เมืองไทยคือเมืองแห่งการเกษตรนานาชนิด ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย แผ่นดินไทยก็ยังคงเป็นแผ่นดินที่ผูกพันอย่างแนบแน่นกับเกษตรกรรม ผลผลิตนานาชนิดจากการเกษตรคือจักรกลตัวสำคัญที่ช่วยสร้างรายได้มหาศาลหล่อเลี้ยงประเทศไทย แผ่นดินผืนนี้มีพันธ์ุพืช พันธุ์สัตว์มากมายมหาศาลที่แปรรูปกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของคนไทยและประเทศไทยมายาวนานนับศตวรรษ แม้ในระยะหลัง ๆ รายได้จากการเกษตรจะลดน้อยลงไปเมื่อเทียบกับรายได้จากภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวก็ตาม แต่ประเทศไทยก็ไม่สามารถล้มเลิกหรือยุติการผลิตสินค้าเกษตรได้
พื้นที่การเกษตรอันดับหนึ่งของไทยคือการทำนาปลูกข้าว ประมาณ 66 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 44 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมดของประเทศ รองลงไปคือพื้นที่ปลูกสวนผลไม้และไม้ยืนต้น ตามมาด้วยพืชไร่ สวนผัก สวนไม้ดอก ไม้ประดับ
เพราะความที่แผ่นดินไทยยังคงเป็นแผ่นดินการเกษตร ดังนั้นจึงมีพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นขวัญกำลังใจแก่เกษตรกร
พระราชพิธีนี้มีสองพิธีรวมกันคือพระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีสงฆ์ โดยประกอบพระราชพิธีนี้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วในวันถัดไปคือพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ โดยประกอบพระราชพิธีนี้ ณ ท้องสนามหลวง (แต่จะมีพระราชพิธีนี้ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานด้วย)
มีหลักฐานว่าพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญมีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี แล้วดำรงสืบต่อมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จวบจนปัจจุบ้นในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในยุคกรุงรัตนโกสินทร์นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงให้มีพระราชพิธีนี้คู่กับการยืนชิงช้า จนลุเข้าสู่ช่วงรัชสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้น ดังนั้นพระราชพิธีพืชมงคลจึงมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัย รัชกาลที่ 4 โดยเรียกรวมกันว่าพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
อ้างอิงจากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน มีข้อความว่า ...ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามนี้ ที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ ก็มีอยู่เสมอเป็นนิตย์ ไม่มีเวลาว่างเว้น ด้วยการซึ่งผู้นั้นเป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง...
พระราชพิธีนี้เป็นพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกร จัดขึ้นในช่วงเดือนหกตามปฏิทินสุริยคติ เพราะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเริ่มต้นเพาะปลูกทำไร่ทำนา แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้ แต่จะเลือกเอาวันใดวันหนึ่งในช่วงเดือนหกโดยดูฤกษ์ยามที่เหมาะสมตามโบราณราชประเพณี
การพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่กระทำเต็มรูปแบบพระราชพิธีครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2479 แล้วก็ว่างเว้นไป จนกระทั่ง พ.ศ. 2503 จึงได้ฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ให้กลับมา โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชกระแสให้ปรับปรุงพิธีการให้เหมาะสมกับยุคสมัย แล้วเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีอย่างสืบเนื่องโดยมิได้ขาดจนสิ้นรัชสมัย แล้วต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันได้ทรงสืบสานพระราชพิธีนี้สืบต่อมา
พระราชพิธีพืชมงคลคือพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหารที่พระมหากษัตริย์ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย โดยทรงถือว่าข้าวเป็นอาหารหลักของพสกนิกร
ทั้งนี้ อ้างตามภาษาบาลี ข่าวจะเรียกว่า ปุพพัณณะ หรือ บุพพัณณะ หรือ บุพพัณณชาติ ส่วนพืชอื่น ๆ ที่ใช้เป็นอาหาร เรียกว่า อปรัณณ หรืออปรัณชาติ คือ พืชจำพวกถั่ว งา เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อเรียกควบทั้งสองชนิดก็คือ บุพพัณณปรัณณชาติ หมายถึงพืชที่เป็นอาหารทุกชนิด
บุพพัณณปรัณณชาติที่นำเข้าพระราชพิธีพืชมงคล เป็นข้าวเปลือก มีทั้งข้าวเจ้า และข้าวเหนียว และยังมีเมล็ดพืชต่าง ๆ อีกรวม 40 อย่าง แต่ละอย่างบรรจุในถุงผ้าขาว กับเผือกมันต่าง ๆ พันธุ์พืชเหล่านี้เป็นของปลูกงอกได้ นอกจากนี้ ยังมีข้าวเปลือกที่หว่าน ในพิธีแรกนาบรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนึ่ง เป็นข้าวพันธุ์ดีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ปลูกในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา แล้วพระราชทานเข้าพระราชพิธีพืชมงคล พันธุ์ข้าวพระราชทานใช้หว่านในพระราชพิธีแรกนาส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งบรรจุซอง แล้วพระราชทานให้ชาวนาและประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อเป็นมิ่งขวัญ และเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธ์ุที่จะเพาะปลูกในปีนี้
by Mr. Flower
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี