พระธาตุนาดูน
จากการที่กระทรวงวัฒนธรรมได้กำหนดจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิถีถิ่น วิถีไท” ขึ้นตามภาคต่างๆ ขึ้นรวม ๔ ภาคนั้น ทำให้ได้ติดตามหาภูมิบ้านภูมิเมืองในมิติวัฒนธรรมในงานสำคัญนี้ซึ่งมีวิถีไทยวิถีถิ่นเฉพาะตนที่น่าสนใจมาก สำหรับงานมหกรรมวัฒนธรรมนี้จัดขึ้นที่ภาคอีสานเป็นแห่งแรกของปี คือ จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ ๒๓-๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๕ จัดขึ้นที่บริเวณ พระบรมธาตุนาดูน จ.มหาสารคาม อันเป็นแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดีและวัฒนธรรมโบราณ กล่าวคือในอดีตนั้นบริเวณที่ตั้งของอำเภอนาดูนนี้เคยเป็น เมืองจัมปาศรีเมืองโบราณที่เคยเจริญรุ่งเรืองเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕ สืบต่อยุคสมัยศิลปทวารวดีรุ่งเรือง ระหว่าง พ.ศ.๑๐๐๐-๒๐๐๐ และร่วมสมัยกับยุคก่อนศิลปะขอมหรือศิลปะลพบุรี ช่วง พ.ศ.๑๖๐๐-๑๘๐๐
ส่วนประวัติเรื่องราวว่ากันตามความเชื่อตามตำนานว่า ในพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๖ นั้น ภายในตัวเมืองและนอกเมืองแห่งนี้ได้มีเจดีย์ศิลปทวารวดีอยู่ ๒๕ องค์ ซึ่งมีการขุดค้นพบแล้ว ๑๐ องค์เจ้าผู้ครองเมืองนครจำปาศรี นับตั้งแต่ พระเจ้ายศวรราช ได้สร้างเทวสถานในพิธีทางศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนาขึ้น ดังพบเทวาลัย ปรางค์กู่ เป็นต้น นับว่าเป็นสถานที่มีความเจริญด้านศาสนาวัฒนธรรมมาก่อน จนถึงวาระเสื่อมลงในรัชกาลพระเจ้าฟ้างุ่มแหล่งหล้าธรณี หลังสุดเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๒ นายบุญจันทร์ เกศแสนศรี นักการที่ดินอำเภอได้ขุดพบสถูปพระบรมสารีริกธาตุเป็นผอบ ๓ ชั้น ชั้นในเป็นทองคำ ชั้นกลางเป็นเงิน ชั้นนอกเป็นสำริด สวมซ้อนกันเรียงตามลำดับ โดยบรรจุอยู่ในสถูปจำลองอีกชั้นหนึ่ง เป็นสถูปโลหะ ทรงกลมสูง ๒๔.๔ เซนติเมตร สามารถถอดออกเป็น ๒ ส่วนเป็น ส่วนยอดสูง ๑๒.๓ เซนติเมตร องค์สถูปนั้นสูง ๑๒.๑ เซนติเมตร
เจดีย์พระสารีริกธาตุ
นอกจากนั้น ยังพบพระพิมพ์จำนวนมากกลางทุ่ง และบางองค์มีจารึกเป็นภาษาขอมโบราณและมอญโบราณ ความสำคัญนั้นของพระบรมธาตุโบราณจึงทำให้มีการก่อสร้างพระธาตุนาดูนขึ้นใหม่เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุศักดิ์สิทธิ์นี้ ต่อมาจึงมีการสืบประเพณีฟ้อนรำจำปาศรีถวายเป็นพุทธบูชาองค์พระธาตุนาดูนแห่งนี้ จนมีช่างฟ้อนมาร่วมพิธีมากกว่า ๑,๐๐๐ คน สำหรับงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติครั้งนี้ใช้ชื่อว่า “หุ่นกระติบ งึดอีหลี ยลวิถีของดีอีสาน” ชูงานสร้างสรรค์หุ่นกระติ๊บให้เป็นของดีถิ่นอีสาน พร้อมกับสร้างผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเข้าสู่ตลาดวัฒนธรรม ซึ่งมีการนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับศิลปิน เครือข่ายทางวัฒนธรรมผู้ประกอบการสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมในวันแรกของงาน นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ได้เป็นประธานเปิดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวรปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายธัญญวัฒน์ชาญพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามนางฉวีวรรณ พันธุ ศิลปินแห่งชาติปี พ.ศ.๒๕๓๖สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) พร้อมด้วยผู้บริหาร วัฒนธรรมจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ๒๐ จังหวัด ต่างร่วมกันเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของชาติและวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งมีการแสดงวงออเคสตร้าจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และโขนจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และการแสดงจากศิลปินพื้นบ้าน นิทรรศการภูมิปัญญา วิถีชีวิต ที่แสดงแบบผ้าไทยภูษาศิลป์จากท้องถิ่น ไหมเมืองมหาสารคามมรดกภูมิปัญญา เพื่อยกระดับงานของดีอีสาน งานผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นงานระดับชาติในอนาคต
นอกจากนิทรรศการมหกรรมหุ่นกระติบและหุ่นฟาง นิทรรศการผลงานด้านศิลปะจากศิลปินในพื้นที่แล้ว ได้มีการสืบ พิธียกอ้อ ยอครู บายศรีสู่ขวัญครู ของศิลปินหมอลำภาคอีสาน การเสวนาทางวิชาการ ตลาดวัฒนธรรม การสาธิตผลิตภัณฑ์ และงานบริการทางวัฒนธรรม จาก ๒๐ จังหวัดแล้ว ยังจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชน วิถีชุมชน ชาติพันธุ์ในภาคอีสาน และเปิดเส้นทางท่องเที่ยวเมืองโบราณนครจำปาศรี เชิงวัฒนธรรมและเชิงสุขภาพขึ้นด้วย จึงเป็นความยินดีของการอนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอดให้ต้นทุนทางวัฒนธรรมของภาคอีสานได้แพร่หลายผลงานสร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรมต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี