รายงานขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่ออกมาในวันพฤหัสบดี เป็นครั้งแรกที่สำรวจความก้าวหน้าของแต่ละประเทศว่ามีการนำเอานโยบายลดการบริโภคโซเดียมไปใช้มากน้อยเพียงใดในการสอบถาม 194 ประเทศ พบว่า ประเทศเหล่านี้ยังห่างไกลจากการไปถึงเป้าหมายของโลกในการลดปริมาณการบริโภคโซเดียมลง 30% ภายในปี 2025 โดยมีเพียง 5% ของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกเท่านั้นที่นำเอานโยบายลดโซเดียมไปใช้ ขณะที่ 73% ของประเทศสมาชิกไม่มีการนำเอานโยบายเหล่านั้นมาใช้อย่างเต็มที่
ฟรานเชสโก บรานกา ผู้อำนวยการแผนกโภชนาการเพื่อสุขภาพและการพัฒนาของ WHO กล่าวว่า การลดโซเดียมเป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยประหยัดงบประมาณในการส่งเสริมสุขภาพและลดภาระการรักษาโรคที่ไม่ติดต่อ เพราะจะเป็นการลดความเสี่ยงของอาการและความตายที่เกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยใช้ทุนต่ำมาก
สำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก คร่าชีวิตผู้คนเกือบ 18 ล้านคน โดยที่มากกว่า 4 ใน 5 ของการเสียชีวิตเหล่านี้ เกิดจากหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง และ 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตอายุต่ำกว่า 70 ปี ขณะที่ตามคำแนะนำของ WHO ผู้ใหญ่ควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือบริโภคเกลือไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน ซึ่งเท่ากับเกลือประมาณ 1 ช้อนชาเท่านั้น