พระมหาเถระผู้เป็นปราชญ์ทางธรรม
จากงาน ๓๓๘ ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ที่ผ่านมานั้น ทางวัดได้จัดงานวันที่ระลึก ๑๐๐ ปี การครองวัดของสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) อดีตเจ้าอาวาสซึ่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น เจ้าคณะใหญ่หนใต้ และแม่กองบาลีสนามหลวง ขึ้นในโอกาสเดียวกัน พระเถระรูปนี้มีนามเดิมว่า กิมเฮง มีบิดาเป็นพ่อค้าชาวจีนชื่อตั้วเก๊า แซ่ฉั่ว มารดาเป็นไทยชื่อ ทับทิม ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๒๔ ถ้านับแบบปัจจุบันจะตรงกับปี พ.ศ.๒๔๒๕ ท่านเป็นปราชญ์ของชาวเมืองอุทัยธานี ที่มีภูมิลำเนาอยู่บ้านท่าแร่ ตำบลสะแกกรังอำเภอเมืองอุทัยธานี เมื่อท่านอายุได้ ๑๐ ขวบ ได้เรียนภาษาไทยกับ พระอาจารย์ชัง วัดขวิด อยู่ ๒ ปีแล้วย้ายไปเรียนกับ พระปลัดใจ วัดมณีธุดงค์ ซึ่งต่อมาได้เป็น พระสุนทรมุนี (ใจ) เจ้าคณะเมืองอุทัยธานี
วัดขวิดสำนักเรียนครั้้งแรก
เมื่อท่านอายุได้ ๑๓ ปีนั้น ได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้วเรียนภาษาบาลีที่วัดมณีธุดงค์ต่อจนกระทั่งอายุได้ ๑๖ ปี จึงย้ายไปอยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ เรียนภาษาบาลีกับ พระยาธรรมปรีชา (ทิม)และ หลวงชลธีธรรมพิทักษ์ (ยิ้ม) แต่ครั้งยังเป็นมหาเปรียญ เมื่อพ.ศ.๒๔๔๐ ต่อได้มาเรียนกับพระอมรเมธาจารย์ (เข้ม ธมฺมสโร) วัดมหาธาตุฯสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน), สมเด็จพระวันรัต(ฑิต อุทโย) และ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวโรรส จนสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยคในปี พ.ศ.๒๔๔๔ เมื่อมีอายุครบบวชในปีขาล พ.ศ.๒๔๔๕จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดมหาธาตุฯ นั้นโดยมี สมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระธรรมวโรดม (จ่าย ปุณฺณทตฺโต)และ พระเทพเมธี (เข้ม ธมฺมสโร) เป็นคู่พระกรรมวาจาจารย์ ท่านได้ตั้งใจศึกษาทางธรรม แล้วเข้าสอบเปรียญธรรม ๗ ประโยค ได้ในปี พ.ศ.๒๔๔๗ สอบเปรียญธรรม ๘ ประโยค ได้ในปี พ.ศ.๒๔๔๘และสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ได้ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ด้วยเหตุที่ท่านเป็นพระเถระที่ใฝ่รู้สู้สิ่งยากและให้ความสำคัญกับการศึกษาทางธรรมอย่างมาก จึงเป็นแบบอย่างของความสำเร็จเมื่อครั้งเป็นสามเณรเปรียญธรรม ๔ ประโยคนั้น ท่านก็ได้รับมอบหมายให้เป็นครูสอนในมหาธาตุวิทยาลัย จนเมื่อสมเด็จพระวันรัต (ฑิต) ชราภาพลงสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้โปรดฯให้ท่านเป็นผู้จัดการวัดมหาธาตุแทนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๕ ครั้นสมเด็จพระวันรัตถึงแก่มรณภาพลงในปี พ.ศ.๒๔๖๖ ท่านจึงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน ตลอดช่วงเวลาที่ครองวัดนั้น ท่านได้จัดระเบียบวัดทั้งในด้านการทะเบียน การทำสังฆกรรม จัดลำดับชั้นการปกครองคณะวางกฎเข้มงวดกับจริยวัตรของพระเณรในวัด และจัดการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ทรุดโทรมและก่อสร้างเพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอกับการขยายการศึกษา นอกจากนี้ท่านยังสนองงานถวายสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส จนเป็นที่พอพระทัย เมื่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ประกาศใช้ ท่านได้รับคัดเลือกเป็นประธานสังฆสภาเป็นรูปแรก สำหรับสมณศักดิ์นั้นท่านได้ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีวิสุทธิวงษ์ พ.ศ.๒๔๕๒ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสุธีฯ พ.ศ.๒๔๕๕ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพโมลีฯ พ.ศ.๒๔๕๙เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมไตรโลกาจารย์ฯพ.ศ.๒๔๖๔ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองหนเหนือที่พระพิมลธรรมฯ พ.ศ.๒๔๗๑ เป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่หนใต้ที่ สมเด็จพระวันรัต ปริยัติพิพัฒนพงศ์ วิสุทธิสงฆปรินายก ตรีปิฎกโกศลวิมลคัมภีรญาณสุนทร มหาทักษิณคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี อรัญญวาสี พ.ศ.๒๔๘๒
สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๖ เวลา ๒๐.๓๐ น. ณ คณะ ๑ วัดมหาธาตุฯ สิริอายุได้ ๖๑ ปี ๙๙ วัน พรรษา ๔๒ ท่านเป็นพระมหาเถระผู้วางรากฐานการศึกษาของคณะสงฆ์ และท่านเป็นผู้มีความรู้ด้านการแปลภาษาบาลีอย่างดี ดังปรากฏผลงานคัมภีร์ใบลานจำนวนมาก ที่สำคัญท่านได้สร้างศิษย์ผู้เป็นปราชญให้แผ่นดินหลายท่านด้วยคุณูปการด้านศาสนาของพระมหาเถระจากลุ่มแม่น้ำสะแกกรังรูปนี้ ถือว่าท่านคือต้นแบบของการศึกษาเรียนรู้ที่หาได้ยากยิ่ง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี