“ที่ที่สร้างคนไม่อยากได้..ที่ที่คนอยากได้กลับไม่สร้าง” คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า “เขื่อน-อ่างเก็บน้ำ” อยู่ในนิยามดังกล่าว ซึ่งสาเหตุนั้นบางครั้งก็มาจากหน่วยงานภาครัฐ แต่บางครั้งก็มาจากการปั่นกระแสของคนบางกลุ่มทั้งที่มีจิตอนุรักษ์เต็มร้อยอย่างบริสุทธิ์ใจหรือมีวาระอื่นแอบแฝง อาทิ “อ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง” โครงการในพื้นที่ ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย แม้จะเป็นคำร้องขอจากชาวบ้าน แต่ก็ไม่สามารถก่อสร้างได้มากว่า 2 ทศวรรษ
นิกร อภัยพนันธ์ อายุ 52 ปี หนึ่งในชาวบ้านป่าแดด กล่าวยืนยันว่า ชาวบ้านที่นี่มากกว่าร้อยละ 90 จาก 22 หมู่บ้านในพื้นที่ ต.ป่าแดด ต้องอาศัยน้ำจากลำน้ำแม่ตาช้างมาใช้ประโยชน์ ทั้งเพื่อการเกษตรและการอุปโภค-บริโภค แต่ที่ผ่านมาเมื่อฤดูฝนก็เกิดน้ำป่าไหลหลากไปหมด ในช่วงฤดูแล้งก็ไม่มีน้ำเพียงพอต่อการทำเกษตรทำให้เกิดการแย่งน้ำกันตั้งแต่บนดินจนถึงใต้ดิน จึงเห็นว่าหากมีอ่างเก็บน้ำจะได้ประโยชน์มาก
“ไม่เพียงแต่ใน ต.ป่าแดด เท่านั้น เพราะยังมีอีก4 ตำบลใน อ.แม่สรวย และอีกอย่างน้อย 4 อำเภอ รวมไปถึงจ.พะเยา ที่จะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เพราะลำพังเขื่อนแม่สรวยที่มีอยู่ น้ำจะถูกนำไปใช้ในพื้นที่อื่น แต่คนแม่สรวยจริงไม่ได้ใช้น้ำเหล่านั้น ที่ผ่านมามีกลุ่มเอ็นจีโอ(NGO-องค์กรภาคประชาสังคม) มาปลุกระดมชาวบ้านให้เกิดความกลัวว่าอ่างจะแตกบ้างอะไรบ้าง ทำให้ชาวบ้านบางส่วนไม่อยากให้มี แต่ปัจจุบันทำคนเห็นชอบหมดเพราะต้องให้เข้ามาแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม” นิกร ระบุ
เช่นเดียวกับ ประพันธ์ แก้วมณี ผู้ใหญ่บ้าน ม.6ต.ป่าแดด ยืนยันอีกเสียงว่า ชาวชุมชนตำบลป่าแดด และพื้นที่ใกล้เคียง ต้องการแหล่งเก็บกักน้ำ เพื่อใช้ในการทำการเกษตร อุปโภค-บริโภค บรรเทาภัยแล้ง บรรเทาอุทกภัย และทุกคนพร้อมสนับสนุนให้เกิดโครงการนี้ ซึ่งคำกล่าวของผู้ใหญ่บ้านและตัวแทนชาวบ้านป่าแดดข้างต้นถูกย้ำให้มีน้ำหนักจากการที่ชาวบ้านส่งหนังสือติดตามทวงถามไปถึง กรมชลประทาน เมื่อ 9 ก.ย. 2562
เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เล่าว่า ที่มาที่ไปของโครงการอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ต้องย้อนไปเมื่อวันที่ 13 ส.ค.2536 ทางจังหวัดเชียงรายได้มีหนังสือถึงโครงการชลประทานเชียงราย เพราะได้รับแจ้งกรณีคณะกรรมการสภา ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย ขอรับการสนับสนุนโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง เพื่อแก้ไขบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำของประชาชนในพื้นที่กรมชลประทานโดยสำนักชลประทานที่ 2
ซึ่งทางกรม ได้ทำการสำรวจออกแบบ และได้ศึกษาการวางโครงการโดยกลุ่มงานวางโครงการที่ 4 “แต่เนื่องจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำและพื้นที่หัวงานอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ลาวฝั่งซ้าย ซึ่งจัดอยู่ในประเภทและขนาดโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามมติคณะรัฐมนตรี” ประกอบการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าเพื่อพัฒนาโครงการต่อไป
สำหรับโครงการนี้ หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยให้มีน้ำอุปโภค-บริโภค ในพื้นที่ 31 หมู่บ้าน 3 ตำบล ได้แก่ ต.ป่าแดด ต.ศรีถ้วย และ ต.แม่พริก มีพื้นที่รับประโยชน์ทั้งสิ้น 17,200 ไร่ ทั้งยังสามารถบรรเทาอุทกภัยในเขต ต.ป่าแดด เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำและประมง เพิ่มความชุ่มชื้นและฟื้นฟูสภาพป่า ไปจนถึงเพิ่มความมั่นคงด้านปริมาณน้ำในบริเวณห้วยแม่ตาช้างและแม่น้ำลาวในช่วงฤดูแล้งได้
รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม “ข้อทักท้วงถึงผลกระทบก็ต้องนำมาพิจารณา” โดยผลการศึกษาพื้นที่ทำโครงการฯ พบว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาวฝั่งซ้ายอีก 1,540 ไร่ แบ่งเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (Zone C) 788 ไร่ ป่าเศรษฐกิจ (E) 752 ไร่ นอกเขตป่าสงวน 110 ไร่ ปัจจุบันมีสภาพเป็นพื้นที่ป่าไม้ 102 ไร่ ป่าเต็งรัง 93 ไร่ ป่าเบญจพรรณ 9 ไร่
รวมถึงในด้านคมนาคมที่จะทำให้ถนนทางเข้าหมู่ 18 บ้านแม่ตาช้างที่เชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 109 บริเวณ กม.12+500 ระยะทาง 2.5 กม. ไม่สามารถสัญจรไป-มาได้ ทั้งยังกระทบผู้มีที่ดินทำกินและผู้อยู่อาศัยในบริเวณจัดทำโครงการดังกล่าวอีก 152 ราย ทำให้ทางกรมได้เตรียมแนวทางลดผลกระทบไว้ เช่น ปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ป่าไม้บริเวณใกล้เคียง 3,080 ไร่ หรือ 2 เท่า ของพื้นที่ป่าสงวนแม่ลาวที่สูญเสียไปจากการทำโครงการดังกล่าว โดยใช้ไม้ที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ
นอกจากนี้เร่งกำหนดอัตราการชดเชยทรัพย์สินให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม และต้องดำเนินการสร้างถนนทดแทนให้ประชาชน หมู่ที่ 18 เพื่อทดแทนถนนเดิมที่จะถูกน้ำท่วมอีกด้วย ซึ่งลักษณะของอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้างนั้น จากการออกแบบเบื้องต้นจะมีลักษณะเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซนที่มีความกว้างสันเขื่อน 10 เมตร ความยาวเขื่อน 657 เมตร ความสูง 42 เมตร มีอาคารระบายน้ำล้นยาว 70 เมตร ระบายน้ำได้สูงสุด 259.5 ลบ.ม./วินาที รวมถึงมีท่อส่งน้ำลงลำน้ำเดิม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร
“อ่างเก็บน้ำแม่ตาช้างจะมีพื้นที่หัวงานอยู่ที่ ต.ป่าแดด ปิดกั้นลำห้วยแม่ตาช้าง ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำลาว มีพื้นที่รับน้ำ 100.8 ตร.กม. พื้นที่ระดับน้ำสูงสุด 1,375 ไร่ พื้นที่ระดับน้ำเก็บกัก 1,281 ไร่ และพื้นที่ระดับน้ำต่ำสุด 250 ไร่ มีความจุอ่างที่ระดับสูงสุด 36 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ระดับน้ำสูงสุด +520.25 ม.รทก. มีความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกัก 32 ล้าน ลบ.ม. ระดับน้ำเก็บกัก +519 ม.รทก. โดยพื้นที่ที่เกี่ยวข้องมีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,511 มิลลิเมตร และมีน้ำท่า 39.92 ล้าน ลบ.ม. จึงเป็นการสร้างความมั่นคงด้านแหล่งน้ำให้ประชาชนในพื้นที่” เฉลิมเกียรติ ระบุ
แม้จะเป็นโครงการเก่า แต่เมื่อจะ “ปัดฝุ่น” ขึ้นมาใหม่ EIA ก็จะต้องดำเนินการใหม่ด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่ง EIA ฉบับล่าสุดนั้นคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณาไปแล้วครั้งหนึ่ง และขอให้กลับไปปรับปรุงแก้ไขบางประการ ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบ สำนักงานนโยบายและแผน
สิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอนุมัติ คาดว่าน่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างในปี 2564 ด้วยความจุ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร
ที่น่าสนใจคือ..สิ่งที่เพิ่มเติมในการนำโครงการเก่าขึ้นมาทำให้ในครั้งนี้คือ “การมีส่วนร่วมของประชาชน” สำนักงานชลประทานที่ 2 ประสานมาที่กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่เกิดจากการร่วมมือร่วมใจในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง!!!
บุษยมาศ ซองรัมย์
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี