สังคมของเราเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ การเปลี่ยนแปลงอาจทำให้ชีวิตของเราสะดวกสบายขึ้น แต่ก็อาจทำให้เราเครียดมากขึ้นได้ด้วย จนหลายคนบ่นว่า ทุกวันนี้อยู่ยาก ซึ่งน่าแปลกมาก เพราะความสะดวกสบายมากขึ้นแต่ชีวิตกลับอยู่ยากกว่าเดิม
ดูเหมือนว่ายิ่งโลกเปลี่ยนไป คนมากมายกลับมีภาวะเครียดมากขึ้น เช่น เครียดกับปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และภัยธรรมชาติ รวมถึงความไม่แน่นอนต่าง ๆ นานาที่เกิดขึ้นทุกวัน บางคนเครียดกับการงาน และชีวิตส่วนตัว ถ้าหากจัดการความเครียดไม่ได้ ก็จะส่งผลต่อสุขภาพใจและสุขภาพกายด้วย
ในทางการแพทย์ ความเครียดเป็นภาวะที่ร่างกายและจิตใจตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น ทั้งจากภายนอกและภายใน ที่ถูกรับรู้ว่าเป็นภัยคุกคาม หรือเกินกำลังที่จะปรับตัวได้ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา จิตใจ และพฤติกรรม
ความเครียดไม่ใช่แค่รู้สึกไม่สบายใจเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการตอบสนองของร่างกายที่ซับซ้อนมาก เช่น การหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล และอะดรีนาลีน ซึ่งมีผลต่อระบบประสาท หัวใจ และภูมิคุ้มกัน เมื่อประสบกับความเครียด ร่างกายจะตอบสนองโดยมีอาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อตึง นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือกินมากผิดปกติ หงุดหงิด วิตกกังวล หรือซึมเศร้า
องค์การอนามัยโลกจัดให้ความเครียดเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมากในยุคปัจจุบัน หากมีความเครียดสูงหรือเรื้อรังมากกว่า 3 เดือน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภาวะซึมเศร้า และวิตกกังวล เป็นต้น
ที่มาของความเครียดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เทคนิคการจัดการความเครียดที่ทุกคนสามารถเลือกหยิบไปใช้ ก่อนที่จะต้องใช้ยา ได้แก่
(1) นอนพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 6-8 ชั่วโมง เมื่อได้หลับสักตื่น อย่างน้อยก็น่าจะสดชื่นขึ้น ดีกว่าเครียดไปง่วงไป
(2) วางแผนจัดการเวลาหรือทรัพยากรต่าง ๆ ในชีวิตให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ วางแผนเสร็จก็น่าจะพอมองเห็นทางออกของบางปัญหา เมื่อวางแผนเสร็จเรียบร้อย ความเครียดน่าจะเบาบางลง
(3) ฝึกสมาธิ จดจ่อกับลมหายใจ อยู่กับปัจจุบันขณะ และทำใจให้สงบ
(4) การออกกำลังกาย เมื่อได้เหงื่อ สารเอนดอร์ฟินจะหลั่งออกมาบรรเทาอาการเครียด
(5) ขอความช่วยเหลือจากเพื่อน และครอบครัว ให้ฟังเราระบายความอัดอั้นในใจ เพราะบางคนแค่มีคนให้บ่นให้ระบายก็หายเครียดได้ แต่ข้อนี้อาจจะต้องเลือกดี ๆ ถ้าบ่นให้ฟังผิดคน อาจจะเครียดกว่าเดิม
คนที่ทำทุกข้อในข้างต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น หรือกำจัดปัจจัยที่ทำให้เครียดออกไปไม่ได้สักที อาจสงสัยว่า กินยาคลายเครียดให้จบ ๆ ไปได้หรือไม่ ตอบว่าได้ แต่ย้ำว่าการใช้ยาคลายเครียดต้องพิจารณาว่า เมื่อความเครียดหรือความวิตกกังวลนั้นมันรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน สุขภาพร่างกาย หรือจิตใจ จนไม่สามารถควบคุมหรือบรรเทาได้ด้วยวิธีอื่น ตัวอย่างที่แพทย์พิจารณาให้ยาคลายเครียดคือ อาการวิตกกังวลมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน เช่น วิตกกังวลจนทำงานไม่ได้ ใจสั่น เหงื่อออกง่าย เบื่ออาหาร หรือหลีกเลี่ยงสังคม นอนไม่หลับเรื้อรังจากความเครียด โดยเฉพาะเมื่อเป็นนานเกิน 2–3 สัปดาห์ และส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน มีอาการทางกายที่มาจากความเครียด เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ใจสั่น ความดันขึ้น โดยแพทย์ตรวจร่างกายแล้ว แต่ว่าไม่พบสาเหตุชัดเจน กรณีนี้ แพทย์พิจารณาแล้วว่าต้องใช้ยา ก็จะสั่งยาคลายเครียดให้ผู้ป่วย ยาส่วนใหญ่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท แพทย์จะสั่งโดยพิจารณาเลือกยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายอย่างรอบคอบ แล้วผู้ป่วยเองก็ต้องใช่ยาตามสั่งอย่างเคร่งครัด ไม่กิน ๆ หยุด ๆ ลดหรือเพิ่มขนาดยาเอง และต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ การจะเพิ่มยา เปลี่ยนยา ลดยา หรือหยุดยาคลายเครียด ต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาของแพทย์เท่านั้น
สรุป ความเครียดเป็นเรื่องที่ทุกคนประสบพบเจอได้ บางคนอาจแก้ไขได้ในขั้นต้น แต่ถ้าแก้ไม่ได้ การใช้ยาก็น่าจะเป็นคำตอบสุดท้าย แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น โปรดระลึกเสมอว่า การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เสพยาเสพติด ไม่ใช่หนทางคลายเครียดท หากใครใดใช้สิ่งเหล่านี้เพราะคิดว่าจะคลายเครียดได้ ขอให้ยุติทันที เพื่อชีวิตที่ดีของคุณเอง
รศ. ภญ. ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ. ภก. ดร. บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี