จาก โครงการ ๑๐ ตลาดบก ๖ ตลาดน้ำของ กระทรวงวัฒนธรรม โดย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวรปลัดกระทรวงฯ และผู้บริหารนั้น ได้กลายเป็นแรงกระตุ้นให้ตลาดเก่าที่มีแต่เดิมนั้น กลับมาทำให้เห็นเป็นตัวอย่างของวิถีวัฒนธรรมเพื่อเป็นจุดขายการท่องเที่ยวเสริมกระแสเที่ยวชุมชนยลวิถี และทำให้ตลาดบกตลาดน้ำที่เคยเกิดขึ้นในอดีตกาลนั้นมีความสำคัญเด่นชัดต่อชุมชนมากขึ้น นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้ความสนใจและเชื่อว่าตลาดเหล่านั้นจะสร้างมูลค่าเป็นรายได้กลับคืนมาและมีนักท่องเที่ยวสนใจเที่ยวกันมากขึ้น ดังนั้นในวันที่ ๒๔ กันยายนที่ผ่านมานั้น จึงได้มีพิธีเปิดตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก จังหวัดราชบุรี และตลาดน้ำอัมพวา สมุทรสงคราม ทั้งสองแห่ง ตลาดเหล่าตั๊กลัก นั้นเป็นชุมชนชาวจีนมาตั้งแต่ครั้งการขุดคลองดำเนินสะดวก ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ตั้งแต่พ.ศ.๒๔๐๙-๒๔๑๑ โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยงค์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองขุดคลอง เมื่อขุดเสร็จแล้ว จึงมีพิธีเปิดคลองนี้เมื่อวันจันทร์เดือน ๗ ขึ้น ๔ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๑๑) ส่วนชาวจีนที่เป็นแรงงานหลักในการขุดคลองนั้นจะได้รับอนุญาตให้มีบ้านเรือนอยู่ริมสองฝั่งคลองเป็นการตอบแทน ตลาดน้ำแห่งนี้เป็นตลาดน้ำริมวิถีชาวจีนคลองดำเนินสะดวกดั้งเดิม ก่อนมีการขยายตัวสร้างตลาดน้ำต่อเชื่อมคลองดำเนินสะดวก โดยย้ายจากบริเวณปากคลองลัดพลีไปยังตลาดน้ำที่สร้างแห่งใหม่ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวอย่างหนาแน่นในทุกๆ วันจนตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก ตลาดเก่าดั้งเดิมแห่งนี้ซบเซาลง แต่ด้วยความเป็นบ้านเรือนริมคลองดำเนินสะดวกมาแต่เดิมแบบวิถีชาวจีน จึงยังมีเสน่ห์ให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มพากันย้อนอดีตวิถีชาวจีนริมน้ำแบบเดิม
พิธีเปิดด้วยประเพณีแบบจีน
ด้วยเหตุที่คลองดำเนินสะดวกนี้ถูกขุดให้เป็นคลองที่ต่อเชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง ยาวประมาณ ๓๒ กิโลเมตรจึงทำให้มีเส้นทางสามารถเข้าถึงคลองอัมพวาสมุทรสงครามได้อีกแห่ง ซึ่งมีชุมชน ตลาดน้ำอัมพวา อยู่บริเวณปากคลองอีกแห่งหนึ่ง แม้จะเป็นชุมชนเล็กๆ ตั้งอยู่ริมน้ำ ด้วยเหตุที่เป็นชุมชนที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถและเกี่ยวข้องกับประวัติมาตลอด จึงเป็นชุมชนสำคัญเดิมนั้นเรียกว่า “บางช้าง” มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนไม้ผลและพืชผักจนเรียกขานติดปากว่า “บางช้างสวนนอกบางกอกสวนใน”เป็นสวนผลไม้คู่กันของบางช้างและบางกอกมาแต่สมัยอยุธยา ดังนั้น ชุมชนริมคลองอัมพวาจึงเป็นศูนย์กลางขนาดใหญ่ของความเป็นสวนนอก ที่ต่างนำสินค้าลงเรือมาแลกเปลี่ยนกันภายหลังจึงได้มีการขุดคลองเชื่อมสองแม่น้ำดังกล่าวให้ถึงกันคือคลองดำเนินสะดวกที่ขุดในสมัยรัชกาลที่ ๔ ชุมชนตลาดน้ำอัมพวาแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางค่อนมาทางใต้ของสมุทรสงคราม มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่านทิศตะวันตกในแนวเหนือใต้ โดยคลองอัมพวานั้นได้แยกจากแม่น้ำแม่กลองไหลผ่านกลางชุมชนแล้ว ยังมีคลองแยกมาจากแม่น้ำแม่กลองและเชื่อมกับคลองอัมพวาอีกหลายสายทำให้มีความสะดวกสบายในการคมนาคมทางน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสัญจรทางเรือ จนเรียกว่า เวนิสตะวันออกช่วงสุดท้ายต่อจากบางกอกที่ชาวต่างชาติเรียกว่า เวนิสตะวันออก มาก่อน (คือบริเวณบางกอกเขตธนบุรี) ส่วนบริเวณที่อยู่ใต้กรุงศรีอยุธยานั้นคือบริเวณโดยรอบปากอ่าวไทย ซึ่งมีเมืองนนทบุรี,เมืองนครชัยศรี, เมืองราชบุรี, เมืองสมุทรสงคราม, เมืองสมุทรสาคร และเมืองสมุทรปราการ นั้น เรียกว่า “ปักษ์ใต้”ด้วยความที่อัมพวาเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มี ค่ายบางกุ้ง ป้อมเมืองแม่กลองวัดอัมพวันเจติยาราม ที่สร้างขึ้นสืบจากหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี (ทองด้วง)ที่ได้แต่งงานกับ นาค ธิดาคหบดีมอญตระกูลบางช้าง แห่งอัมพวา เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐มีบุตรชายชื่อ ฉิม เมื่อบิดาคือหลวงยกระบัตร (ทองด้วง) ซึ่งภายหลังเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริยศึก ได้ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์จึงทำให้บุคคลในสายตระกูลบางช้าง แห่งอัมพวา พระญาติของ สมเด็จพระอัมรินทราราชชนนี (นาค) นั้นได้เป็นราชนิกุล เรียกกันว่า “ราชนิกุลบางช้าง” ตลาดอัมพวาแห่งนี้จึงเป็น ถิ่นตำรับอาหารในวังกรุงรัตนโกสินทร์...ที่ชวนให้ใครต่อใครไปย้อนอดีตหากินได้ที่นี่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี