วันอังคาร ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
‘กฎหมายค้าประเวณี’  ดู‘เทศ’แล้วย้อนมอง‘ไทย’

‘กฎหมายค้าประเวณี’ ดู‘เทศ’แล้วย้อนมอง‘ไทย’

วันจันทร์ ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2562, 06.00 น.
Tag : กฎหมาย ค้าประเวณี ย้อนมองไทย Like สาระ
  •  

ทีมงาน “นสพ.แนวหน้า” ยังคงติดตามความคืบหน้าในประเด็น “การแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกความผิดฐานค้าประเวณี” หรือการขายบริการทางเพศ ซึ่งที่ผ่านมามีข้อค้นพบว่าการเอาผิดผู้ขายบริการแม้จะโดยสมัครใจก็ตาม นอกจากจะไม่ช่วยให้การขายบริการทางเพศหมดไปจากประเทศไทยแล้วยังตามมาด้วยหลากหลายปัญหา อาทิ “ส่วย” ว่ากันว่ามีเม็ดเงินนอกระบบอยู่ในวงการนี้เป็นจำนวนมาก “การค้ามนุษย์” เพราะกลุ่มผู้ค้าโดยสมัครใจไม่กล้าแจ้งเบาะแสผู้ถูกบังคับล่อลวงเพราะกลัวตนเองจะมีความผิดไปด้วย

ล่าสุดเมื่อกลางเดือนมิ.ย. 2562 มีการจัดงานสัมมนา “โครงการทบทวนกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี” ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ซึ่งเป็นการให้คณะนักวิชาการด้านกฎหมายจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้รับมอบหมายให้ศึกษารูปแบบกฎหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณีในต่างประเทศ มาบอกเล่าว่าแต่ละประเทศมีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไรบ้าง


เริ่มกันที่ในเอเชีย ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ เล่าถึงประเทศ สิงคโปร์ที่ดูจะเป็นการ “ควบคุมมากกว่าคุ้มครอง” แม้จะไม่กำหนดให้การขายบริการทางเพศเป็นอาชีพผิดกฎหมาย แต่มีการ “กำหนดพื้นที่อนุญาต (Zoning)” และลงทะเบียนผู้ขายบริการ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 6 จุดทั่วทั้งเกาะ “จุดประสงค์เป็นไปเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ระบาด” มีการควบคุมอย่าง
เข้มงวด เช่น ห้ามให้บริการนอกพื้นที่แม้จะมีการติดต่อซื้อ-ขายทางเทคโนโลยีต่างๆ นอกจากนี้ยังห้ามเชื้อเชิญในที่สาธารณะ โดยอ้างเหตุผลด้านป้องกันความเดือดร้อนรำคาญ

ขณะที่ประเทศ ญี่ปุ่น แตกต่างกันไปในรายละเอียด “ผู้ค้าประเวณีในญี่ปุ่นมีความผิดแต่กฎหมายไม่มีบทกำหนดโทษ ส่วนผู้ที่สนับสนุนการค้าประเวณีจะมีความผิดและมีบทกำหนดโทษ” เช่น เป็นนายหน้า (Agent)ทั้งนี้ญี่ปุ่นไม่มีระบบลงทะเบียนผู้ค้าประเวณี แต่ใช้ระบบสัญญาจ้างแรงงาน ทำให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ส่วนมาตรการอื่นๆ อย่างการจัดสถานที่หรือการเสียภาษียังเป็นข้อถกเถียง

จากตะวันออกไปยังตะวันตก ผศ.สาวตรี สุขศรี เล่าถึงประเทศ เยอรมนี ว่าในอดีตเคยมีการห้ามค้าประเวณี กระทั่ง “ในปี 2545 มีการปฏิรูปกฎหมายครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนจากสีแดงคือห้ามเด็ดขาดเป็นสีเขียวคือทำได้อย่างเสรี” ถึงขั้นระบุไว้ในกฎหมายว่า “การค้าประเวณีไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี” สามารถทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ ได้ ด้วยเหตุผลว่าการใช้วิธีห้ามอย่างเด็ดขาดผลคือการขายบริการทางเพศก็จะลงไปอยู่ใต้ดิน เกิดปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบ การค้ามนุษย์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ตามมา

“แต่ในปี 2560 ก็มีการแก้ไขกฎหมายอีกครั้ง คราวนี้เปลี่ยนจากสีเขียวคือปล่อยเสรีเป็นสีเหลืองคือบังคับลงทะเบียน” เพราะมีข้อค้นพบคือ “เมื่อปล่อยเสรีรัฐก็คุ้มครองสิทธิต่างๆ ได้ลำบาก” เนื่องจากพอการค้าประเวณีไม่เป็นความผิดก็เปิดช่อง
ให้มีบุคคลอื่นๆ เข้ามาแสวงหาประโยชน์ อีกทั้งควบคุมโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ยาก โดยการลงทะเบียนจะนำมาซึ่ง “หน้าที่” เช่น การเข้ารับการอบรมความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการตรวจสุขภาพประจำปี อีกทั้งต้องเสียภาษี โดยผู้รับงานเอง (Freelance)จะเสียในอัตราสูงกว่าผู้เป็นลูกจ้างในสถานบริการ

และ “สิทธิ” เยอรมนีนับการค้าประเวณีเหมือนอาชีพอื่นๆ โดยทั่วไป หากอยู่ในสถานบริการก็จะได้รับความคุ้มครองในฐานะลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน รวมถึงที่ตั้งสถานที่ทำงานก็จะเข้าข่ายกฎหมายว่าด้วยสถานบริการซึ่งจะมีการตรวจสอบมาตรฐานเป็นระยะๆ นอกจากนี้เมื่อลงทะเบียนก็จะได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐจัดให้ เช่น ประกันสังคม ประกันบำนาญ การหาอาชีพอื่นทดแทน อนึ่ง “เยอรมนีมีกฎหมายระดับสหพันธรัฐ ซึ่งให้อำนาจรัฐต่างๆ ออกข้อบังคับในการจำกัด อาจจะเป็นเวลาหรือสถานที่ก็ได้” แล้วแต่ความเหมาะสมของพื้นที่

ผศ.สาวตรี เล่าต่อไปถึงประเทศ เบลเยียม ที่นี่มีลักษณะพิเศษประการหนึ่งคือ “แม้รัฐบาลส่วนกลางของเบลเยียมไม่เคยกำหนดให้การค้าประเวณีเป็นอาชีพผิดกฎหมาย แต่กำหนดให้ผู้ใดที่ได้รับประโยชน์จากการค้าประเวณีถือว่ามีความผิด” ผลที่เกิดขึ้นคือ “เป็นการห้ามค้าประเวณีไปโดยปริยาย เพราะไม่มีใครกล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยว” เช่น ให้เช่าพื้นที่ เป็นตัวแทน หรือเป็นคนเข้าไปดูแลผู้ค้าประเวณี ด้วยเหตุผลว่ากลัวทำผิดกฎหมาย

ดังนั้นหลายเมืองในเบลเยียมจึงมีนโยบายในเรื่องนี้แตกต่างกันออกไป เช่น มีการจำกัดพื้นที่ชัดเจน“มีการอนุญาตให้ทำในรูปของบาร์ แต่จะเลี่ยงไม่ใช้ว่าการค้าประเวณี โดยตรง โดยให้มีลักษณะเป็นร้านกินดื่มของบาร์แทน บางเมืองก็ให้ลงทะเบียนแต่ไม่ใช่ในฐานะผู้ค้าประเวณี ให้ลงทะเบียนในฐานะพนักงานเสิร์ฟ” แล้วภาครัฐจะไปควบคุมเจ้าของบาร์อีกทีหนึ่ง

“การค้าบริการในเบลเยียมจะเป็นการรับงานเองทั้งหมด ถ้าเป็นลูกจ้างก็จะในฐานะพนักงานเสิร์ฟเพื่อหลีกเลี่ยงการตราหน้า อะไรต่อมิอะไรตามที่เขากำหนดมา มีการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีการคุ้มครองแรงงานตามกฎหมายแรงงาน นอกจากนั้นก็อาจจะมีสวัสดิการอื่นๆ เพิ่มเติมให้ ฉะนั้นลักษณะของเบลเยียมคร่าวๆ น่าจะเป็นแบบนี้” ผศ.สาวตรี กล่าว

เอมผกา เตชะอภัยคุณ บอกเล่าถึงประเทศ นิวซีแลนด์ ที่ดูเหมือนจะเสรีแต่ก็มีการควบคุม “หากเปิดเป็นสถานบริการต้องขออนุญาต” โดยใบอนุญาตสถานบริการนั้นมีอายุ 1 ปี ถูกตรวจสอบควบคุมเรื่องสัญชาติของผู้ประกอบการ มาตรการความปลอดภัย การติดป้ายให้คำแนะการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย (Safe Sex) การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของลูกจ้าง ที่ผ่านมามีหลายกรณีที่ลูกจ้างฟ้องนายจ้างว่าเอาเปรียบบ้าง ทำร้ายร่างกายบ้างในสถานบริการแล้วลูกจ้างเป็นฝ่ายชนะคดีด้วย

อีกประเทศที่น่าสนใจและต้องติดตามว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปคือ ฝรั่งเศส อาจารย์เอมผกา กล่าวว่า “ในปี 2560 รัฐบาลฝรั่งเศสออกกฎหมายไม่เอาผิดผู้ค้าประเวณี แต่เอาผิดผู้ซื้อบริการ” โดยให้เหตุผลว่ารูปแบบการขายบริการทางเพศในฝรั่งเศสแตกต่างจากที่อื่น กล่าวคือ “ผู้ขายบริการทางเพศในฝรั่งเศสส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าว” ทั้งจากยุโรปตะวันออกบ้าง แอฟริกาบ้าง “หลายครั้งพบว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์” ทางการฝรั่งเศสนั้นด้านหนึ่งต้องปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่อีกทางหนึ่งก็ไม่อยากสนับสนุนการค้าประเวณี จึงเลือกมาตรการนี้

โดยผู้ซื้อบริการทางเพศหากถูกจับกุมจะต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวนเงินมากพอสมควร อีกทั้งต้องเข้ารับการอบรมคล้ายกับผู้ถูกพักใช้ใบขับขี่แล้วต้องไปอบรมกฎจราจร มีการให้ความรู้กับประชาชนด้านการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่งเสริมให้ผู้ต้องการเลิกขายบริการทางเพศได้รับการฝึกอาชีพ มีเงินให้เป็นรายเดือน มีกองทุนช่วยเหลือที่งบประมาณส่วนหนึ่งมาจากค่าปรับของผู้ซื้อบริการ หากเป็นบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจะได้รับอนุญาตให้พำนักในฝรั่งเศสได้6 เดือน และต่ออายุได้อีก 6 เดือน แต่แนวทางนี้เป็นแนวทางที่ใหม่มาก

“เราก็รอดูเหมือนกัน มีการวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายนี้ของฝรั่งเศสค่อนข้างเยอะ เพราะมันไปคนละทางที่ไม่ค่อยจะเหมือนกับประเทศอื่นๆในโลก แต่มันก็เป็นแนวทางที่เขามองว่าน่าจะช่วยได้ เพราะปัญหาของเขาคือการค้าประเวณีที่เป็นต่างชาติมากกว่า คือมันเป็นเรื่องของแรงงานทาส มันอาจจะไม่ได้มาตรงกับทิศทางของประเทศไทยเสียทีเดียว” อาจารย์เอมผกา กล่าว

ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง กล่าวถึงกลุ่มประเทศ สหราชอาณาจักร อันประกอบด้วยอังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ว่าจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยได้ไปเรียนในอังกฤษ “คนอังกฤษค่อนข้างอนุรักษ์นิยมพอสมควร” ถ้าเทียบกับชาติอื่นๆ ในทวีปยุโรปด้วยกัน อย่างไรก็ตาม “ในระยะหลังๆ ก็มีแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น” นำมาสู่การออกกฎหมายหลายเรื่องที่อาจขัดกับจารีตประเพณีดั้งเดิม รวมถึงเรื่องการค้าประเวณี

“แต่ถึงทำได้ก็ไม่ใช่ว่าจะปล่อยเสรี โดยในปี 2543 มีการแก้ไขกฎหมายให้สามารถค้าประเวณีได้ ถึงกระนั้นก็เปิดเฉพาะคนที่รับงานเองเท่านั้น ไม่อนุญาตให้มีการตั้งสถานบริการ และไม่มีระบบลงทะเบียน” ดังนั้นถึงจะไม่ผิดกฎหมายแต่ก็ไม่ได้รับ
สวัสดิการใดๆ เหมือนแรงงานในภาคส่วนอื่นๆ อีก “แม้ไม่ห้ามค้าประเวณีกรณีรับงานเอง กฎหมายของอังกฤษก็ยังห้ามมายืนเชื้อเชิญตามข้างถนน” ด้วยเหตุผลว่าเพื่อป้องกันการก่อความเดือดร้อนรำคาญ จึงต้องเลี่ยงไปใช้วิธีอื่น เช่น ลงโฆษณาในหนังสือบางประเภท หรือโฆษณาทางอินเตอร์เนต

อย่างไรก็ตาม “แม้คนอังกฤษจะอนุรักษ์นิยมคล้ายกับคนไทย แต่คนอังกฤษค่อนข้างเคารพความแตกต่างได้มากกว่า” เห็นได้จากการต่อสู้กันในประเด็นต่างๆ ของ 2 พรรคการเมืองกระแสหลักอย่างพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคแรงงานที่มีจุดยืนคนละด้าน โดยหากใช้สัดส่วนเปรียบเทียบให้เห็นภาพ สัดส่วนระหว่างความคิดแบบอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยมในสังคมอังกฤษจะไม่ใช่ 90-10 แต่เป็น 60-40 หรือบางช่วงก็แทบจะใกล้เคียงกัน

“แน่นอนเสียงไม่เห็นด้วยมันมีอยู่แล้ว แต่ด้วยวิถีชีวิตของเขาที่ค่อนข้างยอมรับความแตกต่าง ซึ่งก็จะมีกฎหมายหลายเรื่องที่ขัดกับความเชื่อของคน แต่พอมันสู้กันแล้วเห็นว่ามันควรคุ้มครองสิทธิของคนอีกกลุ่ม อย่างการรับรองเพศก็ขัดกับความเชื่อของกลุ่มอนุรักษ์นิยม มันก็ออกมาเป็นกฎหมายว่าคนที่เปลี่ยนเพศสภาพก็สามารถใช้คำรับรองเพศได้ จากประสบการณ์ที่ไปอยู่และเคยอ่านงาน คนที่อนุรักษ์นิยมเขาอาจจะไม่ชอบ แต่เขาก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องของเขา ไม่ได้มายุ่งกับเขา ไม่ได้กระทบชีวิตเขา เขาแค่ไม่ชอบเท่านั้นเอง” ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าว

ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ยังกล่าวถึง เนเธอร์แลนด์ ในอดีตอนุญาตเฉพาะผู้รับงานเอง ส่วนปัจจุบันเพิ่มเติมในส่วนอนุญาตให้ตั้งสถานบริการได้ “กฎหมายเนเธอร์แลนด์ให้ท้องถิ่นใช้ดุลพินิจว่าจะอนุญาตให้เปิดสถานบริการทางเพศได้หรือไม่ แต่ดุลพินิจนั้นต้องสมเหตุสมผลด้วย” เช่นใน กรุงอัมสเตอร์ดัม ผู้บริหารเมืองอนุญาตให้มีเพราะเห็นว่าเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่เมืองอื่นที่เห็นว่าเป็นเมืองเก่าหรือชุมชนต้องการความสงบ ผู้บริหารเมืองอาจไม่อนุญาตก็ได้ ซึ่งไม่ใช่การห้ามเพียงเพราะไม่ชอบอาชีพนี้ เนื่องจากสังคมเนเธอร์แลนด์ถือเรื่องความเท่าเทียมกันของทุกอาชีพ

อีกด้านหนึ่ง อัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนกรณีแนวคิดการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานค้าประเวณีในหลายจังหวัดของ ประเทศไทย โดยยอมรับว่า “มีผู้ไม่เห็นด้วยเรื่องอาชีพขายบริการทางเพศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” จึงเขียนร่างกฎหมาย “เปิดช่องให้สามารถกำหนดพื้นที่เฉพาะ (Zoning) สำหรับการห้ามตั้งสถานบริการอย่างเด็ดขาดในบางพื้นที่ที่มีความละเอียดอ่อน”ในรูปแบบการออกพระราชกฤษฎีกา

โดยที่มาที่ไปคือ “ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องคุ้มครองสิทธิของคนกลุ่มนี้” ทั้งตามพันธะกรณีระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการจัดการการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW) ที่รัฐบาลไทยไปลงนามรับรองไว้ รวมถึง รัฐธรรมนูญไทยฉบับ 2560 มาตรา 40 ว่าด้วยเสรีภาพในการประกอบอาชีพ

นอกจากนี้ยังมี “ประเด็นด้านสุขภาพ” ที่ไม่เฉพาะผู้ขายบริการเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ซื้อบริการ ตลอดจน
ครอบครัวของคนเหล่านี้ด้วย เช่น สามีไปซื้อบริการทางเพศ กลับมาบ้านจะนำโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาติดภรรยาหรือไม่ จึงต้องมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองให้ทั่วถึง โดยยึดหลัก “บูรณภาพในร่างกายและชีวิต” อาทิ ผู้ขายบริการต้องสามารถปฏิเสธไม่รับลูกค้าบางประเภทหากเห็นว่าตนเองสุ่มเสี่ยงจะได้รับอันตราย การถูกเอารัดเอาเปรียบกรณีเป็นลูกจ้างในสถานบริการ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อรักษาความลับของข้อมูลส่วนบุคคล

อาจารย์อัครวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่สังคมไทยกลัวกันว่าหากเลิกเอาผิดผู้ค้าประเวณีโดยสมัครใจ 
ซึ่งปัจจุบันมีฐานความผิดดังกล่าวอยู่ใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 แล้วจะทำให้มี
ผู้ค้าประเวณีมากขึ้น เท่าที่ตนศึกษาจากสถิติที่มีผู้รวบรวมไว้ พบว่าในความเป็นจริง “จำนวนหญิงไทยที่ค้าประเวณีลดลงจากในอดีต โดยช่วงที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนคือช่วงสงครามเวียดนาม แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ลดลงไม่ได้เพิ่มขึ้นตลอดอย่างที่เข้าใจกัน” อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มที่เพิ่มขึ้นคือหญิงต่างด้าวและผู้ขายบริการที่เป็นผู้ชาย

อนึ่ง ยังมีข้อสังเกตด้วยว่า“วิถีชีวิตของคนไทยเองก็ไม่เอื้อต่อการประกอบอาชีพค้าประเวณี เพราะคนไทยมีนิสัยรักสบาย” แต่การค้าประเวณีผู้ขายบริการต้องพบกับอะไรมากมาย เช่น ผู้มีอิทธิพล ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และอื่นๆ ที่ต้องเตรียมตัวเตรียมใจในการถูกล่วงละเมิดสิทธิบางอย่างเสมอ ดังนั้นสำหรับคนไทยหากมีช่องทางอื่นในการหาเงินที่มากกว่าและเร็วกว่าก็จะไปทางนั้นทันที

“ในเรื่องความอนุรักษ์นิยม อย่างไรก็ต้องให้กฎหมายนี้ออกมาเพื่อที่จะพิสูจน์ตัวเองก่อนว่ามันช่วยเหลือสังคมได้แค่ไหนอย่างไร แต่ถ้าเกิดโอกาสในการออกกฎหมายไม่มีเลย เราก็จะไม่รู้ทิศทางว่าอนุรักษ์นิยมมันยังคงเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่
หรือเปล่า หรือมันจะมีจุดไหนที่ยอมรับได้ในสังคม เพราะสังคมเปลี่ยน กฎหมายออกมารองรับตรงนี้ มันถึงเวลาของมัน” นายอัครวัฒน์ กล่าวในท้ายที่สุด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ถึงเวลา \'หาที่อยู่ที่เหมาะสมที่สอดคล้องกับความยุติธรรมให้ผู้อยู่เหนือกฎหมาย\' ได้แล้ว ถึงเวลา 'หาที่อยู่ที่เหมาะสมที่สอดคล้องกับความยุติธรรมให้ผู้อยู่เหนือกฎหมาย' ได้แล้ว
  • ‘นักวิชาการ’มองปัญหา‘แก๊งคอลฯ’ สะท้อนความเชื่อมั่นต่อรัฐและกฎหมาย ‘นักวิชาการ’มองปัญหา‘แก๊งคอลฯ’ สะท้อนความเชื่อมั่นต่อรัฐและกฎหมาย
  • เตือนตัวแทนไฟแนนซ์ ทวงรถคืนได้อย่างเดียว ขู่ขอค่าอื่นๆเข้าข่ายผิดกฎหมาย เตือนตัวแทนไฟแนนซ์ ทวงรถคืนได้อย่างเดียว ขู่ขอค่าอื่นๆเข้าข่ายผิดกฎหมาย
  •  

Breaking News

‘อลงกต’ออกลูกอินเตอร์ สปีคไชนิสปม‘ฮั้วสว.’ หลังวานนี้พูดภาษาฝรั่งเศสมาแล้ว

เปิดภาพ 4 คนร้าย แต่งกายคล้ายผู้หญิงยิง อส. ดับ 2 ราย ขณะออกกำลังกาย

'แบล็ค ดรากอนฯ'เปิดตัว'วันทอง'ในตลาดภาพยนตร์ เทศกาลหนังเมืองคานส์ ครั้งที่ 78

'อนุทิน'ยันทุ่มเททำงานสุดหัวใจ ไม่มีอะไรซ่อนเร้น มีแต่แว่นตา ไม่มีมีด ขอบคุณ'ทักษิณ'ชม

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved