ชาวไทยทั่วประเทศและนานาชาติได้ส่งกำลังใจภารกิจค้นหาผู้ช่วยโค้ชและนักฟุตบอลเยาวชน "ทีมหมูป่าอะคาเดมี่" รวม 13 คน ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่เย็นวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมี "ชุดปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือ หน่วยซีล (SEAL) ของกองทัพเรือ" ได้ถูกส่งลงพื้นที่ปฏิบัติการในถ้ำเพื่อช่วยเหลือทั้ง 13 คนให้ออกมาให้ได้ จากปฏิบัติการภารกิจดังกล่าวคนไทยชื่นชมและมีการแชร์รูปเขาเหล่านั้น ด้วยความรู้สึกว่าพวกเขาเป็น "ฮีโร่" ขณะที่การทำงานของพวกเขาไม่สามารถเปิดเผยชื่อเสียงหน้าตาให้คนได้รับรู้ได้เพราะนั่นอาจจะเป็นภัยต่อพวกเขาได้
หลายคนคงมีคำถามว่าทำไมล่ะ?? นั่นเพราะภารกิจที่พวกเขาได้รับมอบหมายส่วนใหญ่จะเป็นภารกิจลับและอันตรายอย่างที่สุด ซึ่งภารกิจที่พวกเขาปฏิบัติการ ได้แก่ การต่อต้านการก่อการร้ายสากล ปฏิบัติการสงครามนอกแบบ การปฏิบัติการด้านจิตวิทยา ดำเนินการทางด้านข่าวลับ การก่อวินาศกรรม เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ ปฏิบัติการค้นหาและถอดทำลายวัตถุระเบิด ถวายอารักขาและรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล สำรวจหาด ทำลายสิ่งกีดขวางหน้าหาด พื้นที่ยกพลขึ้นบก
รวมถึงภารกิจพิเศษอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น การมุดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนเพื่อเข้าไปช่วยเหลือ "ทีมหมูป่าอะคาเดมี่" 13 คนที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวงในขณะนี้
จากการปฏิบัติภารกิจตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.จนถึงวันนี้ (29 มิ.ย.) เรียกได้ว่าหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือ "หน่วยซีล" ได้รับการสนใจและกำลังใจจากสังคมเป็นอย่างมากตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการค้นหาเยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ พร้อมผู้ฝึกสอนรวมทั้งหมด 13 คนที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนและตลอด 4-5 วันที่ผ่านมา "หนวยซีล" ได้สื่อสารแจ้งข้อมูลให้สังคมรับทราบเสมอโดยผ่านทางพจเฟซบุ๊ก Thai NavySEAL จนทำให้ผู้ที่คอยติดตามการเคลื่อนไหวสถานการณ์คอยให้กำลังใจหน่วยซีล เป็นจำนวนมาก
กำเนิดหน่วย SEAL ประเทศไทย
หน่วยซีล (SEAL) เป็นหน่วยหนึ่งในหน่วยปฏิบัติการสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือไทย หรือที่คนไทยรู้จักกันว่า "มนุษย์กบ" คำว่า SEAL มาจากคำว่า SEa – Air – Land หมายถึงความสามารถปฏิบัติการได้ทั้งทางทะเล บนบก และทางอากาศ โดยยึดหัวใจหลักว่า "กำลังรบขนาดเล็ก ปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ และไม่ให้ข้าศึกรู้ตัว" จึงเป็นหน่วยรบที่ได้รับการฝึกโหดและหนักที่สุดในบรรดาหน่วยรบพิเศษของทุกเหล่าทัพ สำหรับการฝึกในหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจมใช้ระยะเวลาประมาณ 7-8 เดือน ซึ่งเป็นการฝึกหลักสูตรทางทหารที่มีระยะเวลานานที่สุดของwmp
หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือไทย หรือหน่วยซีล มีอายุครบ 63 ปี เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 โดยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการใช้หน่วยรบพิเศษอย่างได้ผล ดังนั้น หลังจากสงครามสิ้นสุดลงประเทศต่างๆ จึงได้มีการพัฒนาหน่วยรบพิเศษของตนอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านองค์บุคคลองค์วัตถุและองค์ยุทธวิธี
โดยในส่วนของประเทศไทย ในปี 2495 กระทรวงกลาโหมได้มีความคิดที่จะจัดตั้งหน่วยทำลายใต้น้ำ และได้เชิญผู้แทนเหล่าทัพ และกรมตำรวจไปประชุม เรื่องการจัดตั้งหน่วยฝึกว่ายน้ำร่วมกับเจ้าหน้าที่กองทัพเรือสหรัฐ ประจำหน่วย MAAG(Military Assistant Advisory Group) และมีมติให้กองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดตั้งหน่วยฝึก แต่ครั้งนั้นปรากฏว่าครูผู้สอนฝ่ายอเมริกันยังไม่พร้อม จึงให้ระงับการฝึกไว้ชั่วคราวและให้ผู้เข้ารับการฝึกที่เตรียมไว้กลับคืนสังกัดเดิม
ต่อมาต้นปี 2496 บริษัท SEA SUPPLY ได้เสนอให้การสนับสนุนการฝึกด้านการทำลายใต้น้ำให้กับกำลังพลของกองทัพเรือและกรมตำรวจ ซึ่งผ่านการฝึกโดดร่มมาแล้ว แต่การสนับสนุนครั้งนี้ทางบริษัทขอให้กองทัพเรือและกรมตำรวจ ปิดเป็นความลับด้วยเหตุผลบางประการ ซึ่งกองทัพหรือให้ความเห็นชอบ
และมีคำสั่งให้ข้าราชการสังกัดกองทัพเรือจำนวน 7 นาย (นายทหาร 3 นาย ประทวน 4 นาย) ร่วมกับข้าราชการสังกัดกรมตำรวจ 8 นาย (นายตำรวจ 1 นาย จ่านายสิบตำรวจ 5 นาย และผู้สมัครพิเศษ 2 นาย) ไปเข้ารับการฝึกดังกล่าว ที่เกาะไซปัน (หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา) ใกล้ๆ กับเกาะกวม เป็นเกาะที่อยู่ในความดูแลของสหรัฐอเมริกา โดยใช้ระยะเวลาในการฝึก 11 สัปดาห์
มนุษย์กบกลุ่มแรกของเมืองไทยก็บินกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2496 แต่เนื่องจากทหารเรือที่ผ่านการฝึกมีเพียง 7 นาย เป็นจำนวนน้อยเกินไปที่จะจัดตั้งเป็นหน่วยงานได้ กองเรือยุทธการจึงเสนอขอกองทัพเรือจัดตั้งหน่วยฝึกและอบรม หน่วยทำลายใต้น้ำขึ้น เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2496 โดยมี ร.ท.วิสณุ ปราบศากุน เป็น ผบ.หน่วยฝึก มีทหารอเมริกันและผู้ที่ผ่านการฝึกมาจากต่างประเทศมาแล้ว เป็นครูฝึก ดำเนินการฝึกในที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรีระยะเวลาในการฝึกประมาณ 2 เดือน
รุ่นแรกนี้มีข้าราชการสังกัดกองทัพเรือสมัครเข้ารับการฝึกจำนวน 62 นาย มีผู้ผ่านการตรวจสุขภาพ และผ่านการตรวจคุณสมบัติต่างๆ และได้รับการคัดเลือกเข้าฝึกอบรมจำนวน 14 นาย เป็นนายทหาร 6 นาย พันจ่า 4 นาย และจ่า 4 นาย โดยเริ่มการฝึกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2497 และเสร็จสิ้นการฝึกเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2497 มีผู้สำเร็จการฝึก 14 คน รุ่นของการฝึกนี้นับเป็นนักทำลายใต้น้ำรุ่นที่ 1 สำหรับผู้ที่ฝึกมาจากเกาะไซปัน นับเป็นรุ่น 0 หรือรุ่นโอ (O) ทำให้กองทัพเรือมีกำลังพลที่สำเร็จการฝึกการทำลายใต้น้ำทั้งจากต่างประเทศและในประเทศรวมแล้ว 21 นาย
เนื่องจากกำลังพลที่สำเร็จการฝึกการทำลายใต้น้ำขณะนั้น ยังถือว่าเป็นผู้ที่ผ่านการฝึกเพียงขั้นต้นเท่านั้น กองเรือยุทธการจึงขออนุมัติกองทัพเรือ ส่งผู้ที่ผ่านการฝึกชั้นต้นจำนวน 16 นายไปฝึกชั้นสูง (Advanced Course) ที่เกาะไซปัน อีกครั้งหนึ่ง โดยขอความช่วยเหลืออย่างลับๆจากบริษัท SEA SUPPLY โดยมี ร.ท.วิสณุ ปราบศากุน เป็นหัวหน้าคณะ ทั้งหมดเดินทางออกจากประเทศไทยอย่างลับๆเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2497 และเดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2497 ใช้ระยะเวลาในการฝึก 9 สัปดาห์
โดยหัวข้อการฝึกส่วนใหญ่จะเป็นการฝึกปฏิบัติงานทางลับ ประกอบด้วยการรบในป่า การรบแบบกองโจร การก่อวินาศกรรม การลอบสังหารบุคคลสำคัญ การรับส่งบุคคลทั้งทางอากาศและทางทะเล การซุกซ่อนบุคคลเดินทาง การข่าวการยิงอาวุธประจำกาย ทางยุทธวิธีและการซุ่มยิง การใช้วัตถุระเบิดทั้งบนบกและใต้น้ำ ฯลฯ จากการฝึกดังกล่าวทำให้ผู้ที่สำเร็จการฝึกมีขีดความสามารถปฏิบัติการทางลับ กับสามารถปฏิบัติงานใต้น้ำ ที่ไม่ใช่ลักษณะการปฏิบัติงานแบบ UDTอย่างเดียวเท่านั้น
จัดตั้งหน่วยทำลายใต้น้้ำ
เมื่อกองทัพเรือมีกำลังพลที่ได้รับการฝึกให้มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการลักษณะพิเศษชั้นสูง 16 นายและชั้นต้น 5 นายรวม 21 นายซึ่งกำลังพลทั้ง 21 นายได้พักพิงอยู่ที่ ร.ล.ท่าจีน ที่ถูกลูกระเบิดเสียหายจากสงครามโลก และเทียบท่าสะพานแหลมธูปสัตหีบ เป็นทั้งที่ทำงานแหล่งฝึก และที่พักอาศัยอยู่เกือบปี จนในที่สุดกองทัพเรือ จึงได้จัดตั้งอัตราหมวดทำลายใต้น้ำขึ้น เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2498 โดยเป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพกองเรือยุทธการ มีที่ตั้งปกติอยู่ที่กองการฝึก กองเรือยุทธการ (กฝร.) โดย ร.อ.วิสณุ ปราบศากุน เป็นหัวหน้าหมวดคนแรก และรักษาราชการหัวหน้าหมวดอีกตำแหน่งหนึ่ง จนถึงปี 2501 กองเรือยุทธการจึงได้ปรับอัตรากำลังหมวดทำลายใต้น้ำไปขึ้นอยู่กับแผนกปฏิบัติงานชายฝั่งกองฝึกปฏิบัติการฝ่ายการศึกษากองการฝึกกองเรือยุทธการ แต่ด้วยลักษณะการปฏิบัติงาน รวมทั้งการฝึกต่างๆที่ต้องปฏิบัติเป็นความลับ
ในปี 2502 หมวดทำลายใต้น้ำจึงย้ายไปอยู่ที่อาคารหมวดแผนกการปืน กองการฝึกกองเรือยุทธการ อาคารอยู่ด้านตะวันตกของเกาะพระ อ.สัตหีบ ข.ชลบุรี ตรงข้ามกับท่าเรือแหลมเทียน ส่วนกองบังคับการหมวดทำลายใต้น้ำยังคงอยู่ที่กองการฝึกกองเรือยุทธการเช่นเดิม
ในปี 2509 กองทัพเรืออนุมัติหลักการให้หมวดทำลายใต้น้ำ พัฒนาขีดความสามารถให้ปฏิบัติงานได้เช่นเดียวกับหน่วย SEAL ของสหรัฐฯจนกระทั่ง ปี 2514 หมวดทำลายใต้น้ำจึงได้รับการปรับปรุงภารกิจ และขีดความสามารถเทียบเท่ากับหน่วย SEAL ของสหรัฐ และ 2516 หมวดทำลายใต้น้ำ ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อเป็นหมวดทำลายใต้น้ำจู่โจม
ต่อมากองทัพเรือได้อนุมัติแก้ไขอัตราหน่วยสงครามพิเศษทางเรือกองเรือยุทธการเป็นหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2551 และเริ่มใช้อัตราหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2552 เป็นต้นมาโดยมี พล.ร.ต.ลิขิต เจริญทรัพย์ เป็นผู้บัญชาการท่านแรก(ยศในขณะนั้น)
พระบิดานักรบของหน่วย SEAL ไทย
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช-นักทำลายใต้น้ำจู่โจมทุกนายเคารพเทิดทูนดุจพระบิดาแห่งนักรบ โดยจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประดิษฐาน ณ หน้าอาคารกองบัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือกองเรือยุทธการ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่กำลังพลและสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณรวมถึงได้น้อมนำเอายุทธวิธีคล้องหน่วยรบขนาดเล็กเข้าทำการรบในลักษณะการทำสงครามพิเศษเข้าต่อสู้ข้าศึกอย่างต่อเนื่องและวีรกรรมอันโดดเด่นของพระองค์ท่านที่ทรงใช้กำลังทางเรือในการทำสงครามจนสามารถกอบกู้ เอกราชให้แก่แผ่นดินและประกาศอิสรภาพได้สำเร็จ ซึ่งกลยุทธ์ในการทำสงครามนอกแบบของพระองค์ทำให้นักทำลายใต้น้ำจู่โจมทุกคนนำมายึดถือเป็นแบบปฏิบัติ
ภาพจาก Thai NavySEAL
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี