ในวันที่ 1 ก.ย.ของทุกปี ได้จัดกิจกรรม “รำลึกครบรอบสืบนาคะเสถียร” ซึ่งปีนี้ก็จัดเป็นครั้งที่ 29 แล้ว โดยกิจกรรมจะจัดในวันที่ 31 สิงหาคม – 1 กันยายน 2562 ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี และ จัดกลางกรุงอีกครั้งวันที่ 3 – 8 กันยายน 2562 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยรูปแบบกิจกรรมจะเน้นสื่อสารเรื่องราวของห้วยขาแข้ง และบอกให้ประชาชนเข้าใจในสิ่งที่ “สืบ นาคเสถียร” ได้ทำครั้งยังมีชีวิตอยู่ และผลที่เกิดหลังจากที่คุณสืบเสียชีวิตห้วยขาแข้งเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปอย่างไรบ้าง ขณะที่กิจกรรมในเมืองวันที่ 6-8 กันยายนจะเสริมในเรื่องของอนาคตว่า มูลนิธิสืบฯ มีส่วนในห้วยขาแข้งและดูแลทรัพยากรในประเทศไทยอย่างไรต่อไป รวมไปถึงรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปีที่ผ่านมาด้วย
31 สิงหาคม 2562 “ทีมข่าวเฉพาะกิจแนวหน้าออนไลน์” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายภาณุเดช เกิดมะลิ” หรือ “พี่บอย” เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดยพี่บอยเล่าย้อนไปตั้งแต่ที่ “คุณสืบ นาคะเสถียร” ยังมีชีวิตอยู่ว่า หลายคนคงทราบประวัติคุณสืบครั้นที่เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานีได้ เพราะมีสัตว์นับพันตัวที่ได้รับความช่วยเหลือ ทั้งที่คุณสืบรู้ดีว่าในขณะเดียวกันก็มีสัตว์อีกจำนวนมหาศาลที่ตายจากการสร้างเขื่อน และในขณะเดียวกันได้เป็นคนค้นพบ “รังนกกระสาคอขาวปากแดง” ครั้งแรกในประเทศไทย จากนั้นปี 2530 คุณสืบได้เปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการไปสู่นักอนุรักษ์ และทุกครั้งก่อนเริ่มอภิปรายมักจะพูดว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า” เสมอ
แต่ภายหลังจากตัดสินใจเข้ารับตำแหน่ง “หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง” ก็พบปัญหาต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าของผู้มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่าและไม่ว่าจะเสนอทางแก้แก่ผู้ใหญ่ไปกี่ครั้งปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่เลย คุณสืบจึงทุ่มเทแรงกายและใจเขียนรายงานนำเสนอ “ยูเนสโก” เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก เพื่อพื้นที่แห่งนี้จะได้รับการคุ้มครองเต็มที่ กระทั่งวันที่ 1 ก.ย.2533 คุณสืบได้กระทำ “อัตวิบาตรกรรม” เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง ซึ่งมันก็ได้ผลเพราะปัจจุบันประชาชน “ตื่นตัว” มากขึ้นเมื่อมีคดีเกี่ยวกับป่าไม้และล่าสัตว์ป่า
“เราจะเห็นว่า 29 ปีที่ผ่านมาหลังจากคุณสืบเสียชีวิตไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยสาธารณะชนคนส่วนใหญ่ตื่นตัวในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของป่าไม้และสัตว์ป่า”
จากนั้น “ทีมข่าวฯ” จึงถามถึงความเคลื่อนไหวเรื่อง “คดีหมีขอ” ที่มีกลุ่มข้าราชการเข้าไปล่าสัตว์ในอุทยานแห่งชาติไทรโยก และ “คดีเสือดำ” ที่นักธุรกิจใหญ่ “คุณเปรมชัย” และพวกเข้าไปล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร โดย พี่บอย เผยว่า ทางมูลนิธิฯได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ส่งทีมงานเข้าไปทำงานกับเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยดูเรื่องของรูปคดีและการนำเสนอข้อมูลต่างๆที่เป็นประโยชน์ในชั้นศาล รวมถึงการติดตามเก็บข้อมูลและให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ แต่คดีทุกคดีมันต้องใช้ระยะเวลา
“จึงเกิดคำถามกับประชาชนว่า ทำไมไม่ติดคุก และทำไมไม่ถูกลงโทษสักที เพราะโดยหลักกระบวนการขั้นตอนในชั้นศาลจะมีระยะเวลาของมันในแต่ละช่วงจึงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรหรืออาจจะเป็นปี ถ้าประชาชนยังติดตามให้ความสำคัญผลของคดีก็จะต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบถ้วนถี่ในการตัดสินใจ ผมมองว่าเป็นเรื่องดีของวงการอนุรักษ์เพราะว่าเรื่องของงานอนุรักษ์เหมือน “งานมืด” ที่ไม่ค่อยมีคนรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับสถานการณ์ป่าไม้-สัตว์ป่าบ้านเรา
ดังนั้น ประชาชนจึงเปรียบเสมือน “สปอร์ตไลท์” ที่คอยส่องในมุมมืด และคอยส่องดูความเคลื่อนไหวในคดีดังกล่าวทำให้ขั้นตอนกระบวนการในการดำเนินคดีเป็นไปอย่างรวดเร็ว และ “ผลต่อคดีที่ตัดสิน” นับเป็นที่น่าพอใจ แต่ถ้าเมื่อไรที่สปอร์ตไลท์ดับลงก็อาจทำให้ “คดีพลิก” ได้
และสำหรับบทบาทของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกับเรื่องของการติดตามคดีต่างๆที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ผมคิดว่าเป็นบทบาทหลักที่มูลนิธิสืบฯเฝ้าระวังและติดตามกิจกรรมต่างๆที่จะมีผลกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะในผืนป่าตะวันตก ซึ่งรวมไปถึงไทรโยคและทุ่งใหญ่นเรศวรที่อยู่ในผืนป่าตะวันตกที่มูลนิธิฯให้ความสนใจและให้ความสำคัญในการติดตาม และอีกส่วนหนึ่งที่เราอยากจะเน้นคือทำยังไงให้พื้นที่เกิดความตระหนักร่วมกันดูแล ร่วมกันอนุรักษ์ คือเรื่องของการทำงานร่วมกันกับชาวบ้านร่วมกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังเวลามีเหตุอะไรก็แล้วแต่จะมีการแจ้งข่าวเข้ามา ซึ่งประเด็นในเรื่องของการอนุรักษ์มันตื่นตัวทำให้เจ้าหน้าที่ มีเพื่อน มีแนวร่วมในการที่จะดูแลพื้นที่”
ขณะที่เรื่องของ “การอนุรักษ์สัตว์ป่า” และ “การเพิ่มประชากรสัตว์-พันธุ์ไม้” เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร บอกว่า หลังจากพยายามปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ห้วยขาแข้งที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดว่า “ปริมาณสัตว์ป่า” เพิ่มขึ้น รวมทั้งเจอสัตว์ชนิดใหม่ อย่าง วัวแดงอีกด้วย เพราะในช่วงที่คุณสืบยังมีชีวิตอยู่วัวแดง “ถูกล่า” เยอะมาก ณ วันนี้หลังจากที่ฟื้นฟูทำให้มีจำนวนวัวแดงมากกว่า 300 ตัวและเริ่มกระจายไปทั่วพื้นที่ป่ารอยต่อด้วย เช่นเดียวกับ “นกยูง” ที่มักจะเจอแค่บริเวณตอนล่างของป่าห้วยขาแข้งเท่านั้น แต่ปัจจุบันเราพบเจอได้ทั่วไปรอบๆป่า
ล่าสุดได้มีการรายงานข้อมูล “เสือโคร่ง” ว่ามีอยู่ในห้วยขาแข้งจำนวน 80-100 ตัวแล้ว นับว่าเป็นปริมาณที่มั่นคงในด้าน “พันธุกรรม” ของสัตว์ป่าในพื้นที่ที่อยู่ ซึ่งวันนี้ห้วยขาแข้งเป็นเหมือนพื้นที่ “แม่พันธุ์” ที่กระจายทั้ง “พันธุ์ไม้-สัตว์ป่า” ออกไปสู่พื้นที่โดยรอบป่าตะวันตกได้อย่างสมบูรณ์ ในเวลาเดียวกันก็พบ “เสือห้วยขาแข้ง” กระจายไปอยู่ทุ่งใหญ่นเรศวร-สลักพระที่เป็น “ป่ารอยต่อ” ด้วย
“จะเห็นว่าถ้าเรารักษาแหล่งพันธุกรรมไว้เราก็จะได้สัตว์ป่าคืนกลับมา นับว่าเป็นข่าวดีของประเทศไทยที่เราทำการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าได้ผลดีเกินคาด ในขณะเดียวกันป่าอื่นๆที่เป็นกลุ่มป่าไม่ว่าจะเป็นป่าตะวันออก ป่าเขาใหญ่หรือป่าภาคเหนือซึ่งเป็นเรื่องในอนาคตที่จะต้องฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า เพราะเราเชื่อว่าคุณภาพของป่าไม้ที่ดีไม่ใช่มีแค่ต้นไม้ที่สมบูรณ์อย่างเดียวแต่ต้องมีเรื่องของความหลากหลายสัตว์ป่าและชีวภาพควบคู่กันไปด้วย”
นายภาณุเดช เกิดมะลิ กล่าวอีกว่า เรื่องที่น่าเป็นห่วงคงเป็น เรื่องของ “การใช้ทรัพยากร” ที่ถูกบุกรุกพื้นที่เพื่อทำเกษตรกรรม หรือบุกรุกพื้นที่เพื่อจะพัฒนาทำรีสอร์ท ทำพื้นที่อุตสาหกรรมสำหรับรัฐบาลที่จะพัฒนาประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยต้องมีความชัดเจนว่าเราจะรักษาทรัพยากรอย่างไร ถ้าจะปกป้องเก็บป่า 25 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นป่าสมบูรณ์ เป็นแหล่งพันธุกรรมของสัตว์ป่าพันธุ์พืชเอาไว้ให้กับคนทุกคน เราก็ต้องเก็บไว้จริงๆไม่ใช่พยายามที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ป่าตลอดเวลา ต้องชัดเจนในการดูแลควบคู่ไปกับทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่ด้วย
“ประเด็นต่อมาปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น “วิกฤติ” แต่มันวิกฤติกันทั่วโลก ทั้ง “ไฟป่า” ที่เผาเพื่อเอาพื้นที่มาทำเกษตรกรรม และ “ขยะ” ที่ไม่ได้รับการดูแลการจัดการ ซึ่งทั้งหมดนี้มันมีผลกระทบกับป่าทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นป่าอะเมซอน หรือป่าตะวันตกมันกระทบถึงกัน คือสัตว์ป่าบริโภคขยะแล้วตายเป็นจำนวนมาก”
คุณสืบเคยบอกว่าทรัพยากรธรรมชาติในวันนี้มันเหลือน้อยเต็มทีจนไม่ควรคิดแล้วว่าจะเอาไปใช้เพื่ออะไร แต่ควรเก็บเอาไว้เป็นต้นทุนของพวกเราทุกคนในการทำให้เรามีชีวิตและพัฒนามาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต จึงของฝากทุกท่านให้ช่วยกันดูแลต่อไป เลขาฯมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ฝากทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี