วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ผู้หญิง
แนวหน้า Talk : ‘พิสิทธิ์ กิรติการกุล’ 23ปี‘คดีเด็ด’ที่‘วิกหมอชิต’ 4ทศวรรษบนเส้นทางสายอาชีพสื่อ

แนวหน้า Talk : ‘พิสิทธิ์ กิรติการกุล’ 23ปี‘คดีเด็ด’ที่‘วิกหมอชิต’ 4ทศวรรษบนเส้นทางสายอาชีพสื่อ

วันพุธ ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2567, 06.00 น.
Tag : แนวหน้า Talk พิสิทธิ์ กิรติการกุล
  •  

ต้องบอกว่าน่าใจหายอยู่ไม่น้อย หลังมีรายงานข่าวว่า “คดีเด็ด” รายการที่หยิบยกเรื่องเล่าการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ(และต่อมาเริ่มขยายไปยังหน่วยงานอื่นๆ เช่นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง บุคลากรทางการแพทย์อาสาสมัครกู้ภัย ฯลฯ) ที่ฟังแล้วตลกขบขันมานำเสนอในรูปแบบ “ละครสั้น” ที่นักแสดงแต่ละคนเล่นได้แบบ “ขำสุดๆ” (จนระยะหลังๆ เริ่มใช้คลิปวีดีโอจากสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมเสียงบรรยาย “เรื่องนี้เป็นภาพจริง ไม่ได้ถ่ายทำ คนที่เห็นในภาพก็เป็นคนจริงๆ ไม่ใช่ตัวแสดง”) ลาไปจากหน้าจอโทรทัศน์แล้ว หลังออกอากาศมานานถึง 23 ปี

รายการคดีเด็ด ผลิตโดย บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท อิเมจิเนชั่น ริม จำกัด ปัจจุบันออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 13.00-14.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 (หรือระบบดิจิทัลคือช่อง 35) ออกอากาศในตอนแรกเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2543 และตอนสุดท้ายวันที่ 30 ธ.ค. 2566 มีพิธีกรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการดำเนินรายการ อย่าง “หว่อง-พิสิทธิ์ กิรติการกุล” ภาพที่คอรายการคุ้นเคยคือน้ำเสียงที่ดูเรียบๆ สีหน้านิ่ง เข้าทำนอง “ตลกหน้าตาย” ตรงข้ามกับเนื้อหาในรายการที่ฮา
ท้องแข็งกันแบบสุดๆ


เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2567 หว่อง-พิสิทธิ์ ได้มาเยือนรายการ “แนวหน้าTalk” บอกเล่าที่มาที่ไปของรายการคดีเด็ด ว่า ที่ผ่านมาตนถ่ายรายการ 2 สัปดาห์ต่อครั้ง แบ่งออกอากาศได้ 2 ตอน ใช้สถานีตำรวจเป็นสถานที่ดำเนินรายการ และเสียงตอบรับจากเจ้าหน้าที่ตำรวจคือชอบรายการนี้ เพราะส่วนใหญ่ก็พูดเรื่องผลงานของเขา เนื้อหาก็มาจากแฟ้มคดีประจำวันบ้าง หรือเจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังบ้างว่าไปทำคดีอะไรมาแล้วเห็นว่าคดีนั้นมันตลกดีหรือเป็นคดีแปลกๆ แล้วทีมงานรายการก็นำมาทำเป็นละคร ส่วนนักแสดงก็หามาจากคนธรรมดาทั่วๆ ไป รปภ. บ้าง แม่บ้านบ้าง

และบทบาทที่ง่ายที่สุดคือ “วงไพ่แตก” หรือการตั้งวงเล่นการพนันแล้วต้องวิ่งหนีเพราะเห็นตำรวจกำลังจะมาจับ เพราะนั่นคือข้อเท็จจริงในชีวิตประจำวันส่วนหนึ่งของคนไทยไม่ว่าในเมืองหรือในชนบท อย่างในเมืองก็เล่นในห้องแอร์ ชนบทก็เล่นตามหัวท้ายปลายนาบ้าง ตามวัดบ้าง ส่วนวลีติดหูอย่าง “แหม!..ทำไปได้” มาจากชีวิตคนเรามีไม่กี่อย่างที่ใช้คำว่าสุดชีวิตคือทำอย่างไรก็ได้ 1.ขอให้ไม่ติดคุก 2.ขอให้ไม่ตาย คนจะทำได้ทุกอย่าง ดังนั้นการหนีตำรวจก็คือหนีไม่ให้ติดคุก จึงทำในสิ่งที่ดูแล้วไม่น่าจะทำได้แต่ก็กลับทำได้ เช่น ยกโอ่ง กระโดดข้ามรั้วสูง

ทั้งนี้ หากรายการเปลี่ยนไป-มา ก็คงไม่ประสบความสำเร็จ ใครจะไปติดตาม นี่ก็เป็นส่วนหนึ่ง เมื่อมีคนดูรายการเป็นประจำอยู่แล้วรายการก็จะมีรายได้ตามมา เมื่อมีรายได้มาเลี้ยงรายการก็อยู่ต่อไป ก็เหมือนกับร้านอาหารที่ 1.ต้องเลือกทำเลก่อน บางครั้งการเลือกทำเลผิดก็อาจไม่ประสบความสำเร็จ 2.เปิดร้านต่อเนื่อง ไม่ใช่ขาย 3 วัน หยุด 4 วัน หรือขาย 5 วัน หยุด 2 วัน แบบนี้ลูกค้าก็ผิดหวัง

“เรตติ้งอยู่ประมาณ 2-3 ช่วงบ่ายก็ถือว่าโอเค ทั้งที่ไม่ใช่ช่วงไพรม์ไทม์ ก็ทำให้เวลานั้นเป็นเวลาที่ Make Money (ทำเงิน) ได้ แต่ที่สำคัญคือรายการโทรทัศน์คุณจะ Make Money ได้ รายการคุณจะต้องพูดง่ายๆ มีความต่อเนื่องยาวนาน ไม่ใช่ทำมา 2 เดือน 6 เดือนแล้วบอกว่าต้องได้กำไร ถ้าได้ก็ดี แต่ในความเป็นจริงมันอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นคุณต้องมีความต่อเนื่อง มีคนที่ดูรายการของคุณแล้วเขาจะดูรายการของคุณก็ต่อเมื่อรายการของคุณมีความต่อเนื่อง ดูแล้วโอเคเขาสนุกด้วย ต่อเนื่อง คงที่ มันถึงอยู่มา 23 ปีไง”พิสิทธิ์ กล่าว

แม้ภาพจำของใครหลายคนต่อ พิสิทธิ์ กิรติการกุล คือพิธีกรรายการคดีเด็ด แต่จริงๆ แล้ว หว่อง-พิสิทธิ์ ถือเป็น “สื่อมวลชนอาวุโส” ท่านหนึ่งที่อยู่ในแวดวงนี้มา 40 ปี นับตั้งแต่สำเร็จการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในยุคนั้นหากเลือกเรียนสายงานโทรทัศน์จะเน้นไปทางผลิตรายการ แต่หากอยากเป็นผู้สื่อข่าวก็ต้องไปเรียนการทำข่าวที่สายงานนักหนังสือพิมพ์ (Journalist) มีเพื่อนร่วมรุ่นที่เป็นคนดังในแวดวงสื่อ เช่น บุญเลิศ คชายุทธเดช (ช้างใหญ่) อดีตบรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์มติชน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือ
ฟองสนาน จามรจันทร์ อดีตนักจัดรายการวิทยุ สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ที่ปัจจุบันกลายเป็นหมอดูชื่อก้อง

หว่อง-พิสิทธิ์ เริ่มงานแรกคือการทำงานด้านโฆษณา ต่อมาไปทำงานกับสื่อญี่ปุ่นที่ประจำอยู่ในประเทศไทยอยู่ 3 ปี สถานการณ์เวลานั้นเป็นช่วงที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างลาว กัมพูชา และเวียดนาม ยังมีสถานการณ์ความไม่สงบ สำนักข่าวของญี่ปุ่นจึงต้องย้ายเข้ามาอยู่ในไทย แต่ก็ยังรายงานข่าวสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านต่อไป ขณะที่สถานการณ์ภายในไทยก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน อาทิ มีความพยายามก่อรัฐประหาร เช่น ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้น

หลังทำงานกับสื่อญี่ปุ่นยังได้กลับไปทำงานโฆษณาอีกพักหนึ่ง ก่อนจะเข้าทำงานกับสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 “ยุคนั้นแม้ช่อง 7 คนจะดูเยอะมาก แต่ยังไม่มีระบบรายงานเรตติ้ง และมีปัญหาขายโฆษณาไม่ค่อยออก” จึงได้ทำงานเพราะทางช่องเห็นว่ามีประสบการณ์ด้านงานโฆษณา กระทั่งเมื่องานโฆษณาเข้าที่เข้าทางจึงได้ย้ายไปทำหน้าที่อื่น แม้กระทั่ง“กองประกวดนางงาม” ก็ยังเคยทำมาแล้ว โดยงานนี้ทำให้มีโอกาสได้ตามไปทำข่าว “ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก” ในเวที “มิสยูนิเวิร์ส” ด้วย เนื่องจากเวลานั้น ช่อง 7 ถือสิทธิ์การประกวดนางสาวไทย (ร่วมกับสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยฯ) และสาวงามที่ได้ตำแหน่งนี้จะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวดมิสยูนิเวิร์ส

“ไปในฐานะพูดง่ายๆ คือเป็นส่วนหนึ่งของกองประกวด เขาก็เลยเห็นเรา โอเค! จากประเทศไทย ก็คุณได้เป็นมิสยูนิเวิร์ส ก็เลยให้สัมภาษณ์เจ้าเดียวก่อนที่จะให้นักข่าวช่องอื่นๆ หรือโทรทัศน์ประเทศอื่นๆ สัมภาษณ์ก็เท่านั้นเองจริงๆ ไม่ได้สัมภาษณ์อะไรหรอกเพราะคุณปุ๋ยก็คว้าไมค์พูดเอง เข้าใจว่าเขาก็อยากจะพูดด้วย ก็ยื่นไมค์ จริงๆ เราก็ไม่ได้ไปใกล้ชิดเพราะเขาอยู่บนเวทีเราอยู่ข้างล่าง

จากภรณ์ทิพย์พูดภาษาไทยแทบจะไม่ได้ตอนนั้นเพราะไปอยู่เมืองนอกมาตลอดโห! พูดภาษาไทยปร๋อเลย ไม่รู้มาจากไหน?แต่มันแค่สั้นๆ ภาษามันมาจากจิตใต้สำนึกเราเป็นช่องเดียวที่ได้เข้า ตอนนั้นคนไทยก็ตื่นเต้นเพราะไม่เคยได้นางงามมา 25 ปีจากคุณอาภัสรา (อาภัสรา หงสกุล)” พิสิทธิ์เล่าถึงนาทีร่วมเป็นสักขีพยานวินาทีที่ ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ คว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์ส

งานหลักของ หว่อง-พิสิทธิ์ ในเวลานั้นจะไปในทางข่าวต่างประเทศ หลักๆ คือการแปลข่าว ขณะที่แวดวงสื่อโทรทัศน์เองก็มีการแข่งขันกันสูง สำหรับช่อง 7 ฟากละครไปได้ดีแล้ว แต่ฟากรายการข่าวต้องบอกว่ายังปรับตัวช้า ในขณะที่การเรียนการสอนด้านการเป็นผู้ประกาศข่าวหรือการรายงานข่าวผ่านหน้ากล้องในประเทศไทยก็ยังไม่ค่อยมี เมื่อเทียบกับของต่างประเทศที่ฝึกฝนกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 4 ในช่วงแรกๆ เป็นรายการข่าวสั้น โดย หว่อง-พิสิทธิ์ เป็นคนเขียนสคริปต์ข่าว แต่เมื่อขาดผู้ประกาศ สุดท้ายจึงได้ออกหน้าจออ่านข่าวนั้นด้วยตนเอง

จากรายการข่าวสั้น “ข่าวเด็ด 7 สี”หว่อง-พิสิทธิ์ ยังมีโอกาสไปทำงานอื่นๆ ในแวดวงสื่อ เช่น จัดรายการวิทยุ เป็นพิธีกรรายการวิทยาศาสตร์ กระทั่งในปี 2543 จึงได้มาทำรายการคดีเด็ด จนมาถึงยุคปัจจุบันที่วงการสื่อเปลี่ยนผ่านจากยุคอนาล็อกเป็นดิจิทัล ซึ่ง หว่อง-พิสิทธิ์ ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือ “ที่มาของข่าว” จากดั้งเดิมที่ข่าวแบ่งได้ 3 ประเภท ได้แก่ 1.แหล่งข่าวกำหนดข่าว หมายถึงบุคคลสำคัญ เช่น นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พูดอะไรสื่อก็เสนอข่าวไปตามนั้น

2.สื่อกำหนดข่าว หมายถึงสื่อเป็นผู้เลือกว่าจะนำเสนอหรือไม่นำเสนออะไร เช่น การเลือกแหล่งข่าวที่จะไปสัมภาษณ์ และ 3.เหตุการณ์กำหนดข่าว หมายถึงเหตุการณ์ใหญ่ๆ เกิดขึ้น อย่างไรสื่อก็ต้องนำเสนอ เช่น เกิดเหตุเพลิงไหม้สถานที่สำคัญ “แต่ปัจจุบันมีข้อที่ 4 คือประชาชนกำหนดข่าว” เมื่อประชาชนมีโทรศัพท์มือถือ “ทุกวันนี้ข่าวจำนวนไม่น้อยจึงเกิดมาการเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)” ซึ่งก็น่าคิดว่า “เรื่องที่เห็นมีความจริงมาก-น้อยเพียงใด” หรืออาจเป็นเพียง “การสร้างดราม่า” สร้างกระแสอะไรสักอย่างขึ้นมาก็ได้

“เมื่อก่อนไม่มี ชาวบ้านอยากออกข่าวจะตาย แล้วไกลๆ ก็ไม่ไปด้วย คนต่างจังหวัดเขาถือว่าเสียโอกาสมาก เขาเดือดร้อน แต่ดูสิ!ไม่ค่อยจะสนใจ แต่ทุกวันนี้ดีขึ้น เขาไม่ง้อคุณแล้ว เราต้องไปง้อเขาด้วยซ้ำ ไม่เหมือนกับเมื่อก่อน ฉะนั้นการทำข่าวมันก็เปลี่ยนแปลงไป แต่เราก็ไม่รู้ว่าคนออกทางติ๊กต็อก ออกทางยูทูบนี่ของจริงหรือไม่จริง ฝรั่งเขาถึงแยกประเภทข่าวประเภทนี้ว่าเป็น Personal เป็นเรื่องของส่วนบุคคล แล้ว Fake (ปลอม) หรือไม่ Fake เขาก็มีอธิบายอีกนะ ว่าอันนี้เขาดูจาก GPS แล้ว ดูจากดาวเทียมแล้ว ว่าเป็นสถานที่จริงหรือไม่จริง วันที่ Verify (ตรวจสอบ)ได้หรือไม่ เขาละเอียดถึงขนาดนั้น อธิบายขนาดนั้น” พิสิทธิ์ กล่าวถึงเหรียญสองด้านของสื่อสังคมออนไลน์

เมื่อย้อนกลับมามองการทำงานของสื่อมวลชนไทย หว่อง-พิสิทธิ์ ระบุว่า “ยังไม่ค่อยเห็นสื่อไทยตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลก่อนนำเสนอที่ละเอียดมากเท่าสื่อต่างประเทศ” ดูแล้วก็เหมือนจริงไปหมด และหลายครั้งก็ยังมองเห็น “วาระซ่อนเร้น” ของการนำเสนอ เช่น ความต้องการยอดผู้ชม (View) ยอดผู้ติดตาม (Follow) ยอดถูกใจ (Like) เพราะทั้งหมดนี้หมายถึง “รายได้” ยิ่งมีคนติดตามมารายได้ก็เข้ามามาก

กับคำถามที่ว่า “คนทำข่าวต้องปรับตัวอย่างไรกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป” คนข่าวอาวุโสท่านนี้ ให้มุมมองว่า ทุกวันนี้หนังสือพิมพ์ก็ไปทำโทรทัศน์ด้วย หรือหนังสือพิมพ์ก็มีการนำเสนอข่าวผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย “สิ่งสำคัญอยู่ที่มันสมองของคนทำงาน” แต่ละคนศึกษา วิเคราะห์ แยกแยะอย่างไร จุดนี้จะทำให้ตัวเราแตกต่างจากคนอื่นๆ ดูอย่างคอลัมนิสต์หลายท่าน อายุ 80 -90 ปีแล้วแต่สมองยังดีอยู่แถมยังมีคนติดตามจำนวนมาก

ดังนั้นคนรุ่นใหม่ๆ ก็ต้องพยายามสร้างตนเองขึ้นมา ทั้งความเฉียบคมของความคิดและวิธีการนำเสนอที่ทำให้แตกต่าง “ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจทำงานได้มากกว่ามนุษย์ แต่การคิดและการแสดงออกจะไม่เข้าใจเหมือนมนุษย์” อีกทั้งคนจะติดตามเราหรือไม่ก็ดูกันที่มุมมองความคิด หากเขาชอบความคิดของเราเขาก็จะติดตามเรา ส่วนคำถามที่ว่า “ข่าวต่างประเทศสำคัญกับคนไทยอย่างไร?” ในฐานะที่อยู่กับสายงานข่าวต่างประเทศมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ยกตัวอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น แบบนี้เกี่ยวข้องกับคนไทยหรือไม่?

แม้กระทั่งการสู้รบระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ (ฮามาส) ก็ยังถูกคาดการณ์ว่าอาจนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 หากเป็นเช่นนั้นจริงแล้ว
ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร? อย่างตนเคยฟังคนรุ่นสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 2484-2488)ต่างก็บอกเล่าว่าชีวิตในเวลานั้นยากลำบากมาก ทรัพย์สินที่มีถึงกับหมดตัว ข้าวยากหมากแพงแม้กระทั่งบ้านแตกสาแหรกขาด แต่ก็เชื่อว่าปัจจุบันคนไทยสนใจข่าวต่างประเทศมากขึ้น ทั้งด้วยการสื่อสารที่รับรู้ได้รวดเร็วราวกับทั้งโลกเป็นประเทศเดียวกัน และการรับรู้ว่ามีคนไทยไปอยู่ทั่วทุกมุมโลก

“ตราบใดที่เรายังมีแรง มีสติปัญญาที่ยังทำงานได้ ก็โอเค! ถ้าเขายังคิดว่าเราทำได้และให้โอกาสทำก็ทำ เพราะถ้าผมไม่ทำผมก็เป็นภาระของบางคนบางที่ไป ถ้าเราไม่ทำงาน ไม่มีรายได้ก็กลายเป็นภาระของครอบครัวหรือเป็นภาระของรัฐบาล ผมก็จะไปเอาแล้ว ขอ 600 700 หรือ 1,000 ก็แล้วแต่ (เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ) แล้วผมฟังเขาอภิปรายงบประมาณเขาก็พูดถึงตรงนี้ว่าเราก็ไม่มีสตางค์นะที่จะไปเพิ่มให้คุณ อย่าว่าแต่ 3,000 เลย 1,000 ก็ยังไม่มี” หว่อง-พิสิทธิ์ กล่าวในตอนท้าย ว่าด้วยหากยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ประกาศข่าวก็ยังคงจะทำงานต่อไป

หมายเหตุ : สามารถติดตามรายการ “แนวหน้า Talk” ดำเนินรายการโดย บุญยอด สุขถิ่นไทย ได้ผ่านทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 19.00 น.

ปกป้องสิทธิหรือตัดโอกาสของเด็ก? : ในช่วงหนึ่งของการสนทนาในรายการ “แนวหน้า Talk” วันที่ 5 ม.ค. 2567 หว่อง-พิสิทธิ์ กิรติการกุล สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวถึงเรื่องแนวปฏิบัติการใช้ภาพข่าวของสื่อมวลชน ซึ่งปกติจะมีความเข้มงวดอยู่แล้ว เช่น ภาพศพ ภาพบาดแผล ภาพที่ดูแล้วหวาดเสียว ก็จะใช้วิธีการเบลอภาพ แต่ในส่วนของภาพเด็กนั้นมีข้อสังเกตว่าบางกรณีการต้องเบลอภาพโดยอ้างถึงการปกป้องสิทธิเด็กกลายเป็นการตัดโอกาสที่เด็กจะได้รับความช่วยเหลือหรือไม่

เช่น เด็กที่มีชีวิตลำบากยากจน สื่อมวลชนต้องการนำเสนอเพื่อให้เด็กได้รับความเห็นใจและตามด้วยความช่วยเหลือ แต่การต้องเบลอภาพเด็กทั้งหมดจนมองไม่เห็นสีหน้าท่าทางที่สื่อถึงความทุกข์ทรมานของเด็ก คำถามคือแล้วเด็กจะได้รับความเห็นใจได้อย่างไร เรื่องนี้หน่วยงานกำกับดูแลต้องมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ไม่ใช่สั่งแบบคลุมเหมาไปทั้งหมด อะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อเด็ก ทำให้เด็กเข้าถึงความช่วยเหลือ ก็สมควรที่สื่อจะนำเสนอได้

“ผมดูจากข่าวต่างประเทศ ภาพไหนที่หวาดเสียวฝรั่งเขาก็เบลอมาอยู่แล้ว หรือถ่ายไม่ให้เห็นชัดมาก ขาขาด แขนขาด เลือดสาด เขา
ก็เบลอมาอยู่แล้ว แต่เด็กหิวโหย เด็กไม่มีข้าวจะกิน เด็กวิ่งหนีสงคราม คุณจะไปเบลอทำไม? เพราะเขาต้องการแสดงให้เห็นว่าเด็กเหล่านี้น่าเห็นใจเด็กเหล่านี้ต้องได้รับการช่วยเหลือ เบลอหมดแล้วมันจะเสนออย่างไร” หว่อง-พิสิทธิ์ กล่าว

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • แนวหน้า Talk : ‘รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร’  ส่งกลับ‘อุยกูร์’ประเด็นร้อน‘ไทย’  ในความขัดแย้งของมหาอำนาจ แนวหน้า Talk : ‘รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร’ ส่งกลับ‘อุยกูร์’ประเด็นร้อน‘ไทย’ ในความขัดแย้งของมหาอำนาจ
  • แนวหน้า Talk : ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’  ‘พลังประชารัฐ’ในบทบาทฝ่ายค้าน  อ่านเกม‘เพื่อไทย’แก้รัฐธรรมนูญ แนวหน้า Talk : ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ‘พลังประชารัฐ’ในบทบาทฝ่ายค้าน อ่านเกม‘เพื่อไทย’แก้รัฐธรรมนูญ
  • แนวหน้า Talk : ‘สุทิน วรรณบวร’  การเมืองไทยในสายตาสื่ออาวุโส  ต่างชาติไม่มั่นใจใครนายกฯตัวจริง แนวหน้า Talk : ‘สุทิน วรรณบวร’ การเมืองไทยในสายตาสื่ออาวุโส ต่างชาติไม่มั่นใจใครนายกฯตัวจริง
  • แนวหน้า Talk : ‘วรชัย เหมะ’ มองการเมือง‘หลักการvsสถานการณ์’ และความเป็นไปของ‘คนเสื้อแดง’ แนวหน้า Talk : ‘วรชัย เหมะ’ มองการเมือง‘หลักการvsสถานการณ์’ และความเป็นไปของ‘คนเสื้อแดง’
  • แนวหน้า Talk : ‘ฐิติวัฒน์ ว่องวรรณกุล’  ‘มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยากฯ’  กับภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย แนวหน้า Talk : ‘ฐิติวัฒน์ ว่องวรรณกุล’ ‘มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยากฯ’ กับภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
  • แนวหน้า Talk : ‘ชัชวาล แพทยาไทย’  ทำไม‘ปุ๋ยคนละครึ่ง’ไม่ตอบโจทย์  ‘ต้นทุนผลิต’ทำชาวนาติดวังวน‘จน-หนี้’ แนวหน้า Talk : ‘ชัชวาล แพทยาไทย’ ทำไม‘ปุ๋ยคนละครึ่ง’ไม่ตอบโจทย์ ‘ต้นทุนผลิต’ทำชาวนาติดวังวน‘จน-หนี้’
  •  

Breaking News

'เอกนัฏ'ส่ง สุดซอย ปูพรมกวาดล้าง ปิดตาย โรงงานเหล็กผี IF จัดโทษหนัก เช็คบิล ขรก.มีเอี่ยว

สืบกระทุ่มแบนบุกรวบ 2 ตีนแมวคารังนอนพร้อมอาวุธปืน

'ภคมน ลิซ่า' สอน 'ณัฐวุฒิ' เก็บอาการหน่อย! บอกควรยืนข้างนายกฯ ไม่ใช่พ่อของนายกฯ

ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่! 'พานาโซนิค'เตรียมเลย์ออฟพนักงาน10,000ตำแหน่งทั่วโลก

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved