พระราชวังบวรสถานมงคล
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีเถาะ ที่ผ่านมากรมศิลปากรโดย นายพนมบุตร จันทโชติ อธิบดีกรมศิลปากรและผู้บริหารได้ร่วมกันจัดพิธีบวงสรวงพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญประจำพระราชวังบวรสถานมงคล เพื่อจะจัดพิธีมหาพุทธาภิเษก ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดย นิมนต์พระเถรานุเถระ ผู้ได้รับความเคารพนับถือจากประชาชน จำนวน ๙ รูป มาทำพิธีในวันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เวลา๑๓.๔๙ น. ซึ่งเป็นวันมหาสิทธิโชค และตรงกับราชาแห่งฤกษ์ โดยจะอัญเชิญวัตถุมงคลที่จัดสร้างทั้งหมดไว้ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นเวลา๑ ราตรี เพื่อซึมซับความศักดิ์สิทธิ์ จากองค์พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งถือเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง การจัดสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลอง ในโอกาสครบรอบ ๑๑๒ ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลอง และเหรียญพระพุทธสิหิงค์ เพื่อหารายได้นำเข้ากองทุนโบราณคดี ใช้ในการบูรณะโบราณสถาน และกิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ
คณะผู้บริหารกรมศิลปากร
การจัดสร้างครั้งนี้ ออกแบบโดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ด้วยฝีมืออันงดงาม ถือเป็นการจัดสร้างครั้งแรก และจัดสร้างจำนวนจำกัด พิเศษคือใต้ฐานของพระพุทธสิหิงค์จำลองทุกองค์ได้บรรจุไม้ช่อฟ้าเดิมซึ่งเป็นส่วนสูงสุดของพระที่นั่ง พุทไธสวรรย์ สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ และเทียนชัยเข้าพรรษา ซึ่งถวายองค์พระพุทธสิหิงค์เพื่อเป็นนิมิตแห่งความสว่างไสวของชีวิต อันเป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่หาได้ยากด้วยปรากฏในตำนานเล่าสืบต่อกันถึงความศักดิ์สิทธิ์แห่งองค์พระพุทธสิหิงค์ว่า “พระพุทธสิหิงค์เมื่อประทับอยู่ ณ ที่ใด ย่อมทรงทำให้ตามพระพุทธศาสนารุ่งเรืองดั่งดวงประทีปชัชวาล เหมือนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่” ด้วยการสร้างนั้นได้อุบัติจากแรงอธิษฐาน ๓ ประการ คือ ๑.แรงอธิษฐานจากพระอรหันต์ผู้ร่วมพิธี ๒.แรงอธิษฐานจากพระเจ้ากรุงลังกาผู้สร้าง ๓.อานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น พระพุทธสิหิงค์ องค์สำคัญนี้จึงเป็นพระพุทธรูปโบราณที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งหล่อด้วยสำริดหุ้มทอง ปางสมาธิสูง ๗๙ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๖๓ เซนติเมตร เป็นศิลปะแบบลังกา ตามประวัตินั้นกล่าวว่า พระเจ้าสีหฬะ พระมหากษัตริย์แห่งลังกาทวีปทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๗๐๐ ต่อมานั้น พระเจ้าศรีธรรมโศกราชแห่งแคว้นตามพรลิงก์ได้ไปขอมาถวายพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้กรุงสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา
ผู้สนใจบูชาพระพุทธสิหิงค์
ต่อมาได้มีผู้นำไปไว้ที่เมืองกำแพงเพชรและเชียงราย เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ยกทัพไปตีเมืองเชียงรายได้ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่เชียงใหม่พร้อมกับพระแก้วมรกตเมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ.๒๒๐๕ ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลานานถึง ๑๐๕ ปี เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น ชาวเชียงใหม่ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปที่เชียงใหม่ เมื่อมณฑลพายัพได้กลับมาเป็นของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท โปรดให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๘ อัญเชิญประดิษฐานณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคลมาจนทุกวันนี้และอัญเชิญออกมาช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้ประชาชนไทยได้สักการะและสรงน้ำเป็นประจำทุกปี สำหรับพระพุทธสิหิงค์ที่สำคัญองค์อื่นนั้นว่าอีกหลายองค์ เช่น พระพุทธสิหิงค์ ในวิหารวัดพระเจ้าเม็งรายเป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย สร้าง พ.ศ.๒๐๑๒ โดยพระสังฆราชนามว่า พระศรีสัทธัมมไตรโลกรัตนจุฬามหาสังฆราช พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์เมืองเชียงใหม่และพระพุทธสิหิงค์เมืองนครศรีธรรมราชเป็นพุทธลักษณะปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสนมีพุทธลักษณะนั่งขัดสมาธิเพชร ผู้สนใจความศักดิ์สิทธิ์ในวาระอันเป็นมงคลนี้ติดต่อเช่าบูชาได้ที่ ฝ่ายพัสดุ กลุ่มคลังและพัสดุ สำนักบริหารกลาง ชั้น ๓อาคารกรมศิลปากร เทเวศร์ โทร.๐๒-๑๒๖๖๕๕๙ ด้วยเป็นครั้งแรกของการสร้างพระพุทธสิหิงค์เพื่อความรุ่งเรืองแห่งพุทธศาสนาและบ้านเมือง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี