทุนจุฬาสงเคราะห์” เพื่อช่วยเหลือนิสิตที่อาจมีปัญหาด้านค่าครองชีพ ค่าเทอม ตลอดจนค่าอุปกรณ์การศึกษา รวมไปถึงเบี้ยเลี้ยง โดยเป็นทุนที่ให้การช่วยเหลือตลอดจนจบการศึกษา 4 ปี ซึ่งทุกวันนี้มี 45 คนที่ขอรับทุนอยู่ และยังมี “ทุนอาหารกลางวัน” โดยมีผู้ขอรับทุนเกือบ 500 คน จากเดิมขอรับทุนเพียง 300 คน”
ขณะที่ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานปิยมหาราชานุสรณ์ 2565 กล่าวเสริมว่า งานปิยมหาราชานุสรณ์เป็นกิจกรรมที่สำคัญของชาวจุฬาฯ เชิญชวนทุกคนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและร่วมกันทำความดีโดยในช่วงเช้าของวันที่ 23 ตุลาคม จะมีการวางพวงมาลาถวายราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาลและลานหน้าพระราชวังดุสิต
“ที่พิเศษ คือปีนี้มีการจัดงานกาลาดินเนอร์ “ปิยมหาราชานุสรณ์ 2565 :The Charity Gala Night” ที่ศาลาพระเกี้ยวกับคอนเสิร์ตการกุศล ภายใต้บรรยากาศที่เป็นการย้อนไปในอดีต เมื่อกว่า 100 ปีก่อน เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณและเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน โดยมีนักร้องและศิลปินนิสิตเก่าจุฬาฯ ชื่อดังมากมาย นำโดย รัดเกล้า อามระดิษ วสุ แสงสิงแก้ว รศ.ดร.นรอรรถ จันทร์กล่ำ กิตตินันท์ ชินสำราญ ฯลฯ โดยรายได้สมทบกองทุนจุฬาสงเคราะห์ และเชิญชวนร่วมกันบริจาคในแคมเปญ Less is More”
อีกภารกิจสำคัญไม่แพ้กันคือ การเชิญชวนทำความดีด้วยการบริจาคโลหิต โครงการ “เติม ‘เลือดใหม่’ ช่วยคนไทย ไม่ขาดเลือด” เพื่อหาเลือดให้ได้เพียงพอและอย่างยั่งยืน จึงนำดิจิทัล แพลตฟอร์มเข้ามาช่วย ผ่านทาง Line OA “เลือดใหม่”นอกจากช่วยศูนย์บริการโลหิตแล้ว นิสิตจะเข้าใจถึงเกียรติภูมิของจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ ช่วยเหลือประชาชน
ทั้งนี้ ปิยนันท์ คุ้มครอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านจัดการโลหิตและภาพลักษณ์องค์กร ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย อธิบายถึงสถานการณ์ในปัจจุบันว่า “อัตราการใช้เลือดทั่วประเทศต่อเดือนอยู่ที่ 200,000 ยูนิต ซึ่งตั้งแต่โควิดเป็นต้นมา เราประสบกับปัญหาการขาดแคลนเลือด ปีละ 400,000-500,000 ยูนิต แม้การบริจาคเลือดจะสามารถทำได้ทุกๆ 3 เดือน หรือปีละ 4 ครั้ง แต่จากสถิติการบริจาค 1,000,000 คนจะบริจาค ปีละ 1 ครั้ง และมีผู้บริจาคเลือดเพียง 60,000 คน ที่จะบริจาค ปีละ 4 ครั้ง ทำให้เลือดที่ได้มา ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ และกำลังส่วนหนึ่งที่สำคัญในการบริจาคของเรา คือ นิสิตนักศึกษา จึงอยากเชิญชวนให้นิสิตนักศึกษาและคนรุ่นใหม่หันมาบริจาคเลือดกันให้มากขึ้น มาร่วมกันชุบชีวิต เป็นการสร้างบุญกุศลอย่างยิ่งใหญ่”
นางสาวภัทรพร เลิศศิริโรจน์ นิสิตชั้นปีที่ 4 ในฐานะประธานโครงการ CU Blood กล่าวว่า “CU Blood ถือเป็นกิจกรรมตอบแทนสังคมของนิสิตจุฬาฯในปีนี้ ถือเป็นปีที่ 10 ที่เราจัดกิจกรรมตั้งเป้าเชิญชวน คนรุ่นใหม่ ช่วยกันเติมเลือดใหม่ เพื่อให้สภากาชาดไทยไม่ขาดเลือดตลอดทั้งปี และถือเป็นครั้งแรกที่เราได้นำเทคโนโลยี Line OA “เลือดใหม่” เข้ามาช่วยจัดการการบริจาคเลือด เพื่อจัดหาเลือดใหม่อย่างยั่งยืน โดยไลน์จะช่วยเตือนล่วงหน้า เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการบริจาคเลือดครั้งต่อไป ใกล้สถานที่รับบริจาคเลือด ที่ไหนก็บริจาคที่นั่น เพียงแจ้งรหัสที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น และทุกครั้งที่บริจาคเลือด ยังมีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากองค์กรพันธมิตรของพี่ๆ สนจ. เพิ่มขึ้นอีกด้วย”
สำหรับกิจกรรมในงานปิยมหาราชานุสรณ์ 2565 และกิจกรรมต่างๆ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมทั้งหมดได้ทางเพจ Chulalongkorn University และ Chula Alumni และสามารถร่วมบริจาคกันได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ผ่าน 5 ช่องทาง ดังนี้ 1.สแกน QR Code เข้าสู่เว็บบริจาค www.chula-alumni.com/donation 2.App CHAM 3.LINE OA “CHULA ALUMNI” เลือกเมนู “บริจาค” 4.K Plus ที่ฟีเจอร์ K Plus Market เลือกเมนูบริจาค และ TTB ให้เข้าไปที่ “ปันบุญ” 5.บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 038-4-62388-9 ชื่อบัญชี “สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี