ภาวะโลกร้อน คือ สาเหตุที่ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่างๆ การขนส่ง และการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมากจากมนุษย์ นอกจากนี้ เรายังได้เพิ่มก๊าซกลุ่มไนตรัสออกไซด์ และคลอโรฟลูโรคาร์บอน ( CFC) เพิ่มขึ้นมา และการตัดทำลาย ป่าไม้จำนวนมหาศาล เพื่อสร้างสิ่งอำนวย ความสะดวก ในที่สุดสิ่งต่างๆที่เราได้กระทำ ต่อโลกได้หวนกลับมาสู่เราในลักษณะของภาวะ “โลกร้อน”
เราจะเห็นว่าการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพิ่มมากขึ้นในยุคปัจจุบัน มีการตัดไม้ทำลายป่าไม้ และที่ไม่ควรละเลย คือ การสะสมของขยะจำนวนมหาศาลที่มีเพิ่มขึ้นทุกวัน “ทีมข่าวเฉพาะกิจแนวหน้าออนไลน์” ได้พูดคุยกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ถึงแนวคิดรักโลกว่าพวกเขามีแนวคิดอย่างไร เมื่อโลกเราเต็มไปด้วยขยะ และต้นไม้ถูกตัดทำลายมากกว่าการปลูกเพิ่ม...
มุมมองจากสังคมคนเมือง กรุงเทพมหานคร “น้องปุ๊กกี้” หรือ นางสาวชลดา ดวงมณี อายุ 22 ปี สาวสวยจากคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เล่าสาเหตุของปัญหาโลกร้อนว่า ผลกระทบจากโลกร้อนจะตามมาอีกมากมายถ้าเราไม่ช่วยกันในวันนี้ เพราะเรื่องปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องระดับโลก และจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ต่างๆ กลายเป็นก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากมนุษย์เราทั้งสิ้น ที่ทำให้มันเกิดโลกร้อนขึ้นมา
*** มีวิธีการช่วยลดโลกร้อนอย่างไรบ้าง?
น้องปุ๊กกี้ เล่าต่อว่า การที่เราจะช่วยโลกได้ง่ายมาก โดยเริ่มจากตัวเราทิ้งขยะให้เป็นที่ กินตรงไหนก็เก็บขยะไปทิ้งให้ถูก ลดการใช้รถส่วนตัวทางเดียวกันไปด้วยกัน หันมาใช้รถสาธารณะในการสัญจร เพื่อช่วยลดมลพิษทางอากาศ
“เราเริ่มจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แค่นี้เราก็สามารถที่จะช่วยอุ้มโลกเราไว้ได้ ขอแค่เราร่วมมือกันช่วยกันก็ช่วยโลกเราได้แล้ว”
*** ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบมาจากภาวะโลกร้อนได้ไหม?
น้องปุ๊กกี้ ให้เหตุผลว่า ตนเห็นข่าวเกือบทุกวันเกี่ยวกับสัตว์ทะเลตาย เมื่อทีมสัตวแพทย์ชันสูตรศพออกมาพบว่า มีขยะพลาสติกเป็นจำนวนมาก ในท้องของสัตว์พวกนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าหดหู่มาก และไม่อยากให้มันเกิดขึ้นอีก จึงอยากให้คนที่ไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ เก็บขยะที่นำมาไปทิ้งให้ถูกที่ แต่ถ้าจะดีมากๆ ต้องลดการใช้ถุงพลาสติก มาใช้ถุงผ้า กล่องข้าว ไว้ใส่อาหารแทน มันอาจจะเป็นเรื่องที่ยากสำหรับคนเมือง แต่เชื่อว่าถ้าทุกคนช่วยกันมันจะเป็นเรื่องที่ง่ายมาก
*** ปัญหาขยะทะเลจะนำไปสู่ภาวะโลกร้อนหรือไม่?
นางสาวชลดา กล่าวอีกว่า เรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ทัศนียภาพที่เสื่อมโทรม ปัญหาขยะทะเลเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นสารตกค้างที่สะสมอยู่ในทะเล เนื่องจากพลาสติกสามารถถูกย่อยเป็นขนาดเล็กลงได้โดยแสงแดด ทำให้สารเคมีบางชนิดที่เป็นพิษ ละลายไปในน้ำทะเล พลาสติกบางชนิดสามารถดูดซึมสารพิษ เช่น PCB ที่อยู่ในน้ำทะเลสามารถเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารได้ อาหารทะเลอาจจะมีสารพิษตกค้างอยู่ การจัดการขยะหรือแก้ไขปัญหาโลกร้อนแก้ไขตั้งแต่ต้นทาง คือ คน โดยต้องสร้างความตระหนักในการปรับเปลี่ยนมุมมองการแก้ปัญหาขยะใหม่
“อยากฝากทุกคนว่าเวลาเรากินอะไร เวลาไปสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เราควรจะเก็บขยะไปด้วย อย่างทิ้งไว้ เพราะเรากินเองเราก็ควรจะเก็บเอง จะรอให้ใครมาเก็บให้แค่นั้นเอง ทุกวันนี้ถังขยะมีวางอยู่ตามจุดทั่วไป อยู่ที่เราจะมีสามัญสำนึกมากน้อยแค่ไหนเท่านั้น” นางสาวชลดา กล่าวทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี