รมว.วธและผู้บริหารกระทรวงวธ.
วันสถาปนากระทรวงวัฒนธรรม วันที่ ๓ ตุลาคมที่ผ่านมานั้น ทั่วไปคงรับรู้ว่าครบ ๒๑ ปีแล้วตามพ.ร.บ.ใหม่ พ.ศ.๒๕๔๕ ล่าสุด แต่เรื่องราวของกระทรวงวัฒนธรรมนี้ ได้ตั้งมาแล้วเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๕ ที่กำหนดอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้มีสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวงกรมการวัฒนธรรม กรมการศาสนา กรมศิลปากร และแบ่งส่วนราชการบริหารส่วนภูมิภาควัฒนธรรมจังหวัด และวัฒนธรรมอำเภอ โดย จอมพล ป.พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมด้วย ต่อมา พ.ศ.๒๕๐๑ กระทรวงนี้ถูกยุบเลิกตามพ.ร.บ. ทำให้ลดขนาดลงมาเป็น “กองวัฒนธรรม” และยังมีกรมการศาสนา กรมศิลปากรอยู่ ซึ่งต่างโอนย้ายไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ หลังสุดกระทรวงวัฒนธรรมได้กลับมาเป็นกระทรวงขึ้นใหม่อีกตามพ.ร.บ.เมื่อวันที่๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๕ ให้กระทรวงวัฒนธรรมมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับศิลปะ ศาสนา และวัฒนธรรมโดยมีส่วนราชการตามมาตรา ๓๗ ไว้ดังนี้ สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมการศาสนา กรมศิลปากร สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (พ.ศ.๒๕๕๒ ได้ปรับเป็นกรมส่งเสริมวัฒนธรรม) สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และองค์การมหาชนขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม คือ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์และศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ๔ ด้วยภารกิจด้านวัฒนธรรมที่สืบเนื่องมาแต่ พ.ศ.๒๔๙๕ จนมาเป็นกระทรวงวัฒนธรรมแห่งใหม่ ๒๑ ปี นี้ นายเสริมศักดิ์พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ได้มอบนโยบาย “วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ” พร้อมสืบสาน รักษา ต่อยอด โดยขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมสู่ก้าวที่มั่นคงด้วยพลังสร้างสรรค์ ในโครงการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม เพื่อรองรับ THACCA (ThailandCreative Content Agency) และการขับเคลื่อนSoft Power สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลกโดยจะขับเคลื่อน ๑๐ นโยบาย ดังนี้ ๑.สำรวจ รวบรวมข้อมูลทุนทางวัฒนธรรม ที่มีศักยภาพ เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดใน ๑๐ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และผลักดันนโยบาย ๑ ครอบครัว๑ ซอฟต์ พาวเวอร์ ๒.สำรวจและพัฒนาแรงงานด้านวัฒนธรรม ให้มีทักษะสูง รองรับความต้องการของตลาด ๓.บริหารจัดการพื้นที่และเครือข่ายทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด เพื่อพัฒนาศักยภาพเป็นพื้นที่สร้างสรรค์และพลังทางวัฒนธรรม ๔.ยกระดับงานวัฒนธรรมเดิมให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ๕.ส่งเสริมเทศกาลประเพณีของชาติและเทศกาลอื่นๆด้านวัฒนธรรม ให้เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ๖.ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้มีความทันสมัยและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ๗.สร้างโอกาสให้เข้าถึงแหล่งทุน และเพิ่มช่องทางใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ จากการจำหน่ายสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ๘.นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ ในการต่อยอดงานวัฒนธรรม ๙.อนุรักษ์ สืบสาน และส่งเสริม งานวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญของชาติให้คงคุณค่าและเนื้อหาสาระของวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ๑๐.เปิดพื้นที่สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้ได้รับโอกาสในการเรียนรู้และแสดงออก นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวรปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้ร่วมอธิบายถึงแนวทางการดำเนินงาน ของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม “๑๐ เปิดวัฒนธรรม สร้างพลังแห่งอนาคต” พร้อมกับผู้บริหารส่วนราชการในสังกัดและองค์การมหาชนที่ต่างให้แนวทางตามนโยบายเพื่อดำเนินงานในส่วนที่รับผิดชอบ ท่ามกลางผู้บริหาร ข้าราชการ วัฒนธรรมจังหวัดและเครือข่ายต่างๆ ที่พร้อมกันขานรับกันกึกก้องว่ากระทรวงวัฒนธรรม วันนี้เป็น “วัฒนธรรมทำทันที”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี