คณะมังกรนครสวรรค์
ชาวไทยเชื้อสายจีนนั้นมีวันสำคัญที่รู้จักกันทั่วโลกคือ วันตรุษจีน เป็นวันชุนเจี๋ย หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน แม้ว่าจะมีตำนานส่งผ่านกาลเวลามานานเกือบ ๔,๐๐๐ ปีก็ตาม แต่ละภูมิภาคยังแตกต่างด้วยเหตุปฏิทินที่ใช้ในแต่ละยุคสมัยของจีนนั้นมีการกำหนดแตกต่างกัน บางยุคก็ใช้ตามแบบสุริยคติ บางยุคก็จะใช้แบบจันทรคติ จึงทำให้วันขึ้นปีใหม่ไม่ตรงกัน สมัยจีนยุคโบราณนั้นให้ความสำคัญกับ วันลี่ชุน ได้ถือว่าเป็น วันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ มากกว่าวันที่ ๑ เดือน ๑ ที่วันลี่ชุนจะนับช่วงเวลาตามสุริยคติ ในวันนี้จะมีการเฉลิมฉลองและอัญเชิญเทพเจ้า เซ่นไหว้บรรพบุรุษ ถือเป็นวันบวงสรวงสวรรค์ ประกอบพิธีเข้าเฝ้าจักรพรรดิ รวมถึงมีการเสี่ยงทายการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และขอพรจาก เทพเจ้าการเกษตร ให้การเก็บเกี่ยวอุดมสมบูรณ์ วันตรุษจีนที่ใช้ในปัจจุบันนี้เกิดขึ้นในยุคสมัยต้นราชวงศ์ฮั่น ประมาณราวปีพุทธศักราช ๔๓๙ ก่อนคริสต์ศักราชประมาณ ๑๐๔ ปี จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ ได้ทรงประกาศใช้ “ปฏิทินไท่ซู” ซึ่งพระองค์ได้ทรงกำหนดให้เอา วันที่ ๑ เดือนอ้าย (เดือนแรกของปี) ให้เป็นวันเริ่มต้น นับจากนั้น “ปฏิทินไท่ซู” นี้ก็ได้ถูกใช้แทนปฏิทินอื่นๆ และถูกใช้ต่อเนื่องมาเป็นเวลามากถึง๒,๐๐๐ กว่าปี ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของ วันตรุษจีน ที่ชาวจีนในไทยยึดถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนปัจจุบัน
ครูฝึกสอนมังกร เล้งจุ้ย แซ่ลิ้ม
ส่วนสำหรับงานประเพณีวันตรุษจีนนั้นมีปรากฏในชุมชนชาวจีนหลายแห่ง แต่ที่น่าสนใจนั้นคือประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ของชาวปากน้ำโพด้วยมีประวัติของพิธีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่แตกต่างจากที่อื่น ด้วยปี พ.ศ.๒๔๖๔ ชุมชนชาวบ้านปากน้ำโพที่อยู่บริเวณศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ เจ้าแม่ทับทิมริมแควใหญ่ได้เกิดโรคห่าหรืออหิวาตกโรคหรือโรคท้องร่วงระบาดไปทั่ว จนผู้คนเจ็บป่วยล้มตายเป็นจำนวนมาก จนหมดหนทางเยียวยาได้ ทำให้ชาวบ้านได้ทำการเชิญเจ้าเข้าทรง ด้วยการเขียนฮู้ (กระดาษยันต์) แล้วนำมาเผาไฟใส่น้ำดื่มกิน ปรากฏเป็นที่อัศจรรย์ ที่ผู้ดื่มกินน้ำมนต์นั้นหายจากโรคร้ายเป็นปลิดทิ้งทำให้ชาวบ้านพร้อมใจกันอัญเชิญองค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ทุกพระองค์ ออกแห่เฉลิมฉลองไปทั่วทุกชุมชน และขยายไปทั่วเมือง จนเป็นที่กล่าวขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ขององค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่แห่งนี้ไปทั่วประเทศ การแห่ในช่วงแรกนั้นมีการแห่ล่อโก้ว (ผู้ชาย) การแสดงเอ็งกอ-พะบู๊ สาวเขี่ยเปีย(ถือธงจีน) และการเชิดสิงโต ๓ ภาษา คือ สิงโตกวางตุ้ง (กว๋องสิว) สิงโตแคะ (ฮากกา) เสือไหหนํา ปี พ.ศ.๒๕๐๗ เพิ่ม การเชิดมังกรทอง ๑ ขบวนปี พ.ศ.๒๕๑๘ ประเทศไทยได้เชื่อมสัมพันธไมตรีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ติดต่อซื้อสิงโตกวางเจา (ปักกิ่ง) มาเพิ่มอีก ๑ ขบวน รวมเป็น๔ จีนภาษา (แต้จิ๋ว-กวางตุ้ง-แคะ-ไหหลำ) การแห่เจ้าได้จัดต่อเนื่องมาทุกปี จนเป็นงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ปากน้ำโพ และการฉลองเทศกาลตรุษจีนของชาวจีนทั้งประเทศ จากการที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้กำหนดในปฏิทินงานเทศกาลท่องเที่ยวประจำปี โดยเฉพาะคณะกรรมการจัดงานแห่เจ้าประจำปี พ.ศ.๒๕๐๖-๒๕๐๗ โดยนายหม่งแจ๋ แซ่เล้า ประธานคณะกรรมการจัดงาน ได้มีความคิดริเริ่มที่จะจัดขบวนแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ให้ยิ่งใหญ่ และเพิ่มสีสัน ขบวนแห่ให้แปลกใหม่กว่าเดิม เพื่อเรียกความสนใจจากชาวจีนทั่วประเทศให้มาเที่ยวงานตรุษจีนที่ปากน้ำโพมากขึ้นและเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-จีน จนนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดนครสวรรค์ โดยนายหม่งแจ๋ได้ปรึกษากับนายเป้งไฮ้ แซ่ตัง นายติงลิม แซ่เอ็ง ซึ่งเป็นครูฝึกสอนรำดาบจีน กระบี่ กระบอง (พะบู๊) และมวยจีน เห็นด้วยกับให้มีการแสดงเชิดมังกร ซึ่งชาวจีนถือว่ามังกรหรือเล้ง เป็นสิ่งสิริมงคล นำโชคลาภ และความผาสุกมาให้มวลมนุษย์ ด้วยเป็นสัญลักษณ์ขององค์จักรพรรดิจีนในอดีต พร้อมกับได้เชิญนายเล้งจุ้ย แซ่ลิ้ม ชาวจีนฮกเกี้ยน ซึ่งเคยเชิดมังกรที่เมืองจีนและมาอยู่คณะงิ้วย่านเยาวราชนั้น มาเป็นครูฝึกสอน ครั้งละ๑ เดือนอยู่ ๓ ปี สถานที่ฝึกซ้อมครั้งแรกที่ถนนสุนันทา ตรอกฉั่วซ้าเฮง-ซอยสวรรค์วิถี ๑๗หน้าร้านตังเปงฮงเก่า เมื่อนายเล้งจุ้ย ฝึกศิษย์จนมีมาตรฐานการเชิดเป็นที่พอใจแล้ว ท่านได้วางมือ มอบให้นายเป้งไฮ้ นายติงลิม ดูแลการฝึกสอนต่อ สุดท้ายได้มอบหมายให้นายมนต์ชัย อุฬารรักษ์หรือโง้วจุ้งเฮ้า ควบคุมการฝึกสอนต่อ จากนั้นทีมงานผู้เชิดมังกร ได้ร่วมกันปรับปรุง ประยุกต์การแสดงให้ดีขึ้น โดยเน้นหนักในท่าแสดงให้สวยงาม ลีลาการเชิดที่เฉียบขาด หวาดเสียว ตื่นเต้น เป็นที่เลื่องลือกล่าวขานไปทั่วประเทศและทั่วภาคพื้นเอเชียอาคเนย์มาจนวันนี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี