‘อดีตรองอธิการบดี มธ.’ขยี้เงื่อนไข‘พรรคประชาชน’กลบเกลื่อนเหมือนช่วยผ่าทางตัน
5 กรกฎาคม 2568 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดี ฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ระบุว่า...
เป็นที่ฮือฮากันมาก เกี่ยวกับข้อเสนอของพรรคประชาชน
ซึ่งโดยสรุป คือ หากนายกรัฐมนตรีมีอันต้องพ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พรรคประชาชนจะโหวตให้ใครก็ได้ที่อยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ให้เป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคประชาชนจะไม่ร่วมรัฐบาล และไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรีแม้ตำแหน่งเดียว
เงื่อนไขของพรรคประชาชน คือ นายกรัฐมนตรีคนใหม่และรัฐบาลชุดใหม่ คือ ต้องเป็นรัฐบาลชั่วคราว เพื่อปฏิบัติภารกิจ คือ ดำเนินการให้มีการยุบสภาภายในสิ้นปี โดยก่อนการยุบสภา รัฐบาลจะต้องดำเนินการจัดทำประชามติ เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มี ส.ส.ร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และผ่านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ไม่ได้มีรายละเอียดว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต้องครอบคลุมความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่
เหตุผลที่พรรคประชาชนอ้างเพื่อจะให้ยุบสภาก็คือต้องการให้ได้รัฐบาลที่มีความชอบธรรมและมีเสถียรภาพ และให้การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี มาจากการพิจารณาความรู้ความสามารถ ไม่ใช่จากการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง ดังนั้นจึงต้องยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน
พรรคประชาชนยังมีคำขู่ด้วยว่า หากรัฐบาลชุดใหม่ไม่ทำตามเงื่อนไขข้างต้น พรรคประชาชนจะใช้เสียงที่มีอยู่ทั้งหมด โหวตคว่ำรัฐบาลชุดดังกล่าวอย่างแน่นอน
หลังจากที่เป็นข่าวว่าพรรคประชานชนได้มีการเจรจากับพรรคภูมิใจไทยไประดับหนึ่งแล้ว คุณอนุทิน ชาญวีรกูล ก็ประกาศกลางที่ประชุมครั้งแรกของพรรคฝ่ายค้าน ว่า เรื่องที่เป็นข่าวทั้งหมด ไม่ใช่เป็นเรื่องจริงสักเรื่องเดียว
ผู้ที่ติดตามการเมืองส่วนใหญ่จะอ่านออกว่าที่พรรคประชาชนต้องการให้มีการยุบสภาทันที ก็เพราะพรรคประชาชนไม่มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเหลือแล้วนั่นเอง แต่เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย จึงออกมาเสนอเงื่อนไขข้างต้น เพื่อกลบเกลื่อนและเพื่อให้ดูเหมือนว่า พรรคประชาชน พร้อมที่จะช่วยผ่าทางตันให้กับประเทศชาติ
ต้องบอกว่าหาก พรรคประชาชน คิดว่าจะมีพรรคการเมืองร่วมมือกันปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เสนอ ก็นับว่าเป็นความเพ้อฝันที่ไร้เดียงสาอย่างมาก
เพราะเป็นเงื่อนไขที่เสนอ เป็นเงื่อนไขที่แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะทำได้ก่อนสิ้นปี ดังนั้นคงไม่มีพรรคไหนรับได้ แค่เพียงคำขู่ว่าหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจะโหวตคว่ำรัฐบาล ก็ไม่มีใครเอาด้วยแล้ว เพราะนอกจากภารกิจที่ต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แล้ว ยังต้องตกเป็นเบี้ยล่างของพรรคประชาชน ที่จะล้มรัฐบาลลงเมื่อใดก็ได้อีกด้วย ไม่น่าแปลกใจที่พรรคภูมิใจไทยออกมาปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย
ความเพ้อฝันอีกประการก็คือ เมื่อยุบสภา เลือกตั้งใหม่แล้ว การแต่งตั้งรัฐมนตรีจะสามารถพิจารณาจากความรู้ความสามารถ โดยไม่มีการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง นั่นจะเป็นไปได้อย่างไร ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีการจัดการเลือกตั้งมาหลายรูปแบบ เป็นปีที่ 93 แล้ว ยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดไหน เกิดขึ้นโดยไม่มีการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองมาก่อน
ถ้าระบบการเมืองของประเทศเราเป็นระบบที่ดี และเป็นระบบที่เหมาะสมกับนิสัยของคนไทย เราคงไม่มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากตระกูล ชินวัตร หรือคนที่เกี่ยวดองกับตระกูลชินวัตรรวมกันถึง 4 คน และคนที่คุณทักษิณมอบหมายให้เป็นนายกรัฐมนตรีนอมินีอีก 1 คน แต่ละคนถ้าไม่ถูกประท้วงขับไล่ให้ออกจากตำแหน่ง ก็ถูกถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งทั้งสิ้น สุดท้ายต้องจบลงด้วยการทำรัฐประหาร หากจะกล่าวหาว่า การทำรัฐประหารทำให้ประเทศถอยหลังเพราะต่างประเทศไม่ยอมรับก็พูดได้ แต่รัฐบาลที่มาจากตระกูลชินวัตรก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยเช่นกัน
ประชาชนที่มาชุมนุมแสดงพลังกันเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน เพื่อให้นายกรัฐมนตรีลาออก ทราบดีว่า เพียงนายกรัฐมนตรีที่มาจากตระกูลชินวัตรลาออกย่อมไม่เพียงพอ เพราะระบอบทักษิณย่อมพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้อยู่ในอำนาจต่อไปให้นานที่สุด ดังนั้นที่คนส่วนใหญ่ต้องการคือระบบการเมืองแบบใหม่ที่สามารถได้คนเก่งคนดี มีความรู้และคุณสมบัติเหมาะสมมาเป็นนายกรัฐมตรี และนายกรัฐมนตรีสามารถคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมมาเป็นรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง โดยไม่ต้องห่วงว่าจะทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ
หากพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล พรรคประชาชน ทุ่มเทความคิดพยายามออกแบบระบบการเมืองใหม่ที่เหมาะสมกับประเทศไทย แทนที่จะยึดหลักการประชาธิปไตยแบบตะวันตกแบบไม่ลืมหูลืมตา และหมกมุ่นอยู่กับการทำตามความคิดของผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรค ไปหาเรื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และกองทัพ และพยายามยกเลิกมาตรา 112 เพราะเชื่อว่า หากไม่เปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ และเปลี่ยนแปลงกองทัพ จะทำ ...... อะไรไม่ได้เลย ไม่เช่นนั้นเราอาจได้ระบบการเมืองใหม่ที่ดีก็ได้
แต่ประเทศเรากลับได้แต่ความแตกแยกแบบฝังรากลึกในสังคมไทย อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
หากการเลือกตั้งยังต้องใช้เงินซื้อเสียง ทั้งยังใช้เงินมากขึ้นทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง หากการเลือกตั้งยังต้องอาศัยอิทธิพลของบ้านใหญ่ จะเลือกตั้งกันอีกกี่ครั้ง ก็ไม่มีทางได้รัฐบาลที่ดีได้ ความจริงเป็นเข่นนี้มาแล้ว 93 ปี และจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป แล้วเราจะยังงมงายอยู่กับระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกอยู่อีกหรือ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี