พื้นที่สีเขียวบางกะเจ้า
อาทิตย์นี้ได้ตามรอยสยามไปเยี่ยม ชุมชนบางน้ำผึ้งใน ชุมชนต้นแบบ ๑ ใน ๑๐ ของกระทรวงวัฒนธรรมในพื้นที่เกาะบางกะเจ้า ที่อยู่ในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มที่น้ำท่วมถึง ชุมชนแห่งนี้อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนล่างที่ไหลออกสู่อ่าวไทย ห่างจากอำเภอพระประแดงปัจจุบัน ประมาณ ๕ กิโลเมตร ด้วยเหตุที่เป็นพื้นที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลเข้าหนุนเนื่อง ดังนั้นช่วงเวลาที่น้ำผ่านขึ้นมาในบริเวณลำคลองต่างๆ ของชุมชน จึงทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ในการใช้น้ำจากแม่น้ำเข้าทำสวนและทำให้ดินชุ่มน้ำสร้างวงจรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุและสารอาหารของพืชนานาชนิด
ในอดีตนั้นชาวตำบลบางน้ำผึ้งมีอาชีพทำสวนผลไม้ โดยวิธีขุดช่องน้ำทำเป็น “บาง” คือ ร่องน้ำตันที่ขุดเพื่อทำสวน ที่สามารถปิดกั้นเก็บน้ำและป้องกันน้ำกร่อยในยามน้ำทะเลหนุนขึ้นมา ดังนั้นตามริมแม่น้ำเจ้าพระยาจึงปรากฏชื่อของ “บาง” ต่างๆ อยู่ตามริมแม่น้ำขึ้นไปไปจนถึงบางปะอิน ของอยุธยา เมื่อพื้นที่นี้ทำสวนทำนา น้ำหวานจากเกสรดอกไม้นานาชนิดในสวน จึงทำให้หมู่ผึ้งได้พากันมาอาศัยทำรังอยู่ตามต้นไม้ และชาวสวนแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มอญ มีประเพณีทำบุญที่นำน้ำผึ้งเหล่านั้นมาตักบาตรทำบุญจนเป็นวัฒนธรรมสืบทอดกันมาด้วย ชุมชนแห่งนี้จึงมีชื่อเรียกรู้กันว่า “บางน้ำผึ้ง” อยู่ในบางกะเจ้า
กลองยาวชาวบ้าน
สำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “บางกะเจ้า”นั้นด้วยเหตุที่เส้นทางแม่น้ำนั้นน้ำไหลคดเคี้ยวและคอดกิ่ว จนทำให้เกิดภูมิลักษณะเป็น “กระเพาะหมู” นั้นเมื่อเกิดน้ำไหลเข้ามาทุกด้านและท่วมเป็นเวลานานทั้ง ๖ ตำบลของอำเภอพระประแดง พอน้ำลดลงก็ทำให้แผ่นดินนั้นกลายเป็นแอ่งธรรมชาติหรือแอ่งกระทะขนาดใหญ่ของการเพาะปลูกพืชสวนและทำนาปลูกข้าวมาแต่ครั้งอยุธยา ถือว่าเป็นพื้นที่มีโอโซนมากที่สุดและเป็นพื้นที่สีเขียวที่ใหญ่ที่สุดอยู่ใกล้กรุงเทพมหานครที่ได้รับการอนุรักษ์พื้นที่ไว้ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๒๐ให้อนุรักษ์พื้นที่สีเขียวบริเวณบางกะเจ้า ที่เป็น“ปอดของคนกรุงเทพฯ” ไว้ จากประวัติศาสตร์ชุมชนแห่งนี้น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ปี จากหลักฐานของการที่พื้นที่บางกะเจ้าได้มีการออกโฉนดที่ดินทุกแปลงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะได้มีการสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ หรืออำเภอพระประแดง ปัจจุบันขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ แล้วก็ตาม ผู้คนในชุมชนนี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทยจากภาคกลางลงมา มอญที่อาศัยมาแต่ต้นรัตนโกสินทร์ และจีนที่เดินทางค้าขายบางส่วน วันนี้ตำบลบางน้ำผึ้งมี ๑๑ หมู่บ้าน ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการขึ้น เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๙มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไปเล่มที่ ๑๑๓ ตอนพิเศษ ๕๒ ง ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของบางกะเจ้า โดยมีสวนป่าชุมชนหมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๖ และหมู่ที่ ๑๑ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจภายในบรรยากาศร่มรื่นที่มีการบริหารจัดการให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวที่มีความรู้และความเพลิดเพลินไปกับธรรมชาติที่สามารถขี่รถจักรยานเที่ยวได้โดยรอบ การเปิดป้ายสุดยอดชุมชนบางน้ำผึ้งในให้เป็นชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชนยลวิถี” โดย ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวรปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และนายชัยพจน์ จรูญพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการนั้นจึงเป็นต้นแบบของความสำเร็จโดยชุมชนที่ทุกคนนำต้นทุนทางวัฒนธรรมของตนนั้นมาสร้างสินค้าชุมชน กิจกรรมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จนสร้างตลาดชุมชนที่มีสินค้าท้องถิ่นเช่นขนมจากจากต้นและลูกจาก ขนมไทย การนวดแผนไทยที่ใช้ชุดลูกประคบธัญพืชสมุนไพร การเที่ยวทางเรือและจักรยานไปตามเส้นทางมรกตให้ป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติสีเขียว จนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจใกล้กรุงเทพมหานคร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี